“อย่างที่เราเห็นข่าวเด็ก 12 ปีที่บุรีรัมย์ ที่ใช้แค่ไม่กี่เดือนปอดพัง ปอดหายไปเลย คำว่าปอดหายคือปอดมันยังอยู่ในทรวงอกแต่มันฟอกอากาศไม่ได้ เด็กขาดออกซิเจน ฉะนั้นเด็กกลุ่มนี้ในต่างประเทศเขาจะต้องปลูกถ่ายเปลี่ยนปอด แต่ในประเทศเราอาจยังทำไม่ได้ นึกภาพว่าถ้ามีเด็กที่ปอดพังแบบนี้ร้อยคนพันคนล้านคน แต่เราไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้เลย สุดท้ายประเทศเราตายหมดเพราะไม่มีปอดในการหายใจ อันนี้อันตรายมาก”
พญ.พิมพ์ชนก จันทร์สวัสดิ์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) กล่าวในวงเสวนา “ร่วมป้องกันเด็กเล็กจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า” จัดโดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพฯ ยกตัวอย่างที่เพิ่งเป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ กรณีพบเด็กตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมต้นซึ่งมีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้า ถูกหามส่งโรงพยาบาลและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
ด้วยความที่บุหรี่ไฟฟ้าใช้วิธีส่งความร้อนเข้าขดลวด ทำให้สารนิโคตินออกมาเป็นละอองไอน้ำ ซึ่งมีน้ำหนักเบา จึงกระจายตัวและตกค้างได้มากกว่า อีกทั้ง “สารนิโคตินยังเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้มากกว่าบุหรี่มวน” โดยการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาจะใช้ “นิโคตินสังเคราะห์” ดังนั้น “ปริมาณนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าจึงสูงกว่าบุหรี่มวน” อีกทั้งยังมีสารอื่นๆ อีก เพราะขดลวดของบุหรี่ไฟฟ้าเวลาโดนไฟเผา เหล็กนิกเกิล แคดเมียม จะหลุดออกมา ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจึงสูดสารเหล่านี้เข้าไปเต็มๆ เข้าสู่ทางเดินหายใจและกระแสเลือด ซึ่งน่ากลัวมากเพราะเป็นสารก่อมะเร็ง
อีกสิ่งที่น่าห่วงคือ “น้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้าสามารถผสมอะไรลงไปก็ได้” ดังที่มีข่าว “บุหรี่ไฟฟ้าซอมบี้” ที่มีการผสมสารเอโทมีเดท (Etomidate) หรือยาสลบที่ใช้ในทางการแพทย์ เพื่อให้สูบแล้วเกิดอาการเมา หรือกรณี “พ็อตเค” น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าผสมสารเคตามีน หรือยาเค ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้ายุคปัจจุบันที่ทำให้มีรูปลักษณ์สวยงาม มีหน้าตาเหมือนของเล่น (Toypod) และมีกลิ่นหอม วันหนึ่งหากเด็กไปลองก็อาจได้รับสารเหล่านี้ได้
ส่วน “ความเชื่อที่ว่าหากอยากเลิกสูบบุหรี่มวนให้หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า ต้องขอเตือนว่าไม่เป็นความจริง” มีผลการศึกษาที่ชี้ว่า “สุดท้ายแล้วนอกจากจะไม่เลิกบุหรี่มวนยังสูบบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กันไปด้วย” คือกลายเป็นสูบทั้ง 2 อย่างส่วนผลกระทบของควันบุหรี่มวนหรือละอองไอน้ำจากบุหรี่ไฟฟ้าต่อเด็ก เนื่องจากปอดของเด็กยังไม่พัฒนา ปริมาณถุงลมของเด็กจะต่างกับผู้ใหญ่ถึง 100 เท่า เมื่อขนาดถุงลมของเด็กเล็กกว่าของผู้ใหญ่ การได้รับสารพิษย่อมส่งผลกระทบรุนแรงกว่า อีกทั้งเด็กยังมีอัตราการหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ จึงรับสารพิษได้ในปริมาณมากกว่า
คุณหมอพิมพ์ชนก เล่าต่อไปว่า นอกจากปอดแล้วสมองและพัฒนาการของเด็กก็น่ากังวล จากที่พยายามส่งเสริมกันมา เจอบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปทำให้ไอคิวลด โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นก็สุ่มเสี่ยงมีอาการซึมเศร้าถึงขั้นฆ่าตัวตาย และไม่จำเป็นต้องเป็นกรณีเด็กไปสูบเอง อย่างแม่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบว่าส่งผลถึงทารกในครรภ์ หรือที่เห็นในข่าวเพื่อนบ้านไปแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะเห็นแม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งที่เพิ่งคลอดลูกได้ไม่นาน
ยังมีเรื่อง “ควันบุหรี่มือสองและมือสาม” ควันบุหรี่มือสองหมายถึงคนที่อยู่ใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าแล้วสูดควันหรือละอองไอน้ำเข้าไป อย่างประสบการณ์เคยมีคนไข้หอบหืด เข้าห้อง ICU มาแล้ว 4 ครั้ง เข้าโรงพยาบาลทุกเดือน ก็ได้บอกผู้สูงอายุที่เป็นคุณตาของเด็กขอให้เลิกสูบบุหรี่ได้หรือไม่ ซึ่งผู้สูงอายุรายนี้ก็ตอบว่าสูบไปก็ไม่เห็นเป็นไรเพราะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานเดี๋ยวก็ตายแล้ว
เมื่อคุณตาตอบมาเช่นนั้น ทำให้ต้องอธิบายไปว่าหมอเป็นห่วงเด็กมากกว่า เพราะเด็กกำลังจะตายทั้งที่ไม่ได้เป็นคนสูบบุหรี่เองด้วยซ้ำ สุดท้ายคุณตาของเด็กก็ยอมเลิกสูบบุหรี่และคนไข้ก็อาการดีขึ้นจนสามารถลดปริมาณยาที่ใช้รักษาลงได้ นี่คือประสบการณ์ที่เจอกับตนเองว่าควันบุหรี่มือสองกระทบต่อคนใกล้ตัวจริงๆ นอกเหนือจากการอ่านงานวิจัย ซึ่งจากตัวอย่างคุณตารายนี้ต้องรอให้หลานมีปอดที่ทำงานได้เพียงร้อยละ 10 ต้องมาเข้าห้อง ICU คำถามคือเราต้องรอให้เป็นแบบนี้จริงหรือ เพราะไม่อยากให้เห็นเด็กใส่ท่อช่วยหายใจแล้วถึงได้ตื่นตัวกัน
ขณะที่ควันบุหรี่มือสาม หมายถึงควันบุหรี่หรือละอองไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าที่ตกค้างในเสื้อ ในรถยนต์หรือสิ่งของต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ไม่ต่างกับคนที่สูบบุหรี่เองหรือคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเมื่ออยู่ใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า มีกรณีที่เคยแนะนำให้พ่อของคนไข้รายหนึ่งเลิกสูบบุหรี่ คุณพ่อรายนี้ก็เถียงว่าไม่เคยสูบที่บ้าน สูบเฉพาะที่ทำงานเท่านั้น จึงอธิบายว่าควันบุหรี่สามารถติดตามเสื้อผ้าได้หรือเข้าไปนั่งในรถแล้วได้กลิ่นบุหรี่ นั่นคือกำลังสูดควันบุหรี่เข้าไปเช่นกัน โดยสรุปแล้วจึงไม่มีทางที่จะสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าได้โดยไม่ทำร้ายผู้อื่น
“เราไม่มีทางสูบมันเข้าไปทั้งหมด ส่วนที่เหลือที่มันตกค้างก็จะล่องลอยอยู่ในอากาศ คนทุกคนต้องหายใจผ่านอากาศ ถึงเราจะสูบของเราก็มีคนรอบๆ ที่แชร์อากาศกับเรา ฉะนั้นอย่างไรก็ตามมันส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่รอบๆ นั้น นอกจากคนที่อยู่ด้วยกันที่เป็นบุหรี่มือสอง ที่เราไปสูบถึงจะไม่มีคนอื่นเลย ถ้ายิ่งเป็นห้องปิดมันก็จะกักเก็บตัวสารพิษนี้ไว้ได้มากขึ้น ฉะนั้นคนที่กลับเข้าไปใหม่ในห้องนั้นก็ได้รับสารพิษเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่ได้รับเต็มที่เหมือนสูบเอง แต่อย่างไรก็ตาม บอกได้เลยว่าได้ผลแน่นอน” พญ.พิมพ์ชนก กล่าว
วงเสวนานี้ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2568 ยังมีผู้ร่วมเสวนาอีกหลายท่าน อาทิ อลิสษา ยูนุช นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่าบุหรี่ไฟฟ้าพยายามออกแบบให้สวยงามดึงดูดให้อยากลอง ขณะที่น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าก็ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมือนกับสินค้าปกติทั่วไปที่วางขายในร้านสะดวกซื้อ เช่น เครื่องดื่ม ลูกอม จึงอยากให้ผู้ปกครองสังเกตด้วยว่าบุตรหลานเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่
เสียงสะท้อนจากผู้ปกครอง อุทัย จิระปัญญากุล ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนสวนผัก เขตจตุจักร กรุงเทพฯกล่าวว่า หากพ่อแม่ผู้ปกครองได้รับรู้ มีสื่อแนะนำว่าสิ่งนี้คือบุหรี่ไฟฟ้าและมีโทษภัยรุนแรงเพียงใด ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองอาจตามไม่ทัน ก็น่าจะช่วยให้ป้องกันบุตรหลานจากการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ ได้
บทบาทของสถานศึกษา ณภัทร วันหวัง ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนซอยสมหวัง เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ เล่าถึงหลากหลายกิจกรรม เช่น ใช้นิทานซึ่งครูแต่งขึ้นและสื่อสารด้วยละครเวที ให้ความรู้กับเด็กๆ ถึงอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ใช้ใบงานกิจกรรมระบายสีของเด็กๆ สื่อสารกับผู้ปกครองว่าหากรักบุตรหลานต้องปกป้องจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในทุกกิจกรรมที่โรงเรียนทำร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน เช่น งานวันแม่ งานกีฬาสี ฯลฯ
ชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมนิทานสำหรับเด็ก กล่าวว่า จากการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเกิดมาในโลกที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือประสาทสัมผัสของเด็กที่รู้ว่าอะไรหอมหรือเหม็น ซึ่งเด็กไม่ชอบกลิ่นบุหรี่มวนเพราะเหม็น หรือกลิ่นหอมของบุหรี่ไฟฟ้าเด็กก็แยกได้ว่าเป็นกลิ่นสังเคราะห์ไม่ใช่กลิ่นธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของเด็กยุคนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองมักปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอ การใช้เวลาด้วยกันจึงไม่ได้มากเหมือนเดิม แต่ “สายใยรัก” เป็นสิ่งสำคัญที่จะคุ้มครองให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างรู้เท่าทันโทษภัยของยาเสพติด
ยังมี ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งกล่าวว่า มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ดำเนินโครงการสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ในบ้านเพื่อปกป้องเด็กเล็ก (Gen Alpha) คือกลุ่มเด็กแรกเกิด- 7 ปี จากการได้รับควันบุหรี่ในบ้าน จึงได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านสื่อรณรงค์กล่องออมสินสำหรับเด็ก ในหัวข้อ “ค่าบุหรี่ของพ่อ หนูขอเป็นค่าขนม” ร่วมกับภาคีเครือข่ายครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน สังกัด กทม. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
“จากข้อมูลการสำรวจการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ยต่อเดือนสูงถึง 718 บาทเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของคนที่จนที่สุดที่มีรายได้ต่อเดือนแค่ 1,043 บาทเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเร่งให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและครูให้รู้เท่าทันโทษ พิษภัยของควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเด็กเล็ก และตระหนักถึงความสำคัญของการทำให้บ้านปลอดจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนปลูกฝังให้เด็กเล็กเกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี