เวียนมาอีกครั้งกับช่วงหยุดยาว “เทศกาลสงกรานต์” ปีใหม่ไทยซึ่งนอกจากการเดินทางภูมิลำเนาไปเฉลิมฉลองพร้อมหน้ากับครอบครัวของประชากรวัยแรงงานแล้ว ยังมีการเล่นสาดน้ำที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้ ทั้งในจุดที่จัดกิจกรรมอย่างเป็นทางการ และจุดที่แต่ละชุมชนจะรู้กันว่าเป็นพื้นที่ที่ผู้คนจะดินทางมารวมตัวกัน เดินเท้าบ้าง นำยานพาหนะบรรทุกถังน้ำบ้าง มาเล่นสาดน้ำและเปิดเครื่องเสียงร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในข้อกังวลของเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ (รวมถึงส่งท้ายปีเก่า – ต้อนรับปีใหม่) ของทุกปีคือ “อุบัติเหตุบนท้องถนน” โดยเทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้ รัฐบาลได้ระบุช่วง “7 วันอันตราย” ไว้ระหว่างวันที่ 11 – 17 เม.ย. 2568 ซึ่งเมื่อดูจากสถิติทั้งในและนอกเทศกาล “มอเตอร์ไซค์” คือพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุและเกิดความสูญเสีย “เจ็บ – ตาย – พิการ” มากที่สุด
ช่วงค่ำวันที่ 9 เม.ย. 2586 เพจเฟซบุ๊ก Healthy Rider สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “สงกรานต์ อุบัติเหตุ และ พ.ร.บ. ผู้ประสบเหตุจากรถ รู้ไว้ ปลอดภัย ได้เงินชดเชย” เนื่องจาก ไรเดอร์ หรืออาชีพขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารโดยรับงานผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นอีกอาชีพที่รูปแบบการทำงานเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน อีกทั้งช่วงสงกรานต์หลายคนก็คงไม่หยุดรับงาน
ผู้ดำเนินรายการ อนวัช จันทร์หงส์ กล่าวนำเข้าสู่การเสวนา ระบุว่า การเกิดอุบัติเหตุของไรเดอร์มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะเมื่อค่ารอบรับงานลดลง ขณะที่เทศกาลสงกรานต์ก็เป็นช่วงเวลาที่มีอุบัติเหตุสูง แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุสิ่งที่ตามมาคือ “ค่ารักษาพยาบาล” พ.ร.บ. จึงเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่ผู้ดำเนินรายการร่วม ประภาพร ผลอินทร์ กล่าวเสริมว่า จริงๆ แล้วไม่วาช่วงเวลาใดก็สามารถเกิดอุบัติเหตุได้ทั้งสิ้นหากตั้งอยู่บนความประมาท แต่อีกมุมก็ไรเดอร์ก็ต้องแบกรับสภาพการทำงานที่อยู่กับความเร่งรีบ เช่น มีแรงกดดันจากลูกค้า ทำให้อาจเกิดอุบัติเหตุได้
พิสุทธิ์ สมุทรโคตา ไรเดอร์ในพื้นที่ จ.นนทบุรี กล่าวถึงความเสี่ยง เช่น การเล่นสาดน้ำโดยไม่ระมัดระวัง อาจมีคนวิ่งมาชนมอเตอร์ไซค์ของไรเดอร์ หรือไรเดอร์ขี่มอเตอร์ไซค์อยู่ก็ถูกสาดน้ำใส่ ขณะที่ถนนก็ลื่นเพราะมีทั้งน้ำและแป้งดินสอพองที่ผู้ตนนำมาเล่น หรือถนนบางเส้นที่ผู้คนเดินทางมารวมตัวกันเล่นสาดน้ำ ส่งผลให้การจราจรติดขัด ไรเดอร์ก็ยิ่งต้องเร่งรีบหาทางผ่านจุดนั้นไปให้ได้เพื่อนำอาหารไปส่งถึงมือลูกค้า ก็อาจเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนได้ ส่วนเรื่อง พ.ร.บ. นั้น ยอมรับว่ามีเพื่อนร่วมอาชีพอีกหลายคนที่ไม่รู้
สุรสิทธิ์ วังกลาง ไรเดอร์ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ผลกระทบของไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุ อย่างแรกคือการขาดรายได้และต้องมีภาระค่าใช้ข่ายเกิดขึ้น อย่างตนมีครั้งหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์กำลังจะไปส่งอาหาร เวลานั้นเป็นช่วงเช้า ขี่ไปบนถนนที่เป็นทางตรง มีรถกระบะขับออกมาจากซอยในลักษณะรีบโผล่หัวรถออกมา ทำให้มอเตอร์ไซค์ของตนชนเข้าอย่างจังโดยฟาดเข้ากับส่วนที่แข็งของรถกระบะ ตนถึงกับสลบไม่ได้สติทั้งที่สวมหมวกกันน็อก
ซึ่งก็ต้องฝากถึงไรเดอร์และทุกคนที่ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะด้วยว่า “การสวมหมวกกันน็อกนั้นจำเป็นมาก” เพราะที่ยังรอดมาได้ ใบหน้าและฟันยังอยู่ครบก็เพราะสวมหมวกแบบเต็มใบที่ปกป้องบริเวณใบหน้าและคางไว้ “สำหรับคนที่ใส่บ้าง – ไม่ใส่บ้าง..เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นตอนไหน” ดังนั้นจะไปใกล้ๆ หรือไกลๆ ก็ขอให้สวมหมวกกันน็อกเสมอ
“รู้สึกตัวอีกทีคือถูกเข็นเข้าห้องเอ็กซเรย์สมองเพื่อจะหาภาวะเลือดคั่งในสมอง แต่ปรากฏว่าก็ไม่มีเลือดออกในสมอง แต่ค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลรัฐ 3,700 กว่าบาท ตัวเลขเป๊ะๆ ผมไม่มั่นใจแต่น่าจะประมาณนั้น ผมเองก็ต้องได้สำรองจ่ายให้กับทางโรงพยาบาลไป เพราะไม่ว่าเราจะเป็นสิทธิพิเศษ สิทธิรักษาอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องอุบัติเหตุจะต้องเป็นเรื่องของ พ.ร.บ. แต่วันนั้นเราทำเรื่องไม่ได้ก็ต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วพอวันหลังผ่านมาก็ได้หนังสือบันทึกประจำวัน ใบเสร็จค่ารักษาแล้วก็หลักฐานต่างๆ ไปเบิกที่ พ.ร.บ. กลาง ก็ได้เงินส่วนนั้นกลับคืนมา” สุรสิทธิ์ กล่าว
ร.ต.ท.ดร.เฉลิมพรหม อิทธิยาภรณ์ วิทยากรจากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ของ พ.ร.บ. หรือชื่อเต็มคือ “พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ” ว่า พ.ร.บ. นี้ถือเป็น “ประกันภาคบังคับ” ที่ยานพาหนะ (รถยนต์ , มอเตอร์ไซค์) ทุกคันต้องทำ หากไม่ทำก็ไม่สามารถต่อทะเบียนได้และเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ค่ารักษาส่วนแรกไม่เกิน 3 หมื่นบาทต้องจ่ายเองทั้งหมด แต่นอกจากนั้นแล้วก็ยังมี “ประกันภาคสมัครใจ” ที่แบ่งเป็นประเภท 1 2 3 ในส่วนนี้หากไม่ทำก็ไม่ผิดกฎหมาย
โดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีมาตั้งแต่ปี 2535 เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วคู่กรณีมักตกลงกันไม่ค่อยได้ เพราะแม้แต่ความเป็นคนจะเท่าเทียมกัน แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วมักตีราคาไม่เท่ากัน เช่น บางคนไม่มีวุฒิการศึกษาใดๆ บางคนจบ ป.6 บางคนจบระดับปริญญาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ จึงต้องออกกฎหมายมาทำให้การตีราคาอยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกันไม่ว่าจะมีสถานะทางเพศ อายุ สัญชาติ ฯลฯ แม้กระทั่งคนไม่มีใบขับขี่ หรือเมาแล้วขับ หรือขับขี่ในลักษณะสุ่มเสี่ยง (เช่น มอเตอร์ไซค์ซ้อน 3) พ.ร.บ. ก็ยังจ่าย แต่ก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี
สำหรับสิทธิตาม พ.ร.บ. มีการยกตัวอย่างไว้หลายกรณี เช่น 1.ขี่คนเดียว ล้มเองไม่มีคู่กรณี คนขี่บาดเจ็บเองเพียงคนเดียว จ่ายไม่เกิน 3 หมื่นบาท 2.มีคนขี่และคนซ้อน เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งคู่โดยไม่มีคู่กรณี จ่ายในส่วนคนขี่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท กรณีเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ แต่หากเบื้องต้นบาดเจ็บแล้วไปเสียชีวิตในภายหลังจะได้เพิ่มขึ้นแต่รวมทั้งหมดแล้วไม่เกิน 65,000 บาท เพราะถือว่าคนขี่ประมาทเอง ขณะที่ในส่วนของคนซ้อนหากเสียชีวิตจะจ่ายที่ 5 แสนบาท ไม่ว่าคนขี่จะประมาทหรือไม่ก็ตาม
3.มีคนชี่และคนซ้อนเกิดอุบัติเหตุแต่ไม่เสียชีวิตและไม่มีคู่กรณี ต้องแยกระหว่างคนขี่ ซึ่ง พ.ร.บ. จ่ายไม่เกิน 3 หมื่นบาท ในขณะที่คนซ้อนมีหลายระดับตั้งแต่บาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส และทุพพลภาพ (พิการ) 4.มีคนขี่และคนซ้อน เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งคู่โดยมีคู่กรณีและผู้เสียชีวิตนั้นเป็นฝ่ายถูก เบื้องต้น พ.ร.บ. จะจ่ายผู้เสียชีวิตรายละ 5 แสนบาท และหากฝ่ายคู่กรณีมีประกันภาคสมัครใจด้วย ผู้เสียชีวิตจะได้เพิ่มอีกรายละ 1 ล้านบาท รวมรายละ 1.5 ล้านบาท 5.ขับขี่ไปเจอรถพ่วงชนเสียชีวิต รถพ่วงต้องทำ พ.ร.บ. 2 ฉบับทั้งส่วนหัวและหาง หากเป็นฝ่ายถูกแล้วเสียชีวิต จะได้ 5 แสนบาท คูณ 2 (ทั้งส่วนหัวและส่วนหาง) รวม 1 ล้านบาท
6.ไปกันหลายคนแล้วเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต ในส่วนของผู้โดยสาร พ.ร.บ. จะจ่าย 5 แสนบาทต่อราย เว้นแต่กรณีผู้เดินทางไปกับรถคันนั้นมีจำนวนมากเกินวงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินสูงสุดของ พ.ร.บ. 1 ฉบับ ก็จะต้องหารกันต่อรายภายในวงเงินดังกล่าว เช่น เดินทาง 10 คน เสียชีวิตแล้วหาร 10 ได้รายละ 5 แสนบาทเพราะยังไม่เกินวงเงิน 5 ล้านบาท แต่หากผู้โดยสาร 12 คนเสียชีวิต ต้องนำวงเงิน 5 ล้านบาทมาตั้งแล้วหารด้วย 12 จะอยู่ที่ประมาณ 4.1 แสนบาทต่อราย เป็นต้น
“สิ่งที่อยากฝาก เบอร์โทรอยากให้จดแล้วบันทึกไว้เลย สายด่วนบริษัทกลาง (กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) 1791 มีอะไรคุณโทรไปถามเขาเลย เขาจะฟังแล้วตอบได้ทุกข้อสงสัย” ร.ต.ท.ดร.เฉลิมพรหม กล่าว
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี