ผ่านพ้นไปแล้วกับการแข่งขัน “InnoPolicy Challenge” ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยรอบตัดสินจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา โดยโครงการนี้เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ นักศึกษาแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพที่เข้าร่วมการประชุมการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2025 (PMAC 2025) ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาเป็นข้อเสนอนโยบายที่สามารถนำไปใช้ได้จริง
ในปีนี้หัวข้อหลักของโครงการเน้นเรื่อง “การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทย” โดยมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างทางนโยบายและยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UCS) ซึ่งครอบคลุมประชากรกว่า 47 ล้านคนซึ่งการแข่งขันเริ่มต้นจาก 10 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกก่อนจะเหลือเพียง 3 ทีมสุดท้ายที่ได้รับโอกาสเข้ารับการอบรมและพัฒนาแนวคิดจากผู้เชี่ยวชาญของ สปสช. ก่อนเข้าสู่เวทีนำเสนอจริง ประกอบด้วย
1.ทีม 1330 (รามาธิบดี) น.ส.จิณณ์ รัชโน และนายนิพิฐพนธ์ ตุงคะรักษ์ นักศึกษาแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เสนอแนวคิดปรับปรุงระบบศูนย์บริการสายด่วน สปสช. 1330 ด้วย AI-powered Retrieval-Augmented Generation (RAG) ศูนย์บริการสายด่วน 1330 เป็นช่องทางสำคัญที่ประชาชนใช้ในการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพ แต่เจ้าหน้าที่ต้องประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล
ทำให้การฝึกอบรมใช้เวลาถึง 2-3 เดือน การค้นหาเนื้อหาจำนวนมากต้องใช้เวลานาน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะสามารถให้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นทีม 1330 จึงเสนอให้ใช้ AI ที่สามารถดึงข้อมูลและสรุปผลแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ตอบคำถามได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เทคโนโลยีนี้จะช่วยลดระยะเวลาการฝึกอบรมลงอย่างมาก และเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ 1330 ให้กลายเป็น “Super Agent” ที่ให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับประชาชน
2.ทีม CK (พระมงกุฎเกล้า) นายชนน กูลทองคำ และ น.ส.เพชรทับทิม วิริยะวนิชกูล นักศึกษาแพทย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ได้เสนอแนวคิดการใช้ Facial Recognition Technology เพื่อลดการทุจริตในการเบิกจ่ายยา ด้วยการตระเวนรับยาจากหลายโรงพยาบาลและนำไปขายต่อ ทำให้เกิดความสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก
ดังนั้นทีม CK จึงเสนอให้ใช้ เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ในการยืนยันตัวตนของผู้ป่วย โดยที่ผู้รับบริการสามารถสแกนใบหน้าของตนเองเมื่อรับยา เพื่อลดโอกาสการใช้สิทธิซ้ำซ้อน เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถยืนยันสิทธิของตนเองได้โดยตรง ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยให้การจัดการระบบบริการสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และ 3.ทีม OncoPrecision (รามาธิบดีและจุฬาฯ) นายสุทธิธาร สุวรรณนพคุณ นายฆนัท บุญจง นักศึกษาแพทย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ นายธีรดณย์ ศักดิ์เพชร นิสิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอแนวคิดการพัฒนาแพลตฟอร์ม Precision Public Health เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
มะเร็งปอดเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญในประเทศไทย แต่การตรวจคัดกรองด้วย Low Dose CT Scan มีต้นทุนสูงและต้องมีการบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทีม OncoPrecision พัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้ ข้อมูลเชิงภูมิสารสนเทศ ข้อมูลระบาดวิทยา ข้อมูลสิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางสังคม (Social Determinants of Health) เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่
ระบบนี้จะช่วยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถวิเคราะห์พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและจัดลำดับความสำคัญในการคัดกรองมะเร็งปอดได้อย่างแม่นยำ โดยยังสามารถใช้เป็นโมเดลต้นแบบให้กับงานด้านสาธารณสุขด้านอื่นๆ อีกด้วย แนวคิดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก Deprivation Index ที่ใช้ในสกอตแลนด์ และสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เวทีแสดงพลังเยาวชน และก้าวสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลง” หลังการนำเสนอที่เต็มไปด้วยพลังและไอเดียสร้างสรรค์ ผลการตัดสินจาก คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่านได้ประกาศให้ “ทีม 1330 จากรามาธิบดี คว้ารางวัลชนะเลิศพร้อมรับเงินรางวัล 10,000 บาท” ในขณะที่ ทีม OncoPrecision และทีม CK คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ
ด้าน นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล รองเลขาธิการ สปสช. ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เรามีคนรุ่นใหม่ เป็นนักเรียนแพทย์ชั้นปี 2 -3 ที่มีวิสัยทัศน์และความรู้ สามารถนำความรู้ที่ได้จากงานประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ มาตอบโจทย์ปัญหาของระบบสุขภาพ รวมถึงเติมเต็มข้อจำกัดการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเอง
โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ขึ้นมาดูแลระบบสุขภาพสำหรับคนไทยในอนาคต นอกจากจะได้สร้างทักษะการเป็นนักพัฒนานโยบายให้แก่เยาวชนโดยการสัมผัสกับปัญหาหน้างานและระบบงานจริงแล้ว ยังช่วยเชื่อมต่อคนรุ่นใหม่กับผู้เชี่ยวชาญ ด้วยประสบการณ์จริงของคนหน้างาน ซึ่งตนเชื่อว่าจะเป็นการผสานพลังที่จะช่วยปูทางสำหรับอนาคตของระบบสุขภาพได้อย่างยั่งยืนในทางหนึ่ง
“สปสช. เองก็ได้ฟังการสะท้อนจากนักศึกษาแพทย์ที่เป็นผู้สังเกต มองเข้ามายังระบบ ทั้งยังสามารถนำนวัตกรรมที่ผู้เข้าแข่งขันเสนอมา ไปพัฒนาต่อยอดในระบบงานของสำนักงานอีกด้วย สำหรับอนาคต ผมได้มอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจของ สปสช. (Agile Team) ช่วยดูแลเยาวชนกลุ่มนี้ให้ทำงานใกล้ชิดกับ สปสช. เพื่อการพัฒนานวัตกรรมสำหรับดูแลคนไทย ต่อไปในอนาคต” นพ.สินชัย กล่าว
จากเวทีแห่งนี้ เราได้เห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่สามารถนำ AI และเทคโนโลยีดิจิทัล มาปรับใช้กับระบบสุขภาพไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนับเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการปูทางสู่ระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืนและครอบคลุมประชาชนไทยได้อย่างทั่วถึงในอนาคต!!!’
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี