พาไปรู้จัก "โสมภูลังกา" สมุนไพรหนึ่งเดียวในโลก ในอุทยานแห่งชาติติภูลังกา มหาวิทยาลัยนครพนม เตรียมวิจัยเพาะขยายพันธุ์ รองรับหลักสูตรแพทย์แผนไทยและการตั้งโรงพยาบาล
อุทยานแห่งชาติภูลังกา ครอบคลุมพื้นที่ อ.บ้านแพง จ.นครพนม และ อ.เซกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ มีเนื้อที่ประมาณ 31,250 ไร่ หรือประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร ลักษณะเป็นภูเขาเรียงซ้อนกันตามแนวแม่น้ำโขง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 563 เมตร สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่เป็นภูเขาหินทราย โดยแบ่งชั้นหินที่สำคัญออกเป็น 3 หมวด คือ หมวดหินโคราช หมวดหินภูพาน และหมวดหินภูกระดึง ส่วนลักษณะดินจะเป็นดินทราย ทั้งนี้พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกาปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ส่วนดอกไม้ป่ามีอยู่โดยทั่วไป โดยเฉพาะกล้วยไม้ป่า รองเท้านารี เท่าที่พบในปัจจุบันส่วนมากจะเป็นกล้วยไม้ตระกูลหวายและแดงอุบล
นอกจากนี้ ภูลังกา ยังเป็นแหล่งสมุนไพรต่างๆ และว่านนานาชนิด รวมถึง 7 ตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา ได้แก่ 1.“ถ้ำนาคา” พญานาคที่ถูกสาปเป็นหิน 2.“เมืองหลวงของชาวบังบด” ดินแดนแห่งเมืองลับแล 3.“บ้านพญานาค”แห่งเมืองบาดาล 4.“พระเจ้า 5 พระองค์” ดินแดนประสูติของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ 5.“ธรรมสถานแห่งพระอริยะ” สนามรบกิเลสพระธุดงค์สายกรรมฐาน) 6.“ภูลังกา” ตำนานอาถรรพ์ศักดิ์สิทธ์ และ 7.“ดินแดนสมุนไพร” ตำนานรามเกียรติ์ ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์
นักวิจัยทางพฤกษศาสตร์ พบว่า ภูลังกาเป็นแหล่งกำเนิดสมุนไพรที่หายาก และพบมากที่สุดในแถบนี้ ดังนั้นอุทยานแห่งชาติภูลังกา จึงเป็นสวรรค์ของนักวิจัย นักพฤษศาสตร์ และนักธรณีวิทยา ซึ่งเป็นจุดบรรจบของเขตพฤกษภูมิศาสตร์ถึง 3 เขต เข้ามาซ้อนทับกัน ได้แก่ 1.เขตพฤกษภูมิศาสตร์ย่อย (Thailandian floristic province) 2.เขตภูมิศาสตร์ย่อยแบบอินโดจีนตอนบน (north Indochinese floristic province) ที่อยู่ด้านเหนือ สภาพอากาศเย็นและชุ่มชื้น และ 3.เขตพฤกษภูมิศาสตร์ย่อยแบบอันนัม (Annamese floristic province)
ภูลังกามีทั้งพืชถิ่นเดียวและพืชหายากของไทยหลายชนิด ที่ขึ้นเฉพาะในอุทยานแห่งนี้ ด้วยชัยภูมิที่สำคัญของภูลังกา พรรณพฤกษชาติในบริเวณนี้จึงมีความหลากหลายของพืชพรรณสูง และปรากฏชนิดพันธุ์ที่สำคัญและหายากของประเทศไทย หรือมีเพียงแห่งเดียวในโลกจำนวนมาก หากเมื่อเทียบกับขนาดผืนป่าอันน้อยนิด อุทยานแห่งชาติภูลังกามีพืชถิ่นเดียว (endemic) ที่สำคัญคือ โสมภูลังกา,เสี้ยวภูลังกา และ สิรินธรวัลลี นอกจากนั้นยังพบพืชชนิดใหม่ของโลก (New species) เช่น เครือเศวตภูลังกา เสี้ยวภูลังกา และประดับหินอาจารย์เต็ม จึงเป็นพื้นที่ที่สำคัญยิ่งต่อการศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ และการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศไทย
ล่าสุด ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมด้วยคณาจารย์ และคณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต ได้ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม สำรวจสมุนไพรพื้นถิ่นเฉพาะ เพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชสมุนไพร รองรับการเปิดหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต ที่จะเปิดทำการเรียนการสอนในเร็วๆนี้
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้รับความเมตตาจากพระครูวิจิตรวินัยสาร เจ้าคณะอำเภอบ้านแพง/เจ้าอาวาสวัดป่าโนนแพง รวมถึงประธานเครือข่ายหมอสมุนไพร และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ
ซึ่งนายบรรจง กุณรักษ์ ประธานเครือข่ายหมอสมุนไพร อ.บ้านแพง เปิดเผยว่าบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา มีพืชสมุนไพรเป็นจำนวนมาก จากการเก็บข้อมูลของหมอยาพื้นบ้าน พบว่าในพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีตัวยาสมุนไพรไม่น้อยกว่า 25 ตัวยา ชาวบ้านมักจะนำสมุนไพรมาใช้ในการบำรุง ดูแล และการรักษา ซึ่งถือเป็นทางเลือกอีกทางที่ควบคู่กับการดูแลรักษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน
“ในพื้นที่มีสมุนไพรเยอะมาก ซึ่งแต่ละหมอยาก็มีวิธีการใช้ที่ต่างกัน มีการเก็บข้อมูลของหมอยา แต่ก่อนชาวบ้านก็อาศัยพืชสมุนไพร เพราะในสถานพยาบาลของรัฐยังมีการใช้ที่น้อยอยู่ และปัจจุบันการรักษาคงลงไปด้านวิทยาศาสตร์มากแล้ว พืชสมุนไพรคือทางเลือก (หมอทางเลือก) ในการรักษาของแพทย์ปัจจุบัน”
โดยนายบรรจง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า บนอุทยานแห่งชาติภูลังกา มีสมุนไพรที่เด่น ๆ คือ “โสมภูลังกา” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการแก้เมื่อย บำรุงกำลัง รักษาข้อกระดูก ส่วนใหญ่จะนำมาต้มน้ำดื่ม หรือทำการบดผสมน้ำผึ้งปรุงเป็นยา สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบและลำต้น พืชชนิดนี้มักจะพบเห็นบนยอดหน้าผาสูง ซึ่งยากต่อการพบเห็นโดยทั่วไป ด้วยสรรพคุณที่หลากหลายของพืชสมุนไพรชนิดนี้ เมื่อชาวบ้านพบเห็นจึงตัดลงมาทั้งหมด ทำให้ปัจจุบัน “โสมภูลังกา” เริ่มหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูลังกา และวัดในพื้นที่ใกล้เคียง อนุรักษ์ด้วยการเพาะปลูกเพื่อเตรียมขยายพันธุ์
นอกจาก “โสมภูลังกา” ที่หายาก ยังมีพืชสมุนไพรเด่น ๆ อีกหลายชนิด ได้แก่ สามสิบสองประดง (สิรินธรวัลลี), กำลังหนุมาน, กำลังเสือโคร่ง, กำลังช้างสาร-กำลังช้างเผือก และกวาวเครือขาว-กวาวเครือแดง ที่ปัจจุบันเริ่มใกล้จะสูญพันธุ์เช่นกัน ทั้งนี้เกิดจากการแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่สวนของชาวบ้าน
ด้าน ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ กล่าวว่าการลงสำรวจพื้นที่เพื่อทำการคัดเลือกสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยนครพนม เตรียมที่จะทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำร่างหลักสูตร การสำรวจพื้นที่ศึกษาข้อมูลของสมุนไพร ที่จะใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย รวมถึงการแปรรูปสมุนไพรเฉพาะของพื้นถิ่น และการสนับสนุนให้เกิดรายได้ของชุมชน
“เราจะนำสมุนไพรเหล่านี้ไปอนุรักษ์พันธุ์พืช ให้สามารถที่จะขยายพันธุ์ได้อย่างถูกต้อง และนำมาสกัดสารสำคัญเพื่อนำไปรักษาสุขภาพประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค หรือการรักษาในบางตัวตามสารสกัดที่ได้ออกมา และการทำผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษา ให้ประชาชนสามารถใช้สมุนไพรที่บ้านของตนเองในการรักษา ลดการใช้ยาที่นำเข้า และลดผลข้างเคียงของยาด้วย ซึ่งบางส่วนเราสามารถเก็บเมล็ดไปทำการวิจัยและขยายพันธุ์ต่อไปได้ และเมื่อเราได้สูตรการเพาะพันธุ์ จะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้มีการขยายพันธุ์ปลูก เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่และชุมชนอีกมิติหนึ่ง เสน่ห์ของการทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต คือ อยากให้นักศึกษาสามารถแปรรูปสมุนไพรเฉพาะในท้องถิ่น เป็นสูตรในการรักษา บำบัดสุขภาพให้กับประชาชนอีสานตอนบนหรือพื้นที่ใกล้เคียงในอนาคต” ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์ กล่าว
ขณะเดียวกัน มีการประชุมของคณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต โดยที่ประชุมได้นำเสนอผลการลงสำรวจพื้นที่สมุนไพรบนอุทยานแห่งชาติภูลังกา พร้อมพูดคุยถึงการทำร่างหลักสูตร และหารือวางแผนพื้นที่บริเวณภายในมหาวิทยาลัยตั้งสวนสมุนไพร เพื่อเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ในวรรณคดีรามเกียรติ์ ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณปักอกจนสลบ หนุมานจะฉุดถอนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ มีสรรพยาที่จะแก้ฤทธิ์หอกนี้ได้ คือ ต้นสังกรณีตรีชวาและน้ำปัญจมหานที หนุมานจึงเหาะไปที่เขาสรรพยา หรือภูลังกาในปัจจุบัน โดยใช้หางยาวใหญ่โอบรัดเอาภูลังกาเพื่อเอาต้นสังกรณีตรีชวา เมื่อหนุมานดึงเอาภูลังกาออกไปจึงเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ คือ บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ หลังจากได้ยารักษาพระลักษณ์แล้ว หนุมานจึงนำเอาภูลังกากลับมาคืน แต่เนื่องจากเป็นลิงมีพฤติกรรมซุกซน ก็เลยใช้หางเหวี่ยงภูลังกาลงมา แต่ไม่ตรงกับจุดเดิม จึงเกิดเป็นภูลังกาในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ใกล้กับบึงโขงหลง และหากเปรียบเทียบพื้นที่ของบึงโขงหลงและภูลังกาจะมีขนาดเท่ากันพอดี ---001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี