ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้รับการโอนหุ้นจากแม่ พี่ชาย พี่สาว ลุงและป้า จำนวนรวมกันประมาณ 4,434ล้านบาท ในปี พ.ศ.2559 โดยได้ทำหนังสือสัญญาใช้เงิน (PN) ที่ไม่มีดอกเบี้ยและไม่กำหนดวันครบชำระเงิน เพื่อให้เป็นหลักฐานเสมือนการซื้อหุ้นโดยยังไม่จ่ายเงิน(เป็นหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย ไม่กำหนดวันชำระคืน)
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไม นางสาวแพทองธารในปี 2559 ขณะที่อายุเพียงประมาณ 30 ปี จึงอยากซื้อหุ้นจำนวนมาก จากบุคคลในครอบครัวและผู้เกี่ยวดอง
โดยที่ตนไม่มีเงินที่จะจ่าย แต่ไปออกหนังสือสัญญาใช้เงิน เป็นการกู้ยืมเงินที่จะจ่ายค่าหุ้นจำนวน 4,434 ล้านบาท
เรื่องนี้ต้องเข้าใจ พฤติกรรมของคนในตระกูลชินวัตร รู้ที่มาที่ไป ของหุ้น จึงพอจะวิเคราะห์และตั้งเป็นสมมุติฐานได้ว่า
ในปี 2544 เมื่อนายทักษิณจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ประสงค์จะไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินให้ครบถ้วนกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในบางรายการจึงได้โอนหุ้นจำนวนหนึ่งซุกไว้ในชื่อของ คนสวน คนรับใช้ คนขับรถ และ คนเฝ้ายาม จนเกิด คดีซุกหุ้นดังที่ปรากฏคดีกับนายทักษิณมาแล้ว
เวลาต่อมา ได้โอนหุ้นจากชื่อของ “ลูกจ้าง” ในบ้านทั้งสามคน ไปให้กับ “ลูกจริง”ทั้ง 3 คน แต่เนื่องจากลูกสาวคนเล็ก คือ แพทองธารขณะนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่สามารถบริหารจัดการหุ้นในบริษัทต่างๆ ได้ จึงอาจจะโอนฝากไว้ที่แม่ พี่ชาย พี่สาว ลุง และป้า
ต่อมาในปี 2559 เมื่อแพทองธาร บรรลุนิติภาวะแล้ว ประสงค์ให้ญาติที่ถือหุ้นไว้โอนหุ้นมากลับมาให้ แต่ขณะนั้นมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรในต้นปี 2559 เพื่อให้สอดคล้องกับการเก็บภาษีมรดก ซึ่งระบุให้
การให้สินทรัพย์ ในระหว่างพ่อ แม่ ลูก ถือเป็นรายได้ของผู้รับ หากมีมูลค่าเกิน 20 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 20 ล้านจะต้องเสียภาษีเงินได้ 5%
แต่ หากเป็นพี่ น้อง ลุง ป้า หากมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีเงินได้ 5%
วิธีการหลีกเลี่ยงหลบภาษี หรือบริหารภาษี ให้จ่ายน้อย หรือไม่ต้องจ่าย คือ ทำนิติกรรมอำพรางโดยให้ดูเสมือนเป็นการซื้อขาย
ผู้รับโอน จึงออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งก็คือทำสัญญากู้ยืม แต่ที่น่าสังเกต คือ ไม่มีดอกเบี้ย และไม่มีการกำหนดวันชำระเงิน
จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด นางสาว แพทองธาร จึงออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (ที่ไม่กำหนดเวลาชำระเงินและไม่มีดอกเบี้ย) เพื่อให้ดูเป็นเรื่องการซื้อขายไม่ใช่การให้ จะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ ให้กับรัฐจำนวนมากกว่า 200 ล้านบาท หรือไม่
นางสาวแพทองธาร ชี้แจงว่า การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการซื้อขายจริงไม่ได้มีพฤติกรรมอำพรางใดๆ ยอดหนี้ (ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน) ก็แสดงว่าชัดเจนในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. อยู่แล้ว
“เรื่องตั๋วพีเอ็นไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องที่ทำกันมาเป็นเรื่องปกติ.. การออกตั๋วสัญญาใช้เงินจะทำกับธุรกรรมที่ถูกกฎหมาย ดำเนินการเปิดเผย ฝ่ายผู้ซื้อผู้ขายรับภาระหนี้สินระหว่างกัน ไม่มีการกระทำนอกกฎหมายใดๆ เพราะการกระทำนอกกฎหมายที่ไหนออกหลักฐานเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ระบุที่มาของเงินไม่ได้ ก็ไม่สามารถทำได้..”
คำอธิบายของนายกรัฐมนตรีที่ว่า ได้แสดงชัดเจนในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.แล้ว ก็ไม่ได้ช่วยอะไร อีกทั้งคำอธิบายว่า ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) เป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติ (ใครใครเขาก็ทำกัน) ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะขึ้นอยู่กับว่าเขาใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินโดยสุจริตหรือไม่
หลายสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีทำไม่ได้ เพราะจะต้องมีมาตรฐานของความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีมาตรฐานจริยธรรมสูงกว่าบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ เพราะจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมและคนจำนวนมาก ใช่หรือไม่?
ประชาชนส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่าครอบครัวรักกันมาก ทำไมจึงใช้วิธีซื้อขายหุ้นระหว่างกันไปมาโดยเฉพาะในช่วงที่นางสาวแพทองธาร จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้โอนหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ จำนวน 22,410,000 หุ้น ไปให้ผู้เป็นแม่ ด้วยวิธีการซื้อขาย โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์การซื้อขายแทนการให้ เช่นเดียวกันใช่หรือไม่
ถ้าจะพิจารณาจากอดีต คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีหมายเลขแดง ที่ อม.1/2553 เรื่อง
ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หรือคดียึดทรัพย์ นายทักษิณ ชินวัตร 46,737 ล้านบาท เห็นว่า การออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระค่าหุ้นมีพิรุธ เป็นการอำพรางการโอนหุ้นชินคอร์ปเพราะสุดท้ายแล้ว หุ้นชินคอร์ป ที่นายทักษิณโอนให้กับบุคคลต่างๆดังกล่าว ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายทักษิณ
ยิ่งไปกว่านั้นข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากรเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกสองปีโดยไม่รอลงอาญาในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตาม มาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กรณี ช่วยบุตรชายและบุตรสาว ของนายทักษิณ ชินวัตร หลบเลี่ยงภาษีกรณีหุ้นชินคอร์ปมาแล้ว
หากกรมสรรพากรและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ ถูกต้องตามกฎหมายและเหมาะสม
ตามจริยธรรม ต่อไปการที่จะมีผู้โอนทรัพย์สินให้บุคคลในครอบครัว ก็ทำทีเป็นซื้อขาย แล้วทำหนังสือสัญญาใช้เงิน ที่ไม่มีดอกเบี้ย และไม่ต้องระบุวันจ่ายเงิน (หนังสือสัญญาไม่ต้องจ่ายเงิน) ทำให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมาย ส่งผลให้ภาษีมรดกที่กำหนดให้ผู้รับมรดก จะต้องจ่ายเป็นอันยกเลิกไปโดยปริยายเท่ากับว่า ฝ่ายบริหารโดยกรมสรรพากรได้ตีความให้กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติบังคับใช้ไม่ได้อีกต่อไป
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี