ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและหน่วยงานด้านประชากรศาสตร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 32% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรังและภาวะเสื่อมของระบบต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS - Amyotrophic Lateral Sclerosis) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไมแอสทีเนียเกรวิส (MG - Myasthenia Gravis) ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในที่สุด การกายภาพบำบัดจึงเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วย เพื่อยืดอายุการทำงานของกล้ามเนื้อและรักษาคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถทำกายภาพได้ต่อเนื่อง เนื่องจากข้อจำกัดด้านร่างกาย สภาพจิตใจ และความเบื่อหน่ายต่อวิธีการเดิม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการฟื้นฟูลดลงอย่างมาก
เพื่อแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว ดรปฏิยุทธ พรามแก้ว หัวหน้าโครงการ อาจารย์จากโครงการร่วมบริหารหลักสูตรฯ (มีเดีย) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และ ผศ.ดร.ฐิตาภรณ์ กนกรัตน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ ผศ.ดร.มหศักดิ์ เกตุฉ่ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผศ.ดร.นฤมล ชูเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และ ดร.วรวุทธิ์ ยิ้มแย้ม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนา “หุ่นยนต์ต้นแบบช่วยกายภาพบำบัดผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และเกม” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่สามารถใช้งานได้จริงในบริบทของผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขา พร้อมระบบเกมที่ออกแบบขึ้นโดยเฉพาะสำหรับการกระตุ้นการขยับร่างกายผ่านเกมที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ที่นำข้อมูลเชิงลึกและความต้องการของผู้ป่วยมาเป็นโจทย์ในการพัฒนางานวิจัย
ดร.ปฏิยุทธ กล่าวถึงหลักการการทำงานของหุ่นยนต์ต้นแบบ ว่า หุ่นยนต์ต้นแบบนี้ประกอบด้วยสององค์ประกอบหลัก ได้แก่ อุปกรณ์กายภาพบำบัดที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ โดยสามารถปรับน้ำหนัก แรงต้าน และตำแหน่งให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย และระบบเกมแบบจำลองสถานการณ์ (Simulation Game) ที่ใช้การขยับกล้ามเนื้อขาเพื่อควบคุมการดำเนินภารกิจในเกม ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ
“เช่น ขนาดตัวอักษร หน้าจอแสดงผล รูปแบบการโต้ตอบ การวางปุ่ม และระบบให้คะแนนที่ชัดเจนเพื่อให้เห็นพัฒนาการของผู้ใช้งาน ผสานกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการติดตาม วิเคราะห์ และปรับระดับความยากง่ายของกิจกรรมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้ป่วยแต่ละคน ที่ช่วยให้การฝึกมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสามารถประเมินผลได้แม่นยำขึ้น” ดร.ปฏิยุทธ กล่าว
ผศ.ดร. ฐิตาภรณ์ กล่าวเสริมว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบดังกล่าวไม่เพียงสร้างผลลัพธ์ทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเชิงสังคมและอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ การนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟู ชุมชนผู้สูงอายุ รวมถึงการใช้งานภายในครัวเรือน ที่ช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีฟื้นฟูสุขภาพอย่างทั่วถึง เพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการฟื้นฟูที่มีคุณภาพ ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในระยะยาว และส่งเสริมให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง
ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2568 โดยถือเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับโจทย์ทางสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอด และตอบสนองต่อนโยบายด้านสาธารณสุขในสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในระยะต่อไป ทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาอุปกรณ์และระบบเกมให้สามารถปรับใช้กับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้ที่มีภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดที่ต้องการฟื้นฟูการเคลื่อนไหว โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเร่งการผลิตต้นแบบให้สามารถใช้จริงได้ในวงกว้าง!!!
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี