เข้าสู่หน้าร้อนทุกปี สิ่งที่ต้องระมัดระวังกันคือ “โรคลมแดด (Heat Stroke)” ซึ่งหากเป็นคนที่ทำงานในห้องแอร์อาจยังพอหลบเลี่ยงอุณหภูมิสูงๆ ในช่วงกลางวันได้บ้าง แต่กับคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งผจญกับแสดงแดดแทบจะตลอดเวลา ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หนึ่งในนั้นคือเหล่า “ไรเดอร์” ขี่มอเตอร์ไซค์รับงานส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น โดยเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา มีวงเสวนา (ออนไลน์) “มีนาร้อนเกิ๊น !! ฮีทสโตรกร้อนจัด!!” จัดโดยเพจเฟซบุ๊ก Healthy Rider สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความรู้การดูแลตนเองในการทำงานท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้
ผู้ดำเนินรายการ 2 ท่าน รัฐธรรมนูญ พิชัยกุล ฉายภาพให้เห็นก่อนว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนประจำปี 2568 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2568 และจะไปสิ้นสุดในช่วงกลางเดือน พ.ค. 2568 ตามการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ขณะที่ ประภาพร ผลอินทร์ กล่าวเสริมว่า กลุ่มเสี่ยงกับโรคลมแดด นอกจากไรเดอร์แล้วยังมีเกษตรกร นักกีฬา พนักงานกวาดถนน รวมถึง “กลุ่มเปราะบาง” อย่างเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคอ้วนมีไขมันสูงหรือมีโรคประจำตัว ไปจนถึงคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
วิทวัส ทองกูล ไรเดอร์ในกรุงเทพฯ เล่าว่า ตนวิ่งงานทั่วทั้งกรุงเทพฯ แต่มองว่า “พื้นที่ที่น่าห่วงที่สุดคือกรุงเทพฯ ชั้นใน” เพราะมีสภาพการจราจรคับคั่ง มวลของฝุ่นที่แน่นหนา บวกกับไรเดอร์เป็นอาชีพที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา แบกรับทั้งความเหนื่อยล้าทางร่างกายและความเครียดทางจิตใจ ทำให้ตนต้องพยายามพักผ่อนให้เพียงพอ เฉลี่ย 8-10 ชั่วโมงต่อวัน และเมื่อออกไปทำงานต้องพกน้ำดื่มติดตัวไว้ เพราะการทำงานท่ามกลางแสงแดดร่างกายจะเสียน้ำตลอดเวลา หากไม่ดื่มน้ำอาจทำให้เกิดอาการวูบได้ และเมื่อรถล้มก็อาจถูกรถที่ตามมาด้านหลังเฉี่ยวชน กลายเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงถึงชีวิต
“ถ้าผมรู้สึกว่าร่างกายไม่ไหวก็จะแวะปั๊มน้ำมัน คือปั๊มน้ำมันเป็นจุดพักอยู่แล้ว ก็อาจล้างมือ –ล้างหน้าเพื่อให้เกิดความสดชื่น ถึงเราจะรู้ว่างานเราต้องเร่งรีบส่งลูกค้า เราสามารถโทรไปหาลูกค้า อาจจัดส่งได้ช้าเล็กน้อยแต่ว่าสิ่งสำคัญคือเรื่องของอุบัติเหตุ ก่อนที่เราจะส่งของให้ลูกค้าราต้องเซฟตัวเราก่อน ถ้าร่างกายเราไม่พร้อมแล้วออกไปทำงานสินค้าก็ไม่ถึง แล้วค่าใช้จ่ายที่เรารับสินค้ามาบริษัทเขาไม่ได้ช่วยอะไรเราอยู่แล้ว เราก็ต้องชดใช้เอง ฉะนั้นเซฟเขา – เซฟตัวเราด้วย” วิทวัส กล่าว
จากเมืองหลวงลงไปภาคใต้ ธัญญ์นรี จารุประสิทธิ์ ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ไรเดอร์ทำงานอยู่บนท้องถนนเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงทั้งฝุ่น PM2.5 อากาศร้อนและอุบัติเหตุ ในส่วนของ จ.กระบี่ แม้จะไม่ค่อยมีปัญหาฝุ่น แต่เนื่องจากการเป็นจังหวัดทางภาคใต้ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องอากาศร้อนชื้น ไรเดอร์ในพื้นที่ดังกล่าวมักพบปัญหาป่วยด้วยโรคปอด เป็นหวัดเรื้อรัง เมื่อบวกกับฤดูฝนอันยาวนาน 5 – 8 เดือนของภาคใต้ ยังทำให้เกิดเชื้อราในร่มผ้าเพราะซักผ้าแล้วต่างให้แห้งไม่ทัน
“โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นไรเดอร์ เวลาที่เรามีประจำเดือนมันจะทำให้เรารู้สึกเหนอะหนะไม่สบายตัว มันส่งผลต่อทั้งร่างกาย ทั้งสภาพจิตใจของเราด้วย ผู้หญิงเวลาเป็นประจำเดือนก็หงุดหงิดอยู่เดิมอยู่แล้ว แล้วมาเจออากาศร้อนอีก แล้วมาเจอความเร่งรีบที่เราจะต้องไปส่งอาหารให้กับลูกค้าอีก มันส่งผลต่อเนื่องกันไปหมดเลย อยากฝากประเด็นเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ไว้ด้วย” ธัญญ์นรี กล่าว
ขณะที่ตัวแทนไรเดอร์ภาคเหนือ ก้องกังวาฬ ทองปัญญา ไรเดอร์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเมื่อเข้าหน้าร้อนสภาพอากาศจะย่ำแย่มาก โดยเฉพาะค่าฝุ่น PM2.5 ที่พุ่งสูง ทำให้เมื่อจะออกไปทำงานต้องพกหน้ากากอนามัยไม่ต่ำกว่า 3 ชิ้น ยาดม ยาหม่องและเครื่องดื่มเกลือแร่ นอกจากนั้นยังต้องพกของกินที่มีรสเปรี้ยว เช่น ลูกอม เพื่อให้รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา “ลำพังการพกน้ำไว้จิบไม่เพียงพอ” เพราะเคยเจอบางคนแม้จะทำเช่นนั้นแต่ก็ยังมีอาการหน้ามืดและวูบมาแล้ว
“อย่างผมขนาดว่ากินน้ำเยอะแล้วนะ อากาศร้อนๆ แบบนี้มันก็มีอาการข้างเคียงที่จะเป็น Heat Stroke อันดับแรกคือวิงเวียนศีรษะ วูบ แบบถ้าตัด 1 วินาที แล้วประคองรถกลับมาได้ อันนี้มันอันตรายมาก พอเราไปส่งอาหารหรือส่งถึงบ้านลูกค้าเสร็จ เราต้องตั้งสติแล้วจอดรถพักเลย ก็คือไม่ดันต่อ ต้องรีบไปหาใต้ร่มไม้หรือไม่ก็ต้องไปร้านสะดวกซื้อ ซื้อผ้าเย็นมาเช็ดหน้า” ก้องกังวาฬ ระบุ
ไรเดอร์จากภาคเหนือผู้นี้ ยังฝากเตือนเรื่อง “การพักผ่อนให้เพียงพอ” ซึ่งสำคัญมาก เพราะต่อให้เตรียมตัวดีเพียงใด แต่ด้วยสภาพร่างกายที่ฝืนกับสภาพอากาศเพราะอยากทำยอดให้ได้มากๆ อย่างที่เคยเจอคนที่เลิกงานตี 2 เข้านอนตี 3 และกลับมาทำงานตอน 8 – 9 โมงเช้า แล้วไปเกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์ในตอนกลางคืน ทั้งที่ใช้ความเร็วเพียง 30 – 40 กม./ชม. เมื่อมีโอกาสได้สอบถามในภายหลังก็ได้รับรู้ว่า ไม่กี่วินาทีก่อนเกิดอุบัติเหตุ ขณะที่กำลังขี่มอเตอร์ไซค์ออกตัวหลังสัญญาณไฟแดงเปลี่ยนเป็นไฟเขียว จู่ๆ ก็ไม่รู้สึกตัว มารู้อีกทีคือเกิดอุบัติเหตุแล้ว
ดร.อรพินธ์ อันติมานนท์ รองผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ให้คำแนะนำ เช่น หากเป็นคนที่มีโรคประจำตัวยิ่งต้องระมัดระวังและประเมินตนเองสำหรับการทำงานที่ใช้เวลายาวนานแบบฝืนร่างกาย (ควงกะ หรือ Workload) , ควรสังเกตอาการ เช่น มึนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมร้อน (ลมแดดหรือ Heat Stroke) นำไปสู่อาการวูบหมดสติและเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าวให้รีบหาที่ร่มเพื่อหยุดพักทันที ‘
หลีกเลี่ยงการดื่มชา – กาแฟเพราะคาเฟอีนจะเร่งให้ใจสั่นและเกิดอาการขาดน้ำ , การทำงานท่ามกลางสภาพอากาศร้อนอาจเกิดอาการตาล้าได้ หากมีอาการปวดหรือเมื่อยตาให้ใช้มือ 2 ข้างกดเบาๆ นิ่งไว้สัก 3 วินาที หรือมองไปที่ไกลๆ ในที่ที่มีสีเขียวก็ช่วยลดอาการได้ หรือล้างหน้าซึ่งความเย็นจะช่วยให้ตาหายล้าได้ ส่วน “การปฐมพยาบาล” ให้พาเข้าที่ร่มโดยเร็วที่สุด คลายเสื้อผ้าให้สบายตัว หาน้ำเย็นมาชุบด้วยผ้าแล้วเช็ดที่ใบหน้าและตามร่างกาย โดยเฉพาะในจุดอับที่กักความร้อน (เช่น ซอกรักแร้) และหากหาพัดลมได้ก็ให้เปิดจ่อในบริเวณดังกล่าวได้
“การนอนจริงๆ คือนอนราบ เขาบอกว่าตามทฤษฎีจริงๆ ให้ยกเท้าสูง ที่มีไรเดอร์บอกว่าหน้าซีด อันนี้ถูกต้องเพราะเลือดไปเลี้ยงสมองน้อย ฉะนั้นการนอนแล้วให้ผู้ป่วยยกเท้าสูงจะช่วยในเรื่องของให้เลือดไหลเวียนไปที่บริเวณศีรษะมากขึ้น เช็คระดับความรู้สึกตัว เพราะถ้าเราจู่ๆ เอาเครื่องดื่มหรือน้ำให้เขาดื่มแต่ระดับความรู้สึกตัวเขากำลังน้อยลง จะไปแล้ววูบแล้ว หรือหมดสติ มันจะทำให้เกิดอาการสำลักได้ ฉะนั้นถ้าจะให้ดื่มน้ำเย็นหรืออะไรพวกนี้ ให้เช็คระดับความรู้สึกตัวโดยการเรียก การเขย่าตัว ถ้าเขายังตอบรับเราก็ค่อยๆ ให้กินน้ำ” ดร.อรพินธ์ กล่าว
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี