สปสช.ชวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงฯ ทำแบบประเมินความเสี่ยงรับสิทธิตรวจยีนมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ร่วมดูแลสมาชิกในครอบครัวและญาติสายตรงจากมะเร็งเต้านม ได้รับการตรวจและรักษาก่อนโรคลุกลาม พร้อมเผยปี 2567 ร้อยละ 11.40 ของผู้ทำแบบประเมินเสี่ยงต่อการมียีนมะเร็งเต้านมกลายพันธุ์
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินการสิทธิประโยชน์ “บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ที่เป็นคนไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจคัดกรอง เพื่อเร่งค้นหาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษา โดยปีงบประมาณ 2567 กำหนดเป้าหมายบริการตรวจคัดกรองฯ ไว้ที่จำนวน 7,955 ราย มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงรับบริการตรวจยีน จำนวน 4,478 ราย คิดเป็นร้อยละ 56.30
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงฯ เข้ารับบริการตรวจคัดกรองตามเป้าหมาย สปสช. ได้ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 เพื่อกระตุ้นเตือนให้กลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองนี้ พร้อมจัดระบบให้คำแนะนำและประสานส่งต่อโดยสำนักบริการประชาชน สายด่วน สปสช. 1330 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2567
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2567 มีผู้ร่วมทำแบบประเมินคัดกรองสุขภาพฯ ดังกล่าวจำนวน 2,973 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เข้าเกณฑ์การรับบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ถึงจำนวน 339 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 11.40 จากจำนวนผู้ทำแบบประเมินทั้งหมด โดยสายด่วน สปสช. 1330 ได้ดำเนินการโทรประสานกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เข้าเกณฑ์การรับบริการ เพื่อให้ข้อมูลการเข้ารับบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในหน่วยบริการ
ทั้งนี้ จากการประสานกับผู้ป่วยโดยสายด่วน สปสช. 1330 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยินดีเข้ารับบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ที่หน่วยบริการตามคำแนะนำเป็นจำนวน 212 คน หรือร้อยละ 62.53 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เข้าเกณฑ์รับบริการตรวจฯ สะท้อนให้เห็นผลของแบบประเมินที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเข้ารับบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ได้
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ในปี 2568 นี้ สปสช. ยังคงให้บริการสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 โดยมีเป้าหมายจำนวน 6,870 คน และมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงเข้ารับบริการตรวจคัดกรองค้นหาการกลายพันธ์โรคมะเร็งเต้านมแล้ว จำนวน 2,897 ราย คิดเป็นร้อยละ 42.16 ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2568 ดังนั้นจึงขอเชิญชวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษา จัดทำแบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 และเข้ารับบริการตรวจฯ เพื่อค้นหาและเพิ่มโอกาสรักษาให้กับผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม
“ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มียีนกลายพันธุ์ BRCA1/BRCA2 อยู่ในร่างกาย นั่นหมายถึงสมาชิกในครอบครัว หรือผู้ที่เป็นญาติสายตรงมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ ดังนั้น สปสช. จึงได้ดำเนินการเร่งค้นหาโดยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมารับการตรวจยีนกลายพันธุ์นี้ ซึ่งหากผลตรวจยืนยันว่ามียีนกลายพันธุ์ ก็จะได้นำสมาชิกในครอบครัวและญาติสายตรงมาเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะแรกต่อไป”
: แบบประเมินคัดกรองสุขภาพ เพื่อประเมินความเสี่ยง และการรับสิทธิในการตรวจคัดกรองค้นหาการกลายพันธุ์ ของยีนโรคมะเร็งเต้านม (BRCA1/BRCA2) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdKgHGVgHTOVu4agan4Mvs-t6w9W1doYpuX41mM7sG4Ml3ilw/viewform
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี