“เวลาผมลงไปในพื้นที่แล้วไปเยี่ยมโรงเรียน ก็เป็นโรงเรียนขนาดเล็กแต่ก็ไม่ค่อยเล็กมาก พอเห็นบรรยากาศการเรียนรู้เมื่อเทียบกับโรงเรียนที่อาจจะมีชื่อเสียงหรือมีคุณภาพหรือมีทรัพยากรที่มากกว่า ไม่ได้หมายถึงมีคอมพิวเตอร์ มีแท็บเล็ต แต่หมายถึงการดูแลเอาใจใส่ การเรียนรู้ที่มันมีคุณภาพ ผมคิดว่าอันนี้จริงๆ ยังเป็นปัญหาใหญ่ แล้วเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ”
รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในรายการ “ความเหลื่อมรู้ในความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ 101 ให้นิยามมุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะการเข้าถึงคุณภาพด้านการศึกษาที่แตกต่างกันระหว่างนักเรียนในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ ในความสนใจของตนมุ่งไปที่การพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งไม่เฉพาะการที่เด็กไปโรงเรียนแต่รวมถึงการพัฒนาเด็กผ่านผู้ปกครองด้วย และหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจซึ่งทำร่วมกับ กสศ. คือ “Parenting” ไปพัฒนาผู้ปกครองให้รู้วิธีทำกิจกรรมร่วมกับเด็กเพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ มีการถอดบทเรียนจากเครื่องมือของหลายๆ ประเทศที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จมาทดลองใช้ ซึ่งในปี 2568 นี้ กำลังจะเริ่มทดลองใน จ.ขอนแก่น
เช่น อยากให้เด็กอ่านหนังสือ โครงการก็จะหาหนังสือไปและสอนผู้ปกครองว่าจะสอนให้เด็กอ่านหนังสือได้อย่างไรให้ทั้งสนุกและได้ประโยชน์ หรือให้จิ๊กซอว์เพื่อให้ผู้ปกครองไปช่วยบุตรหลานเล่น ด้านหนึ่งโครงการฯ เชื่อว่ากิจกรรมนี้มีประโยชน์ และหากผู้ปกครองเชื่อเช่นเดียวกันก็จะเต็มใจที่จะนำกิจกรรมไปทำร่วมกับเด็กเองเพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง รวมถึงร่วมกับ กสศ. ทำวิจัยไปด้วยเพื่อประเมินว่าเด็กดีขึ้นมาก – น้อยเพียงใด และการนำแนวเครื่องมือไปใช้มีอุปสรรคอะไรบ้าง ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็สามารถขยายผลต่อไปได้
รศ.ดร.วีระชาติ ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการมุ่งเน้นพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยว่า มีข้อพิสูจน์จากงานวิจัยของ เจมส์ เฮ็คแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งเราเชื่อกันว่า “ทุกคนอาศัยฐานเก่าเพื่อไปเรียนฐานใหม่” ปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเมื่อเด็กไม่ได้รับการพัฒนาฐานแล้วต้องไปเรียนเรื่องที่อยู่ในระดับสูงขึ้นก็จะเรียนไม่รู้เรื่องและคิดว่าเรียนไปก็ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นการเร่งพัฒนาตั้งแต่ปฐมวัยเพื่อให้เติบโตมาเป็นคนที่มีทักษะที่ดี เชื่อว่าจะเป็นอนาคตที่ช่วยให้แก้ปัญหาในภายหลังได้ด้วย
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นความเหลื่อมล้ำสำหรับตนคือเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพและอยู่ในพื้นที่ที่สามารถพัฒนาและเติบโตได้ แต่หลายครั้งเมื่อเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามักมุ่งเน้นไปที่เด็กด้อยโอกาส ซึ่งแม้จะไม่ผิดแต่การมองปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีมากกว่าเพียงการให้เงินเด็กแล้วจบเพียงเท่านั้น ยังรวมถึงโครงสร้างต่างๆ ทั้งโครงสร้างของประเทศ โครงสร้างทางวัฒนธรรมและอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยแวดล้อม
ทั้งนี้ ยิ่งทำการศึกษาไปก็ยิ่งพบว่า “ลำพังการหว่านเม็ดเงินหรือการทำให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาในแบบเดียวกันไม่ทำให้ประสบความสำเร็จ” เพราะเด็กมีความแตกต่างด้วยปัจจัยหลากหลายมากกว่าเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจ เช่น เวลาที่ผู้ปกครองมีให้บุตรหลาน สุขภาวะทางใจที่เป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่สำหรับคนรุ่นใหม่ ต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่พื้นที่ประสบภัยพิบัติซึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เป็นต้น
“มันมีปัจจัยที่หลากหลายมาก ฉะนั้นเวลาที่เราคิดหรือออกแบบในแง่ของการแก้ไขโจทย์ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ เราอาจต้องถอยหลังออกมามองในหลากหลายแง่มุม และต้องการอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีมุมมองหลายๆ ด้านเข้ามามองเรื่องนี้ร่วมกัน อย่างที่คณะที่ผมทำงานอยู่ด้วยกัน ส่วนใหญ่เราจะทำงานกับกลุ่มประชากรที่เรียกว่าชายขอบบ้างหรือกลุ่มเฉพาะบ้าง อย่างเช่นกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ กลุ่มเด็กที่อาจมีปัญหาเรื่องของความพิการ กลุ่มเด็กที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มเด็กที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ผศ.ดร.อดิศร ระบุ
ผศ.ดร.อดิศร ขยายความเพิ่มเติมว่า อัตลักษณ์ต่างๆ ที่ติดตัวเด็กมามีผลอย่างมีนัยสำคัญในด้านความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเราไม่สามารถมองการแก้ปัญหาด้วยวิธีการนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องทำความเข้าใจว่าอะไรบ้างในระบบนั้นขัดขวางการเข้าถึงโอกาสในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเต็มที่ เช่น วัฒนธรรมในโรงเรียน ครูไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลาย ซึ่งครูเป็นปัจจัยสำคัญมาก หลายครั้งเมื่อครูเปลี่ยนวิธีการปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ก็ทำให้เด็กที่เคยออกไปจากโรงเรียนเพราะเห็นว่าครูไม่เข้าใจ ได้เปลี่ยนความคิดและตัดสินใจเดินกลับเข้ามา
รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามาจากหลากหลายปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ ระบบโรงเรียนและครอบครัว ทั้งนี้ งานวิจัยที่ตนทำอยู่จะว่าด้วยเรื่องของเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา โดยมองว่า “โรงเรียนไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมดทุกเรื่อง” แต่ยังมีภาคสังคมอื่นๆ เช่น องค์กรท้องถิ่น ภาคประชาสังคม (NGO) องค์กรชุมชน สภาเด็กและเยาวชน ฯลฯ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดและเห็นปัญหาในพื้นที่ของตนเอง สามารถทำงานขับเคลื่อนด้านการศึกษากับเด็กที่อยู่นอกระบบได้
“เราไม่เชื่อว่าทุกอย่างจะต้องเข้าสู่ระบบโรงเรียนทั้งหมด จริงๆ แล้วโลกทั้งโลกก็คือการเรียนรู้ของเขาได้ เรามีการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้ตามอัธยาศัย เรียนรู้จากคนที่เป็นผู้รู้ ซึ่งหน่วยจัดการเรียนรู้ก็จะเป็นหน่วยที่เป็นคานงัดสำคัญที่จะไปช่วยในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนให้กับเด็กๆ ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยให้เด็กๆ ได้ศึกษาและค้นคว้าตัวเขาเองในการเลือกในสิ่งที่เขาสนใจและเรียนรู้ได้” รศ.ดร.วีระเทพ กล่าว
รศ.ดร.วีระเทพ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบางคนยังไม่สามารถจบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ดังนั้นการเชื่อมต่อภาคีเครือข่ายในพื้นที่ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับเด็กที่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาก็ต้องประสานเชื่อมต่อให้ได้เข้าระบบ แต่หากเด็กที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่ระบบ การจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมต่อกับภูมิปัญหาหรือเรื่องที่ผู้เรียนสนใจ แต่ก็ต้องมีเรื่องของ “การเทียบ” ซึ่งอาจไม่ต้องเป็นรูปแบบคุณวุฒิ แต่เป็นใบรับรองการผ่านการเรียนรู้ (Certificate) ก็ได้
ซึ่งในมุมของ กสศ. มองว่าการศึกษาทุกระบบควรเชื่อมต่อกันไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ในโรงเรียนก็ตาม บางคนอาจไมได้เลือกเรียนต่อในระบบโรงเรียน แต่สามารถสร้างอาชีพโดยมีฐานมาจากการฝึกอบรมแล้วได้ใบรับรองดังกล่าวในลักษณะความสามารถเฉพาะทาง เช่น การชงกาแฟ หากสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ก็เป็นเรื่องดี เรื่องนี้สะท้อนว่าการจัดการเรียนรู้อาจต้องยืดหยุ่นมากพอถึงขั้นรายบุคคลหรือกลุ่มที่มีความสนใจคล้ายกัน!!!
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี