1 เมษายน 2568 ไม่คาดคิดเลยว่าจะเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ส่งผลกระทบถึงประเทศไทยในหลายจังหวัด โดยเฉพาะตึกสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร แรงสั่นสะเทือนส่งผลจนเกิดรอยแตกร้าว
โดยเฉพาะ อาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)แห่งใหม่ 30 ชั้น ตั้งอยู่เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเกิดการพังถล่มลงมา ซึ่งเป็นเพียงตึกเดียวในกรุงเทพฯที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจนพังถล่ม มีผู้เสียชีวิตและสูญหายติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังจำนวนมาก
ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงคุณภาพของการก่อสร้าง จนนำไปสู่การตรวจสอบเรื่องคุณภาพของการก่อสร้างว่าได้มาตรฐานหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากย้อนรอยไปเมื่อ 32 ปีที่ผ่านมา ก็เคยเกิดโศกนาฏกรรมที่ไม่มีวันลืม 'ตึกถล่มที่โคราช'
โรงแรมรอยัลพลาซ่า อยู่ใจกลางเมืองนครราชสีมา ตึก 6 ชั้น ถล่มลงมาเมื่อวันศุกร์ 13 สิงหาคม 2536 เวลา 10.12 น. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 137 ราย และบาดเจ็บ 227 ราย อาคารพังทลายหมด เหลือเพียงโถงลิฟท์โดยสาร ซึ่งสร้างแยกออกมาจากโครงสร้างอาคารที่เหลือ ที่ไม่ถล่มลงมาเท่านั้น
สำหรับสาเหตุตึกถล่มในครั้งนั้น เกิดจากการถล่มของโครงสร้างอาคารอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเกิดจากการคืบของดิน จนเสารับน้ำหนักในชั้นดินเกิดถล่มตามๆกันจนหมด อันเป็นผลให้อาคารเกือบทั้งหมดถล่มลงมา ผู้รอดชีวิตบางส่วนได้รับการกู้ภัยหลังติดอยู่ภายใต้ซากอาคาร จากการโทรศัพท์มือถือติดต่อ
ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นระบุว่า เกิดจากการฝ่าฝืนข้อบังคับในการก่อสร้างและความไม่เป็นมืออาชีพของวิศวกรโครงสร้าง ภายหลังเหตุการณ์เจ้าของอาคารและบุคคลอื่นอีก 5 รายถูกตำรวจจับกุมในที่สุด
'ตำรวจพบหลักฐานการประชุมเมื่อปี 2530 ระบุว่าได้เกิดรอยร้าวตามฝาผนัง ซึ่งกรรมการบริหารทราบดี แต่ปกปิดและโบกปูนปิดไว้ กระทั่งปี 2534 ได้ต่อเติมห้องพักบนชั้น 5-6 เพื่อให้ทันกับการใช้งานจัดประชุม ต่อมาก็มีรอยร้าวที่บันไดขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้รับความสนใจที่จะแก้ไข
หลังการสอบสวนมีการสรุปว่า การถล่มของโรงแรมมาจากฐานเสาคอนกรีตเสริมเหล็กเดิม ไม่สามารถรองรับน้ำหนักการต่อเติมได้ เมื่อมีแรงกดดันมาก จึงทำให้อาคารถล่ม ถือว่าเป็นความประมาทของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มเติม โดยไม่ได้ดูแบบแปลนเดิม'
การค้นหากู้ภัยกินระยะเวลานาน 20 วัน จนกระทั่งสิ้นสุดในวันที่ 3 กันยายน 2536
ทั้งนี้ ตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่า เป็นอาคารที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและมีการใช้งานเรื่อยมา แต่เกิดปัญหาโครงสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ประกอบกับความประมาทของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น
ขณะที่ ตึก สตง. เป็นอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ยังเป็นโครงสร้างไม่มีการตกแต่งใดๆ แต่เกิดการถล่มลงมา จึงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันว่า เกิดจากโครงสร้างเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน
ตึกทั้งสองแห่งถล่ม อาจต่างวัน ต่างเวลา ต่างสถานที่
แต่สาเหตุที่ถล่มลงมานั้น มาจากสาเหตุเดียวกัน คือการก่อสร้างที่ไม่มาตรฐาน
ตึก สตง.ถล่มจึงไม่ใช่เคสแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และหวังว่าจะเป็นบทเรียน หลังจากนี้คงจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก
ตึกถล่มโคราช และ ตึกถล่มกรุงเทพฯ โศกนาฏกรรมเดิม ที่คนไทยไม่มีวันลืม...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี