ว่าที่จริง น.ส.พ. แนวหน้า ก็มีอุดมการณ์ประจำองค์กรและประจำผู้ทำงาน และคอลัมนิสต์ของ “แนวหน้า” อยู่แล้ว ดังที่ปรากฏอยู่ใต้ชื่อ น.ส.พ. ทุกฉบับ ว่า
“มั่นคง ตรงไป ตรงมา”
บทความต่างๆ ในแนวหน้า จึงมักเป็นเรื่องการเมือง ที่จะทำให้ประเทศไทยของเราเจริญก้าวหน้า ไม่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านและสังคมโลก ให้เป็นประเทศไทยที่ค่อนไปทางขาวสะอาด ปราศจากทุจริตคอร์รัปชั่น และ ห่างไกลจากธุรกิจการเมือง แต่บทความปัจจุบันที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ ถึงแม้จะไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ก็เกี่ยวกับการบ้าน ซึ่งคู่กับการเมืองอยู่เต็มตัว
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นประเทศที่ย่างเข้าสังคมผู้สูงอายุเต็มตัวมีผู้สูงอายุถึง 20% ของประชากร และกำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผู้เขียนซึ่งไม่ใช่นักวิชาการด้านสถิติประชากร หรือด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย แต่ก็เป็นคอลัมนิสต์ประเภทชาวบ้าน (lay man) เขียนให้อ่านง่าย คิดตามก็ง่าย และจะเอาไปทำก็ง่าย(ถ้าตั้งใจจริง)
ผู้สูงอายุ ที่เป็นคนร่ำรวย มีฐานะ ลูกหลานก็จ้างนักบริบาล (care giver) มาดูแลที่บ้านได้ 12 ชม. ต่อวันบ้าง 24 ชม. ต่อวันบ้าง ค่าจ้างก็ตั้งแต่เดือนละ20,000 บาท จนถึง 50,000 บาท ต่อผู้บริบาลแต่ละคนตามแต่ฐานะของผู้ว่าจ้างหรือความต้องการที่ผู้ว่าจ้างคาดหมาย
หรือไม่ก็ส่งผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของตน ไปอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งจะอยู่กับแพทย์ พยาบาล พนักงานผู้ช่วย พร้อมทั้งอาหาร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบถ้วน สนนราคาก็ตั้งแต่ 30,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาทต่อเดือน แล้วแต่มาตรฐานของบริการระดับไหนที่เจ้าภาพหรือตัวผู้สูงอายุเอง จะรับผิดชอบได้
พูดมาถึงตรงนี้ ก็แค่ขอให้ผู้อ่านทุกวัย คิดและเข้าใจว่า วันหนึ่งท่านก็จะต้องเป็นผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน ทุกคนไม่มีข้อยกเว้น เว้นเสียแต่ว่าท่านอำลาโลกไปก่อนที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุ ที่ต้องการบริการของนักบริบาล (care giver) ที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุ
บทความนี้ นอกจากจะมุ่งหมายให้ผู้อ่านทุกท่านได้ตระหนักว่า ในอนาคตอันไม่ไกลนัก ท่านก็จะต้องเป็นผู้ที่ต้องการ นักบริบาล (care giver) มาดูแลเช่นกัน ซึ่งจะมาดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองได้น้อย หรือช่วยตัวเองไม่ได้เลย หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือขาดคนดูแลในการให้อาหารที่เหมาะสม ในการอาบน้ำ เช็ดตัว ในการให้ยาตามคำสั่งแพทย์ ป้องกันมิให้เกิดโรคแทรกซ้อน แล้ว
ยังมีความมุ่งหมาย ที่จะให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อันได้แก่ อบจ., อบต., เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล รวมตลอดถึง กทม., เมืองพัทยา ได้ตระหนักถึงความจำเป็น ในการจัดให้มีนักบริบาลของชุมชน (community care giver) ขึ้นในท้องที่ ที่ท่านรับผิดชอบ เพื่อให้ผู้สูงวัยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ในชุมชน ขาดการดูแลที่เหมาะสม ลูกหลานออกไปทำมาหากินต่างถิ่นบุคคลดังกล่าว ต้องอยู่ตามลำพังในหมู่บ้าน ในชนบท หรือในชุมชนแออัด (ในเมืองใหญ่ๆ เช่น กทม., เชียงใหม่, อุบลฯ, โคราช, พัทยา ฯลฯ)
ด้วยการสร้างนักบริบาลชุมชน (community care giver) ขึ้นในชุมชนที่ท่านรับผิดชอบ โดยใช้งบประมาณของแต่ละ อปท. เอง หรือโดยการส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดใหญ่ในชุมชน จัดงบประมาณหรือจัดตั้งมูลนิธิ เพื่อผลิตนักบริบาลชุมชน ออกช่วยประชาชนในชุมชนที่ท่านตั้งอยู่โดยจัดให้มี
1. เปิดหลักสูตรการอบรมนักบริบาลขึ้น โดย
● ใช้ระยะเวลาประมาณ 70 ชั่วโมง (ประมาณ 10 วัน)
● วิชาที่สอน :
o การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เบื้องต้น
o การจัดการภาวะสุขภาพเรื้อรังในผู้สูงอายุ
o การปฐมพยาบาลและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR)
o การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต, Pulse Oximeter
o การสื่อสารและจิตวิทยาในการดูแลผู้สูงอายุ
o การดูแลผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียง
o การบันทึกข้อมูลและการรายงานผล
2. หลังการอบรม ให้นักบริบาลของชุมชนเหล่านี้ออกปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุที่เข้าหลักเกณฑ์ ในชุมชนของตน แบบ
2.1 แบบอาสาสมัคร ทำงานเป็นจิตอาสา เพื่อดูแลชุมชน และช่วยเหลือประเทศ
2.2 แบบรับเงินค่าตอบแทนจาก อปท. จำนวนเล็กน้อย แต่ละเดือน โดยแต่ละวันให้ออกไปบริบาลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้เป็นโรคเรื้อรัง วันละ5-10 คน
3. บริการที่ให้
o เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุเพื่อตรวจสุขภาพเบื้องต้น
o ให้คําแนะนําเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโภชนาการ
o ช่วยเหลือในการทํากิจกรรมประจําวัน เช่น การรับประทานอาหาร, การทําความสะอาด
o บันทึกข้อมูลสุขภาพและรายงานผลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
o ประสานงานกับโรงพยาบาลหรือคลินิกในกรณีที่ผู้สูงอายุต้องการการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม
4. หลักสูตรการฝึกอบรมนักบริบาลชุมชนก็ต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง ประมาณ 10 วันทำการ (หรือประมาณ 70 ชม.) ซึ่งอาจจะมากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ผู้ให้การอบรมซึ่งจะได้มาจากที่ใด จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) จากโรงพยาบาลประจำอำเภอ จากโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ จากโรงพยาบาลหรือศูนย์อนามัยของ กทม., เมืองพัทยา เป็นต้น ซึ่งจะเป็นค่าตอบแทนวิทยากร ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าอาหาร ค่าสถานที่อบรม (หากต้องเสียค่าใช้จ่าย)
หวังว่า อปท. ในประเทศไทย ซึ่งได้รับการกระจายอำนาจจากราชการบริหารส่วนกลางไปแล้ว จะได้สนใจทำกิจกรรมเบื้องต้นสำหรับประชาชนชาวไทยผู้สูงวัยฯ เหล่านี้ หากต้องการรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติม อาจติดต่อได้ที่ นายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งได้จัดการอบรมการให้บริการ “นักบริบาลของชุมชน” ได้เป็นผลสำเร็จในอำเภอด่านซ้าย เมื่อปีพ.ศ. 2566-2567 และขณะนี้ที่อยู่ที่ท่านผู้สนใจอาจติดต่อได้ก็คือ
นายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์
มูลนิธิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สาขาด่านซ้าย จังหวัดเลย
หวังว่ากรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย รวมทั้ง สำนักงานสวัสดิการสังคมของกรุงเทพมหานครเอง คงจะให้ความสนใจนำไปปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล เพื่อคุณภาพที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุ ที่ต้องการได้รับการดูแลเป็นประจำ แต่ขาดคนดูแล ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในชุมชนตามลำพัง ในปัจจุบัน
ศิริภูมิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี