คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดอบรม “กรณีศึกษาจากการตรวจอาคารจากแผ่นดินไหว ข้อกฎหมาย และแนวทางการตรวจสอบ” เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา โดย นายสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข อุปนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยผลการตรวจสอบอาคารใน กทม. โดยทีมวิศวกรอาสา หลังได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568
ซึ่งจากทั้งหมดกว่า 200 อาคารที่เข้าไปตรวจสอบ พบว่าส่วนใหญ่ยังมีความมั่นคงแข็งแรง มีความสามารถรับแรงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น มาตรฐานการก่อสร้างในกรุงเทพฯ ยังถือว่าใช้งานได้ และไม่น่าจะมีปัญหากับอาฟเตอร์ช็อกที่ตามมา โดยปัญหาที่พบมักเป็นผนังแตกร้าว ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากกว่านี้ อนึ่ง อาคารที่ไปสำรวจมีสร้างก่อนและหลังมีกฎหมายปี 2550 ที่กำหนดให้ต้องออกแบบให้ทนต่อแผ่นดินไหว แต่ก็ไม่พบปัญหาทั้งคู่
“ผมว่าขึ้นกับ Shape (รูปร่าง) ของอาคารด้วย โดยเฉพาะอาคารคอนโดมิเนียมในยุคใหม่ ประเภทอาคารที่สูงๆ แล้วมีเสายึด 2 ต้น แตกร้าวมากกว่าอาคารยุคเก่าที่มีเสาค่อนข้างใหญ่แล้วไม่เป็นลักษณะแบนๆ ยาวๆ ผมว่า Shape ของอาคารน่าจะมีผลต่อแผ่นดินไหวมากกว่า ส่วนอาคารที่มีการก่อสร้างก่อนที่กฎหมายแผ่นดินไหวออก ผมเชื่อว่ามี Safety Factor (ค่าความปลอดภัย) ในอาคารเหลือพอควร แล้วการออกแบบในสมัยก่อนค่อนข้าง Conservative (อนุรักษ์นิยม) มากกว่าในปัจจุบัน ผมว่าไม่ค่อยมีผลเทียบกับอาคารสมัยเก่ากับสมัยปัจจุบัน ว่ามีผลต่อเรื่องการรับแรงแผ่นดินไหวอาคารแบบไหนมีมากกว่ากัน ดูไม่ออก” นายสมจิตร์ กล่าว
อุปนายก วสท. กล่าวต่อไปว่า เท่าที่ไล่ดูภาพต่างๆ ที่ไปถ่ายกันมา เชื่อว่าหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ต้องมีการพูดคุยกันระหว่างสถาปนิก วิศวกรและเจ้าของอาคารมากขึ้น ทำความเข้าใจกันใหม่ว่าอาคารที่เกิดรอยร้าวมีปัญหาอันตรายหรือไม่ ซึ่งวิศวกรสามารถออกแบบให้โครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหวได้ แต่ที่ยังไม่พูดถึงกันคือสิ่งที่อยู่ในอาคารเกิดการแตกร้าวสามารถทำให้ไม่แตกได้หรือไม่
โดยส่วนตัวหากวิศวกรยังไม่สามารถต่อรองหรือพูดคุยกับสถาปนิกที่อยากได้โครงสร้างแบบบาง (Slim) เสาหรือรูปร่างอาคารเล็ก สุดท้ายก็จะกลับไปเหมือนเดิม เพราะการออกแบบอาคารให้มั่นคงแข็งแรงไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิศวกรเพียงฝ่ายเดียว สถาปนิกและความต้องการการออกแบบมีผล รูปร่างของอาคารมีผล ทั้งนี้ การแบ่งระดับความเสียหายของอาคารมีตั้งแต่ 1.สีเขียว อาคารที่โครงสร้างยังมั่นคงแข็งแรง แต่มีปัญหารอยแตกร้าวของผนังส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง อาคารประเภทนี้สามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยได้
2.สีเหลือง อาคารที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงสร้างบางส่วน ในขณะที่บางส่วนไม่ได้รับความเสียหาย จะมีมาตรการจำกัดการใช้งาน โดยปิดกั้นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และ 3.สีแดง อาคารที่มีความเสี่ยงในการใช้งาน ซึ่งจำเป็นต้องประกาศห้ามใช้อาคาร อนึ่ง นอกจากการเข้าไปตรวจสอบความเสียหายแล้ว วิศวกรยังต้องให้ความรู้กับประชาชนด้วยว่ารอยร้าวแบบใดไม่มีผลกับโครงสร้างแต่ต้องระวังเรื่องการร่วงหล่นของวัสดุตกแต่งอาคาร
รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวถึง “กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวพ.ศ. 2564” จะแบ่งพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเป็น 3 ระดับ และมีข้อกำหนดการออกแบบและก่อสร้างอาคารในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันไป
คือ 1.บริเวณเฝ้าระวัง (บริเวณที่ 1) อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวแต่ข้อมูลยังไม่ชัดเจนจึงให้เฝ้าระวังไว้ก่อน 2.บริเวณที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในระดับปานกลาง (บริเวณที่ 2) ซึ่งกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งตั้งอยู่ในแอ่งดินอ่อนจะอยู่ในกลุ่มนี้ และ 3.บริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อน (บริเวณที่ 3) ซึ่งจะเป็นจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือและภาคตะวันตกหากเกิดแผ่นดินไหวน่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม แม้จะออกแบบโครงสร้างอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้ แต่การใช้งานอาคารไม่ได้มีแต่โครงเปล่าๆ ยังมีผนังด้วย ดังนั้น เมื่อแรงจากแผ่นดินไหวทำให้อาคารโยกตัวก็จะเห็นผนังแยกออกจากตัวเสาและเริ่มแตกร้าวเสียหายแม้โครงสร้างจะยังรับน้ำหนักได้อยู่ แต่หากเป็นอาคารเก่าหรืออาคารที่ออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้ไม่ดีพอ จากผนังเสียหายก็จะเข้าไปถึงโครงสร้างเสียหาย
ดังนั้น สิ่งที่อยากให้เน้นเวลาสำรวจอาคาร คือเสา – คานในส่วนที่เป็นโครงสร้างว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อความปลอดภัยของอาคาร ขณะที่คำถามเรื่องอาคารเก่าสร้างก่อนปี 2550 จะสามารถรับแผ่นดินไหวได้หรือไม่ อาคารที่สร้างก่อนปี 2550 ถูกกำหนดในกฎกระทรวงว่าต้องออกแบบให้รับแรงลม ดังนั้น โดยหลักการก็น่าจะต้านทานแผ่นดินไหวได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องประเมินอีกครั้งว่าสามารถรับได้ในระดับใด
“ตรงนี้ต้องแยกเป็น 2 คำถาม 1.อาคารได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวหรือเปล่า? ถ้าเราประเมินด้วยสายตา ประเมินอย่างรวดเร็วอันนี้คงพอบอกได้ ถ้าโครงสร้างไม่เสียหายก็แปลว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดก็คงไม่ส่งผลกระทบกับเสถียรภาพอาคาร แต่ถ้าจะถามต่อไปว่า 2.แล้วอาคารสามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้แค่ไหน? หรือเป็นอาคารเก่าจะต้านทานในระดับที่มาตรฐานกำหนดในปัจจุบันได้ไหม? อันนี้วิศวกรเขาต้องไปวิเคราะห์ประเมิน ถ้าประเมินแล้วไม่พอก็ทำการเสริมกำลังได้” รศ.ดร.สุทัศน์ กล่าว
รศ.ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า ในประเทศไทยมี “คู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว” จัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองซึ่งอธิบายไว้ทั้งอาคารไม้ อาคารเหล็ก และอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยในส่วนของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนกังวลจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีการสำรวจใน 2 ระดับ
คือ 1.การสำรวจขั้นต้น แม้ไม่ใช่วิศวกรก็สามารถดูได้ด้วยตนเอง ใช้สายตาเป็นหลักและมีอุปกรณ์ช่วยเพียงตลับเมตรหรือไม้บรรทัดเพื่อขีดไว้ติดตามความเสียหายในระยะถัดไป เช่น มีรอยร้าวเกิดขึ้นตรงไหนบ้าง เป็นรอยของโครงสร้างหลักหรือไม่ กับ 2.การสำรวจโดยละเอียด กรณีพบความเสียหายกับโครงสร้างหลักแต่ยังไม่ถึงขั้นอาคารพังถล่มลงมา ซึ่งอาจต้องระงับการใช้งานอาคาร และต้องใช้เครื่องมือเทคโนโลยีในการสำรวจ
“เราไม่จำเป็นต้องทำในทุกอาคาร การตรวจอย่างละเอียดจะมีค่าใช้จ่ายสูง มันต้องใช้วิศวกรที่มีความชำนาญ ใช้เครื่องมือเยอะ เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นหากท่านสำรวจโดยอย่างง่ายแล้ว สำรวจแบบรวดเร็วแล้วพบว่าอาคารของท่านไม่ได้มีความน่ากังวลใจนัก มีรอยแตกร้าวในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างหลัก ก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องไปตรวจแบบละเอียดเสมอไป” รศ.ดร.ชัยณรงค์ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี