เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนเคยจบบทความลงด้วยประโยคที่ว่า “แล้วเราจะพายเรือในอ่างอยู่ต่อไปอีก 93 ปีหรือ”
น้องๆ รุ่น Gen Z บางคนสงสัยก็ถามมาว่า พายเรือในอ่าง หมายความว่าอย่างไร และทำไมจะต้องพายกันอยู่ถึง 93 ปี
ผู้เขียนจึงขอถือโอกาส ใช้คอลัมน์นี้ชี้แจงมาเลยในเดือนมีนาคมเดียวกัน น้องๆ จะได้ไม่ต้องคอยนาน
คำว่า พายเรือในอ่าง เป็นคำพังเพยของคนไทย มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นคำแนะนำของผู้ใหญ่ สอนผู้ที่เยาว์วัยกว่า ว่าเมื่อทำสิ่งใดมีปัญหา มีอุปสรรค หรือทำไม่สำเร็จ เราก็อย่าทำเช่นเดิมตลอดไปอีก เพราะถ้าทำเช่นเดิม ไม่คิดหาวิธีใหม่ งานนั้นก็จะยังคงมีปัญหา มีอุปสรรค หรือไม่สัมฤทธิผลดังปรารถนาอยู่ตลอดไป
เราควรจะต้องค้นหาวิธีใหม่ หาวัสดุใหม่หาสถานที่ใหม่ หรือปรับปรุงสถานที่เดิม จนกระทั่งงานของเราสัมฤทธิผล หากจะพูดให้ทันสมัยก็คงจะพูดว่า ต้องมีนวัตกรรมใหม่ (Innovation หรือ Innovative action) มาทำให้งานสำเร็จบรรลุความมุ่งหมายต่อไป
ขณะนี้ ประชาธิปไตยที่เราไปคัดลอกมาจากฝรั่งทางตะวันตก ได้แก่ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy) ซึ่งฝรั่งบอกว่า อำนาจสูงสุดของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยก็คือ
อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจตุลาการ
อำนาจบริหาร
เมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนคือเจ้าของอำนาจ แต่ประชาชนในแต่ละประเทศก็มี 10 ล้านคนบ้าง 20 ล้านคนบ้าง 70 ล้านคนเช่นประเทศไทยบ้าง 100 ล้านคน เช่น เวียดนามและพม่าบ้าง 300 ล้านคน เช่น สหรัฐอเมริกา และ 1,400 ล้านคน เช่น อินเดียบ้าง ถ้าจะให้ทุกคนมาใช้อำนาจสูงสุดกันเองแล้ว บ้านเมืองคงจะเข้าสู่กลียุคแน่จึงต้องจัดให้มี การคัดเลือก สรรหา หรือเลือกตั้ง ว่าใครจะมาเป็นผู้ใช้อำนาจแทนเรา และใครจะเป็นผู้เลือก ผู้มาใช้อำนาจแทนเรา
คำว่า องค์การเลือกตั้ง หรือ Electroral Body หรือนัยหนึ่งสำหรับประเทศไทย “ผู้เลือกตั้งผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสาม แทนปวงชนชาวไทย” ก็คือ
1. องค์กรเลือกตั้ง (หรือผู้เลือกตั้ง) ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ แทนปวงชนชาวไทย ได้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ เป็นผู้เลือก สส., สว. ให้มาทำหน้าที่ออกกฎหมาย และระเบียบของประเทศ แทนปวงชนชาวไทย
2. องค์กรเลือกตั้ง (หรือผู้เลือกตั้ง) ผู้ใช้อำนาจตุลาการ แทนปวงชนชาวไทย ก็จำต้องได้ผู้มีคุณวุฒิพิเศษ ที่ผ่านการศึกษา ผ่านการฝึกอบรม ผ่านการสอบแข่งขัน ผ่านการคัดเลือกกลั่นกรอง มาเป็นอย่างดี จนได้เป็นตุลาการ (หรือผู้พิพากษา) แล้วจึงจะมีสิทธิ์เป็นองค์กรเลือกตั้ง (หรือผู้เลือกตั้ง) คณะกรรมการตุลาการของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลอื่นๆ
ผู้เลือกตั้ง ผู้ใช้อำนาจสูงสุดของอำนาจตุลาการ (Judiciary Power) จึงมิได้มาจากการเลือกตั้งทั่วไป เช่นเดียวกับผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ
3. องค์กรเลือกตั้ง (หรือผู้เลือกตั้ง) ผู้ใช้อำนาจบริหารแทนปวงชนชาวไทย ซึ่งควรจะเป็นนักบริหารมืออาชีพ ที่จะบริหารประเทศให้ก้าวหน้าไปได้ สามารถทำให้กฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติมีผลบังคับใช้สามารถทำให้คำพิพากษาคดีความที่ฝ่ายตุลาการกำหนด มีผลในทางปฏิบัติ มีความสามารถในการ ก้าวมั่นทันโลก เพื่อให้ประเทศอยู่ได้อย่างมีสันติสุข และสามารถบริหารประเทศ ไม่ให้ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน
ใครเล่าจะเป็นผู้เลือกตั้งผู้ใช้อำนาจบริหารแทนปวงชน
ประเทศที่ไม่มีกษัตริย์ จึงสรุปเอาว่าให้ประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ
ส่วนประเทศที่มีกษัตริย์ เป็นประมุขอยู่แล้วเป็นร้อยๆ พันๆ ปีในโลกตะวันตก ก็เลยโยนภาระไปให้ สส., สว. ผู้เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติอยู่แล้ว มาใช้อำนาจบริหารเสียด้วยเลย โดยไม่คำนึงถึง “ความสมดุลแห่งอำนาจ” ว่าจะต้องมีการคานอำนาจกันอย่างเหมาะสมทั้งสามอำนาจ
เมื่อผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ (สส., สว.) กลายเป็นผู้เลือกตั้งผู้ใช้อำนาจบริหาร (นายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี) แล้ว ก็เลยเถิดไปจนเขียนรัฐธรรมนูญ ให้ สส.,สว. และพรรคการเมือง เข้ามาใช้อำนาจบริหารเสียเอง มาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ
การพายเรืออยู่ในอ่าง
จึงเกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2475
หรือ 93 ปี จนถึงปัจจุบัน
กล่าวคือ
ผู้สมัคร สส., สว. ก็พยายามทุกวิถีทาง ที่จะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็น สส.,สว. แม้แต่จะต้องลงทุนซื้อเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ยอม
เมื่อเป็น สส., สว. แล้ว ก็ต้องรวมกันเป็นพรรค เพื่อให้กลุ่มหรือพรรคของตนมีอำนาจต่อรอง ตอนนี้ ไม่ว่าบ้านใหญ่ หรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น หรือนายทุนระดับประเทศ ก็จำต้องใช้เงิน หรือบารมี เพื่อหาคนเข้าพรรค
จากนั้น พรรคที่มีจำนวน สส., สว. มากที่สุด ก็เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เพื่อใช้อำนาจบริหาร หากเสียงไม่มากพอ ก็หาพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมาร่วม ในการนี้ ก็จำต้องมีการแลกผลประโยชน์กัน เอาผลประโยชน์ของประเทศเข้ามาใช้เป็นผลประโยชน์ของตนและของพรรค
ก็จำต้องมีการหาเงินเข้าพรรค เพื่อเอาไว้จ่ายค่ายกมือของ สส. ที่เรียกกันว่า “แจกกล้วย”
ก็จำต้องมีธุรกิจการเมือง และพนักงานของรัฐคนใดอยากเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งไว ก็อาสานักการเมือง หรือเป็นเครื่องมือ หาเงินเข้าพรรคให้แก่นักการเมือง
แล้ววัฒนธรรมเช่นนี้ ก็แพร่หลายไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทุกระดับของฝ่ายบริหาร เมื่อประชาชนไปติดต่อ ก็จำต้องมีซองขาวแนบไปด้วย ทุกคนคงทราบดี
ระบบบริหารบ้านเมืองที่ดี (Good public governance) และศีลธรรมอันดีของคนไทย และประเทศไทย ก็ค่อยๆจางหายไป ตามความยืนยาวของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่กำหนดให้ผู้ใช้อำนาจบริหาร (นรม. และ ครม.) มาจากฝ่ายนิติบัญญัติ
และฝ่ายนิติบัญญัติเอง ซึ่งกลายเป็นนักการเมือง ก็ต้องเล่นการเมือง เข้าไปสู่ธุรกิจการเมือง ต้องหาทางล้มรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ เพื่อพรรคฝ่ายค้านจะได้เข้ามาบริหารประเทศบ้าง
เสถียรภาพของรัฐบาล ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจึงไม่มีเลย
การพายเรือในอ่างก็เกิดขึ้น
ฝ่ายที่ทนเห็นรัฐบาลตามระบบนี้ ล้มลุกคลุกคลานบ้าง ทุจริตคอร์รัปชั่น หาเงินเข้าพรรคบ้าง และเข้าตนเองบ้าง ก็ลุกขึ้นมาปฏิวัติขับไล่คณะเก่าออกไป และพยายามให้มีการเลือกตั้งใหม่ หาคนดีๆ มาบริหารแทน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะยังเอาระบบเดิมมาใช้ คือให้พรรคการเมืองมาแข่งกันเข้ามาใช้อำนาจบริหาร
หลังจากปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 เรามีผู้ใช้อำนาจบริหาร (นรม., ครม.) ที่มาจากคณะราษฎร อาทิ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาบริหารบ้านเมืองอยู่ประมาณ 11 ปี จนถึง 1 สิงหาคม 2487
จากนั้นเราก็พายเรืออยู่ในอ่างอีก โดยเอาพรรคการเมืองเข้ามาใช้อำนาจบริหารบ้านเมืองอยู่ 3 ปีเศษ ใช้รัฐบาลอยู่ 7 คณะ จนถึงปี 2491
แล้วคณะรัฐประหารก็เข้ามาปกครองบ้านเมืองอีก 25 ปี จนถึง 14 ตุลาคม 2516 มีนายกรัฐมนตรีเพียง 3 คน (ไม่นับท่านที่เป็นอยู่ 27 วัน)
แล้วเราก็พายเรืออยู่ในอ่างอีก โดยเอา สส., สว. แห่งฝ่ายนิติบัญญัติ มาใช้อำนาจ 4 รัฐบาล ในเวลา 2 ปีเศษ จนถึงวันที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 11 พฤศจิกายน2520 และสืบทอดด้วยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รวมเป็นเกือบ 11 ปี จนถึงสิงหาคม 2531
ต่อมา ก็มีคณะอื่นๆ เข้ามาบริหารบ้านเมืองอีก โดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเช่นเดิม ให้ สส., สว. ของฝ่ายนิติบัญญัติ มาใช้อำนาจบริหารอีกจนถึง 1 ตุลาคม 2549 รวม 18 ปี มีรัฐบาลถึง 11 คณะ
แค่นี้ก็คงจะพอเห็นแล้ว ว่า การพายเรืออยู่ในอ่าง คืออะไร เมื่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ไม่ดีเพราะเอาฝ่ายนิติบัญญัติ (สส., สว.) มาใช้อำนาจบริหาร พอปฏิวัติรัฐประหารเสร็จ ก็ยังใช้ระบบเดิมอยู่ไม่คิดแก้ไขกัน บ้านเมืองจึงล้มลุกคลุกคลาน และเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น และการแตกแยก จนทุกวันนี้
ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยคิด หรือแบบที่มีความสมดุลแห่งอำนาจทั้งสาม เราน่าจะได้คนดี คนเก่ง จากนักบริหารมืออาชีพ ทั้ง 3 สาขา ได้แก่สาขาธุรกิจ สาขารัฐกิจ และสาขาประชากิจ เข้ามาบริหารบ้านเมือง แต่ละงวด 4 ปี ดังรายชื่อสมมุติของแต่ละสาขา ซึ่งนักบริหารมืออาชีพ (Professional Executives) ของแต่ละสาขา เลือกกันเองให้เข้ามาเป็นหัวหน้าผู้ใช้อำนาจบริหาร (นายกรัฐมนตรี) สาขาละ 10 คน ดังนี้ เช่น (ชื่อสมมุติ)
สาขาธุรกิจ บัณฑูร ชฎา กวินทร์ สนั่น ศุภชาติ ฐาปนัท วีรชัย บุญชาย ฯลฯ
สาขารัฐกิจ เศรษฐวุฒิ ประยุทธ อภิรัชต์ ชลิต คุรุจิตสุเมธ สุชาดา สุรผล ไพโรจน์ ฯลฯ
สาขาประชากิจ เกรียงศักดิ์ ชัดชาด สุชัชชวี ผานิด เตชะ ฯลฯ
จากนั้น ผู้ที่ผ่านรอบแรก สาขาละ 2 คน ก็มีสิทธิ์สมัครเข้ารับเลือกเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) ซึ่งมีนักบริหารมืออาชีพทั้ง 3 สาขา สาขาละ(เช่น) 100,000 คน เป็นองค์กรเลือกตั้ง (ElectoralBody) เราน่าจะได้นายกรัฐมนตรีชั้นยอด ที่จะบริหารบ้านเมืองไปสู่ความเป็นอารยประเทศเสียที
(อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับการกำหนดอายุของผู้มีสิทธิ์รับสมัครเป็น นรม. เหมือนกัน ว่าเราจะเอาแค่ 70 ปี หรือ 80 ปี)
ศิริภูมิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี