สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เทลสกอร์ จำกัด และบริษัท เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง จำกัด จัดงานเสวนา “Future of Creator Economy: การขับเคลื่อนนโยบายและเปิดโครงการ Thai Creator for Real Business Workshop” เพื่อเปิดตัวโครงการวิจัยและพัฒนาแนวนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจครีเอเตอร์ของไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจครีเอเตอร์ให้เติบโตอย่างเป็นระบบผ่านการออกแบบนโยบาย พัฒนาทักษะและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพของครีเอเตอร์อย่างยั่งยืน
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ผ่านการนำภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การลงทุน การจ้างงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า และในปัจจุบันเศรษฐกิจครีเอเตอร์ นอกจากจะเป็นกลไกสำคัญที่จะยกระดับศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อจีดีพีและการจ้างงาน
“จากผลสำรวจพบว่า ธุรกิจคอนเทนต์สร้างรายได้ให้คนไทย เกือบ 9 ล้านคน ทั้งในอาชีพหลักและอาชีพเสริม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 45,000 ล้านบาท ด้วยการเติบโตของแพลตฟอร์มดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผู้สร้างคอนเทนต์กลายเป็นแรงงานสำคัญที่สามารถสร้างรายได้ผ่านการผลิตเนื้อหาในรูปแบบต่างๆ เปิดโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ ที่มีการทำงานในรูปแบบที่หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่” ผู้อำนวยการ สอวช. ระบุ
ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดี (ด้านวิชาการ) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า เศรษฐกิจครีเอเตอร์ไม่ใช่แค่การผลิตคอนเทนต์หรือการหารายได้ของครีเอเตอร์ระดับปัจเจก แต่เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องการการออกแบบเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นของการพัฒนาเนื้อหา ไปจนถึงปลายน้ำของการสร้างรายได้ และทรัพย์สินทางปัญญา เราจึงออกแบบโครงการนี้ให้ศึกษาทั้งห่วงโซ่คุณค่า และระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง เพื่อระบุช่องว่างเชิงนโยบายและหาแนวทางสนับสนุนที่เหมาะสมกับบริบทไทย การวิจัยเชิงระบบจะดำเนินงานควบคู่กับการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ครีเอเตอร์ไทยไม่เพียงเติบโตในฐานะผู้ผลิตเนื้อหา แต่สามารถสร้างธุรกิจ สร้างอาชีพ และมีบทบาทในเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศมีระบบเศรษฐกิจที่หลากหลาย และขับเคลื่อนด้วยศักยภาพของครีเอเตอร์ นักสร้างสรรค์อย่างแท้จริง
ด้าน รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะเสพสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นด้านศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเข้าถึงง่ายและอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่คอนเทนต์ด้านวิทยาศาสตร์ก็มีความสำคัญและเป็นเรื่องที่ท้าทาย เช่น การให้ความรู้หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งสะท้อนโอกาสในการผสมผสานศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่ให้ทั้งความรู้ ประโยชน์ทางธุรกิจ และอยู่ในกรอบจริยธรรมที่เหมาะสม นอกจากนี้ การดูแล Creator Economy ต้องมองทั้ง “ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง” ตั้งแต่การจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ทีมหลังบ้านมืออาชีพ กรอบการวิจัยที่ชัดเจน ไปจนถึงการวางกรอบคุณธรรมจริยธรรมของการผลิตคอนเทนต์
ขณะที่ น.ส.สุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นบทบาทของครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ขยายตัวจากผู้ผลิตคอนเทนต์บนโลกออนไลน์สู่การเป็นผู้ประกอบการสื่อ เป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ และแรงขับเคลื่อนสำคัญของแบรนด์ สังคม และวัฒนธรรม เราเชื่อว่า “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” ไม่ได้เป็นเพียงอาชีพทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็น “Creative Workforce” ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล หากได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ และยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากได้ใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการพัฒนาธุรกิจ สร้างรายได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน
น.ส.รษิกา พาณีวงศ์ เจ้าของช่อง “Soft Raziqaa” กล่าวว่า ตนมองว่า ครีเอเตอร์ ต้องมีทักษะในการปรับตัว มีวินัย มีความกล้าลองผิดลองถูก และมีความยืดหยุ่นสูง เพราะทุกการทดลองอาจจะสำเร็จหรือล้มเหลว นอกจากนี้ การมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการสำคัญมาก เพราะหากทำงานแค่ในฐานะคนสร้างคอนเทนต์ เราอาจจะทนเจ็บได้ไม่มากเท่ากับทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ ที่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และจะหาแผนเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร
ทั้งนี้ กิจกรรมอบรมดังกล่าวจะจัดขึ้นใน 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น (31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2568) พิษณุโลก (7 – 8 มิถุนายน 2568) และกรุงเทพมหานคร (14 – 15 มิถุนายน 2568) โดยเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมเพียง 120 คน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 30 เมษายน 2568 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ที่: https://forms.gle/YH516aSmF3PkFAS56
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี