ในปี 2025 ประเทศจีนยังคงเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ท่ามกลางบริบทของเศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน รัฐบาลจีนได้แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านมาตรการที่เข้มข้นทั้งด้านการคลัง การเงิน และการส่งเสริมภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การเติบโตที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน
ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจจีน
การประชุมสองสภาประจำปี 2025 ของรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา สะท้อนภาพรวมเชิงบวกของทิศทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลเน้นการดำเนินนโยบายแบบผสมผสานระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการวางรากฐานเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เศรษฐกิจจีนได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนด้านเทคโนโลยี และมาตรการด้านการคลังที่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม จีนยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาการจ้างงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ตลอดจนแรงกดดันจากสงครามการค้าและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนส่งผลให้ภาคการส่งออกและการลงทุนบางภาคส่วนอยู่ในภาวะชะลอตัว รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจควบคู่กับการยกระดับภาคการผลิต เทคโนโลยี และการบริโภคในประเทศเพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ความท้าทายและการปรับตัวเชิงโครงสร้าง
เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านโครงสร้างที่สะสมมาเป็นเวลานาน ปัญหาหลักที่เห็นได้ชัดคือภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคการเงิน ขณะเดียวกัน หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นที่สูงขึ้นต่อเนื่องได้กลายเป็นภาระทางการคลัง ซึ่งจำกัดขอบเขตในการดำเนินนโยบายระยะยาว และอีกประเด็นสำคัญ คือ อัตราการว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงความไม่สมดุลของตลาดแรงงานระหว่างทักษะกับความต้องการของภาคธุรกิจ ขณะที่ปัจจัยภายนอก เช่น ความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อภาคการส่งออกซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีนในอดีต
ท่ามกลางปัจจัยเหล่านี้ รัฐบาลจีนยังคงยืนยันเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ระดับ 5% พร้อมทั้งมุ่งเน้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกิดใหม่ และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น แข่งขันได้ และยั่งยืนในระยะยาว
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่บูรณาการ
ในการประชุมสองสภา รัฐบาลเน้นกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ วางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง และหันมาให้ความสำคัญกับภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี โดยมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่
1. ตั้งเป้าที่จะบรรลุการเติบโตของ GDP ที่ 5% ในปี 2025
2. ตั้งงบประมาณขาดดุลที่ 4% จาก 3% ในปีก่อน ซึ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี ถือเป็นการปลดล็อกนโยบายการคลังครั้งใหญ่ เพื่อมุ่งมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจ
3. เพิ่มการออกพันธบัตรระยะยาว มูลค่ารวม 1.3 ล้านล้านหยวน อนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรพิเศษ รวมถึงมีการออกพันธบัตรพิเศษเพื่อเพิ่มทุนให้ธนาคารขนาดใหญ่อีก 5 แสนล้านหยวน
4. ปรับลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อลงมาอยู่ที่ 2% ของ GDP เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี หลังจากที่ใช้กรอบ 3% มาเป็นเวลานาน สะท้อนถึงโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินได้มากขึ้น
5. มุ่งเน้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยเพิ่มเงินอุดหนุนผู้บริโภคเป็นสองเท่า เพื่อสนับสนุนการซื้อสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์
6. เร่งผลักดันเทคโนโลยี High Tech เช่น AI, EV, สมาร์ตโฟน/คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC), IoT, 6G, Biotechnology และ Platform economy (เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม) เป็นต้น เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวแทนที่ภาคอสังหาฯ ที่ยังคงซบเซา
7. แสดงจุดยืนลดการพึ่งพาตลาดต่างชาติ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้รัฐบาลจีนก็ได้มีการพูดถึงประเด็นสงครามการค้า และยอมรับว่าความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเติบโตของจีน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ไปสู่การเสริมสร้างการบริโภคภายในประเทศ ลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ
มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยรักษาสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ กระจายประโยชน์สู่ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
แนวโน้มในอนาคต
จีนมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านจากโมเดลการเติบโตแบบดั้งเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech), ระบบสื่อสารรุ่นใหม่ (6G), ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งไม่เพียงตอบสนองเป้าหมายระยะยาวของจีนเท่านั้น แต่ยังเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับโลกอย่างยั่งยืน
โดยสรุป รัฐบาลจีนได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างนโยบายกระตุ้นในระยะสั้นและการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในระยะยาว การตั้งเป้าหมายการเติบโตที่ชัดเจน การขยายบทบาทของนโยบายการคลัง และการเพิ่มความยืดหยุ่นด้านการเงิน ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่ส่งเสริมเสถียรภาพท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องและประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะในด้านการลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาแรงงาน และการส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว
เรียบเรียงโดย ดร.กฤตติกา เศวตอมรกุล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร / รองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี