นับวันตัวเลขคนเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้ายิ่งมีมากขึ้น เป็นผลสะท้อนมาจากการปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยที่เริ่มเมื่อหลายปีก่อนเป็นต้นมา มีการปรับรูปแบบอุปกรณ์การสูบที่มีเจตนาชัดเจนว่าหวังได้ลูกค้าที่เป็นเด็กให้เข้ามาสู่วงจรความตายนี้มากขึ้น
ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะสถิติในการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าที่ออกมาในแต่ละครั้งก็ชัดเจน ทั้งผลสำรวจที่ผ่านๆ มาล้วนเป็นไปเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ล่าสุด ในงานรณรงค์เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ “บุหรี่ไฟฟ้ามันร้าย” พร้อมเสวนา “สงกรานต์นี้เลิกเถอะ...หยุดเอาควันบุหรี่ไฟฟ้าไปฝากคนที่บ้าน” ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ครอบครัวปลอดบุหรี่ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กลุ่มไม้ขีดไฟ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้นยิ่งเห็นได้ชัดขึ้น
ธนภัทร แสงหิรัญ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ภาคอีสาน เปิดเผย สำรวจความเห็นกลุ่มตัวอย่าง 1,435 คน ใน 12 พื้นที่ชุมชนทั่วประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2567 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีช่วงอายุระหว่าง 10-20 ปี โดย 86.3% รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า 38.3% มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 53.0% มีคนรอบตัวสูบบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ เพื่อน ญาติ คนที่เคารพ พ่อแม่ และครู ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 51.7% รู้แหล่งซื้อบุหรี่ไฟฟ้าในชุมชน ในขณะที่ 48.3% ไม่รู้ และกว่า 91.3% พบว่าเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้โดยง่าย และเมื่อถามว่าการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนมีปัญหาต่อชุมชนหรือไม่ พบว่า 47.9% เห็นว่าเป็นปัญหามาก และ 39.7% เริ่มมีปัญหา
“จากการลงไปทำงานในพื้นที่กับกลุ่มเด็กและเยาวชน จะเห็นได้ว่าคนรอบตัวทั้งเพื่อน ครอบครัว และชุมชนมีส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่แปลกที่น้องๆ เด็กๆ ในชุมชนจะมีเปอร์เซ็นต์ที่การสูบบุหรี่เยอะ ด้วยวัยที่กำลังอยากรู้ อยากลอง”
ธนภัทร บอกว่า สิ่งที่เราทำได้คือนำข้อมูลจากคุณหมอหรือหน่วยงานที่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือไปสื่อสารกับน้องๆ โดยใช้กลไกของโรงเรียนเป็นพื้นที่จัดกระบวนการเสริมสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และลงพื้นที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง จนส่วนหนึ่งกล้าถอยห่างจากบุหรี่ไฟฟ้าและมาเป็นผู้สื่อสารโทษของบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเพื่อนๆ ต่อไป แต่ที่กังวลคือ น้องๆ บางคนอยากเลิก หรือปฏิเสธบุหรี่ไฟฟ้า แต่คนในครอบครัวยังสูบปกติ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจังในตอนนี้ เราจึงเตรียมจะเก็บข้อมูลในแต่ละพื้นที่อีกครั้งเพื่อดูผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ด้าน ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผอ.ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านยาสูบ กล่าวว่า ผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้ารุนแรงมาก ทั้งปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) ทำลายเนื้อปอดจนขาว หากเข้าไอซียูโอกาสจะฟื้นฟูกลับมายากมากยิ่งปัจจุบันพบเด็กป่วยอายุน้อยลงเรื่อยๆ แค่ 11 ขวบก็ปอดรั่ว ป่วยหนักเข้าไอซียู ยิ่งปัจจุบันพบว่ามีการทำพอตเป็นรูปการ์ตูนนั่นแปลว่าเขาพุ่งเป้าไปที่เด็กแน่นอน และจากการศึกษายังพบด้วยว่า เด็กผู้หญิงสูบมากกว่าผู้ชาย เพราะเห็นว่ามีกลิ่นหอมเย้ายวนโดยไม่ต้องใช้น้ำหอม โดยเด็กผู้หญิงที่สูบ 20% เคยสูบ 72% ส่วนผู้ชายสูบ 68% และจากผลสำรวจระดับชาติกลุ่มอายุ 13-15 ปี ในปี 2558 ทั้งสองเพศ มีเด็กสูบบุหรี่แค่ 3.3% พอปี 2565 เพิ่มเป็น 17.6% เมื่อจำแนกตามเพศ พบผู้ชายแม้จะสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 20% จากปี 2565 ในขณะที่ผู้หญิงอยู่ที่ 15% แต่ดูจากสัดส่วนการเพิ่มขึ้นผู้ชายเพิ่มขึ้น 4 เท่า แต่เด็กผู้หญิงเพิ่มขึ้น 8 เท่า
“ในไอของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน นอกจากนี้ยังมีสาร Vegetable กรีเซอรีน วิตามินอี โพรไพกอน วิตามินดี ฟังเหมือนดูดีหากเอามารับประทานหรือพาบำรุงผิว แต่ถ้าลงไปสู่ปอดก็จะกลายเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะไปเกาะกับสารแต่งกลิ่นต่างๆ รวมทั้ง โลหะหนักในบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้มีอนุภาคที่เล็กกว่า PM 2.5 คือ PM1.0 จึงไม่น่าสงสัยส่วน PM2.5 พบค่าสูงถึง 220 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่บุหรี่มวนอยู่ที่ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร”
ดร.ลักขณา กล่าวต่อว่า สารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะกระตุ้นประสาททำให้หลอดเลือดแข็งตัว ทำให้เกิด Stroke ยิ่งนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า 1 พอร์ตเท่ากับบุหรี่มวน 20 มวน หากสูบมากทำให้หัวใจหยุดเต้น ปอดอักเสบเรื้อรัง หากเด็กเล็กได้รับจะยิ่งเสี่ยงมากเพราะอวัยวะทุกส่วนยังไม่เติบโตเต็มที่ สมองสั่งการช้า คิดช้า พูดช้า อารมณ์ร้อน ฉุนเฉียว เสี่ยงเป็นซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และระยะหลังพบเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น
ที่ห่วงมากนิโคตินจะไปมีผลต่อสารที่หลังต่อสมองทำให้เด็กควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ทำให้เกิดความรุนแรงความจำไม่ดีการคิดวิเคราะห์ได้ช้าพูดจาโต้ตอบช้าลง นอกจากนั้นงานวิจัยยังพบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น หากซึมเศร้าระยะ 3 เด็กอาจจะฆ่าตัวตายได้ ซึ่งปัจจุบันเด็กเป็นซึมเศร้ามากขึ้น ช่วงแรกเหมือนสูบแล้วหายเครียด แต่ต้องเพิ่มนิโคตินไปเรื่อยๆ
ห่วงที่สุดคือหญิงตั้งครรภ์เพราะนิโคตินเป็นสารเสพติด เราวิจัยเด็ก 10 คน 7 คน จะติดนิโคตินไปตลอดชีวิต มีเพียง 3 คนที่เลิกได้แล้วถ้ามีคนสูบตั้งแต่ ป.4 ป.5 คิดว่าเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ตั้งครรภ์แล้วเขาจะเลิกได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องยาก เมื่อแม่สูบลูกก็ได้ด้วย และอย่างที่บอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าฟ้าทำให้เส้นเลือดตีบ จึงจะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงทารกได้น้อยเกิดภาวะรกเกาะต่ำ เสี่ยงที่เด็กจะเสียชีวิตในครรภ์จากครรภ์เป็นพิษถ้าเด็กเกิดรอดผลกระทบต่อมาคือน้ำหนักตัวจะน้อย
“จริงๆ โรคหลายๆ โรคที่คนเราเจ็บป่วยนั้นเป็นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ดังนั้นเด็กผู้หญิงสูบ มากกว่าผู้ชายแล้วยังมีสถิติว่าเลิกยากกว่าผู้ชายอีกคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวันเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนไม่สูบ 2 ถึง 3 เท่า โอกาสเป็น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะถึง 4 เท่าของคนปกติ โอกาสป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 2.79 เท่าของคนไม่สูบ คนที่ป่วยอยู่แล้วก็จะอาการรุนแรงมากขึ้นฮอร์โมนเพศชายลดลง ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวมีโอกาสที่อัณฑะจะเล็กลงเซ็กซ์เสื่อมได้ จึงขอฝากส่งท้ายว่า สงกรานต์นี้...ไม่พี้บุหรี่ไฟฟ้า”
และอีกหนึ่งเสียงสะท้อนมุมมองของคนที่ไม่สูบ แต่เจอและได้รับผลกระทบตามไปด้วย คือ จาด้า อินโตร์เร นักแสดง บอกว่า ปัจจุบันคนยังมีความเชื่อความคิดแบบเก่าๆ ว่า บุหรี่ไฟฟ้าสูบได้ไม่อันตราย ขณะที่ การให้ความรู้เพิ่มเติมว่ามีอันตราย ในปัจจุบันจะมีการพูดแต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้คนรับรู้ถึงอันตรายนั้น โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งตนทำงานกับเด็กวัยรุ่นรู้สึกว่า ตอนนี้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นแฟชั่นหาซื้อได้ง่ายและการวิจัยระยะยาวที่บอกว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรงก็ยังไม่มากพอทั้งนี้ คิดว่า การสูบบุหรี่ในวัยเด็กมันก็จะเข้าสู่ผู้ใหญ่ การที่บุหรี่ไฟฟ้ามีรสชาติหอมหวาน เหมือนเป็นการ เคลือบแฝงว่ามันดี สูบได้ในที่สาธารณะ ส่งผลกระทบให้คนที่ไม่สูบได้รับความบุหรี่มือสองตามไปด้วย
“ขึ้นชื่อว่าเป็นบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าย่อมเกิดโทษอยู่แล้วดังนั้นขอฝากทุกคนว่าช่วงเวลาสงกรานต์เป็นเวลาแห่งครอบครัว ไม่อยากให้นำบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า กลับไปที่บ้านเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีกับตัวเองและครอบครัวด้วย”
อีกด้านหนึ่งคือ คนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจริง และได้รับผลกระทบจริง อย่าง ทรงพล จิรอัศวแก้ว ผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ เล่าว่า ตัวเขานั้นเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่มวนมาเป็นบุหรี่ไฟฟ้าได้ 3 ปี เพราะราคาบุหรี่ไฟฟ้าถูกกว่า โดยบุหรี่มวนที่เคยสูบตกวันละ 80 บาท แต่บุหรี่ไฟฟ้าราคาตกอยู่ที่อาทิตย์ละ 100-200 บาท คนในครอบครัว คนใกล้ตัวก็ไม่ค่อยชอบทั้งกลิ่น และสารเคมี ตอนนี้กลุ่มเพื่อนๆ ที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็เลิกกันหมดแล้ว เพราะเห็นว่าส่งผลเสียต่อร่างกาย จนกระทั่งตนได้เจอกับตัวเอง ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด ลามไปกระเพาะ แล้วลงไปอัณฑะ หมอบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนอย่างมากกับอาการป่วยในครั้งนี้ ตนจึงตัดสินใจที่จะเลิกสูบ
ทรงพล กล่าวว่า อยากจะบอกกับคนที่ยังสูบอยู่ และกำลังจะกลับไปเจอครอบครัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น คุณต้องรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้า ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งของตัวท่านเอง อีกทั้งควันยังลอย หรือติดตามเสื้อผ้าและส่งผลเสียต่อคนใกล้ชิดได้อีกด้วย โดยเฉพาะเด็กๆ คนสูงอายุ อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ลองคิดดูว่าเราจากบ้านมาทำงานเก็บเงินตั้งใจกลับไปหาคนที่เรารัก ไปทำอาหารกินข้าวด้วยกันแต่เรากลับเอาสิ่งไม่ดีไปทำร้ายพวกเขา ผมเคยผ่านจุดนั้นมา เคยมั่นใจว่าควันจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายต่อตัวเองและคนอื่นซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมากๆ
“ตัวผมเองตอนนี้ก็พยายามเลิกให้เด็ดขาด มันราคาถูกจริง แต่พอเราเป็นอะไรมาไม่คุ้มกับร่างกาย และคนรอบข้าง พอหยุดบุหรี่ไฟฟ้าผมแข็งแรงขึ้น ไม่ไอ เพราะมันไอหนักมากในตอนนั้นผมรับประกันได้เลยนิโคตินมีหมดทั้งในบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า แต่ในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารบางอย่างที่มันไม่ดีต่อร่างกาย ผมถึงขนาดติดเชื้อในกระแสเลือด บางคนติดเชื้อที่ปอด อยากเชิญชวนคนที่อยากเลิกใช้โอกาสสงกรานต์นี้เริ่มต้นก็น่าจะดี”
วีรวิชญ์ ช้างแรงการ อดีตผู้เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้า บอกว่า เมื่อก่อนตนสูบบุหรี่มวน พอมีลูกก็ยังไม่คิดเลิก เพียงแต่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน และเปลี่ยนรูปแบบการสูบตามเทรนด์ และรู้สึกไม่พอใจการรณรงค์ มองว่าทำไมต้องมาโจมตีบุหรี่ไฟฟ้าทั้งๆ ที่ก็เป็นนิโคตินเหมือนกัน กระทั่งเริ่มเข้าสู่วงการวิ่ง ก็รู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็วมาก ระคายคอขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เลิกสูบ กลับเปลี่ยนมาเป็นการสูบบุหรี่มวนแทน แต่จนสุดท้ายตนรู้สึกเฉยๆ กับบุหรี่ ไม่สูบก็ได้ ยอมรับว่าไม่มีความคิดเลิก และคิดว่า ถ้าใจเราไม่อยากเลิก มันก็เลิกไม่ได้และก็ยอมรับด้วยว่า วันนี้เพิ่งรู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายขนาดนี้ และที่ติดใจมากคือการที่มันทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ถึงขั้นเซ็กซ์เสื่อม
ทั้งนี้ ทั้งนั้น กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขยังออกมาให้ข้อมูล ยืนยันว่า บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่ทางออกในการลดความวิตกกังวล แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต เพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะวิตกกังวล หากมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว ก็จะทำให้อาการรุนแรงขึ้นโดยหากสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวันจะมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้น เหตุผลก็เพราะ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าให้ความรู้สึกผ่อนคลายเพียงชั่วคราวจากนิโคติน แต่เมื่อฤทธิ์ของนิโคตินหมดลง ระดับสารสื่อประสาทในสมองจะลดลง ทำให้เกิดอาการถอนนิโคติน เช่น หงุดหงิด กระสับกระส่าย ส่งผลให้ผู้สูบต้องใช้ซ้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพจิตมากขึ้น
แทนที่จะพึ่งบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ควรใช้วิธีบรรเทาความเครียดที่ปลอดภัยกว่า เช่น การรับฟังและยอมรับความรู้สึกของตนเอง ฝึกหายใจลึกๆ และช้าๆ ดึงความสนใจมาสู่ปัจจุบัน เลือกติดตามข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้โดยไม่ตื่นตระหนก และพยายามดำเนินชีวิตตามปกติเพื่อสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ หากความเครียดส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี