เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 ประภาส ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ นักคิด นักเขียน นักแต่งเพลง ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก "Prapas Cholsaranon" ระบุว่า ประเทศที่ตายไปแล้ว แต่ฟื้นขึ้นมาด้วยทฤษฎีหญ้าหน้าบ้าน
ในโลกที่ข่าวร้ายเดินทางเร็วเฉียดแสง เราอาจไม่ทันได้ยินข่าวดีของประเทศเล็กๆ ที่ค่อยๆ ลุกขึ้นมาจากเถ้าถ่านด้วยความเงียบและสง่างามอย่าง “รวันดา” ชาติที่เคยถูกสาปจากโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อปี ค.ศ.1994 แต่วันนี้กลับกลายเป็นประเทศสะอาด สงบ โปร่งใส และก้าวหน้าเร็วที่สุดแห่งหนึ่ง
และที่น่าทึ่งคือ พวกเขาไม่ได้เริ่มจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เริ่มจาก “ใจ”
ใจที่ไม่ยอมฝากความหวังไว้กับการล้างแค้น แต่เลือกจะรักษาความเป็นมนุษย์ให้กันและกัน
ในวันที่สงครามจบลง รวันดามีผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กว่าครึ่งล้านคน ซึ่งถ้าใช้ระบบศาลแบบตะวันตกที่ต้องพิจารณาคดีทีละคน รวันดาคงต้องใช้เวลาเป็นร้อยปี
แล้วพวกเขาทำยังไง
พวกเขาหยิบความยุติธรรมแบบดั้งเดิมกลับมาใช้ ที่เรียกกันว่า “กาชาชา” (Gacaca) ถ้าแปลแบบตรงตัวก็แปลว่าหญ้าหน้าบ้าน
ในอดีต เวลาคนในหมู่บ้านมีข้อขัดแย้งกัน เขาจะไม่ไปฟ้องศาล ไม่จ้างทนาย แต่จะนั่งล้อมวงกลางแจ้งบนหญ้าเตียนๆ คุยกันตรงๆ ด้วยคำพูดของคนธรรมดา เพื่อหาทางคืนดี
ฟังดูเรียบง่าย แต่อาจได้ผลงดงามยิ่งกว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ
กาชาชา ไม่ได้เน้น “พิพากษา” แต่มุ่ง “เยียวยา” ผู้กระทำผิดที่สารภาพจะได้รับโอกาสขอขมา เปิดใจฟังผู้เสียหาย และร่วมฟื้นฟูชุมชนด้วยมือของตนเอง เช่น ปลูกต้นไม้ ซ่อมบ้านเหยื่อ หรือช่วยงานสาธารณะ ส่วนผู้เสียหายก็ได้รับโอกาสพูดสิ่งที่อยู่ในใจท่ามกลางชุมชน
มันไม่ใช่การล้างแค้น แต่มันคือล้างใจ
วันนี้รวันดาถูกนับได้ว่าเป็นประเทศที่สะอาดมากประเทศหนึ่ง ที่ไม่ใช่เพราะงบ แต่เพราะผู้คนลุกขึ้นมากวาด
รวันดาแบนพลาสติกแบบไม่มีข้อยกเว้นตั้งแต่ปี 2008 ถุงพลาสติกเข้าประเทศไม่ได้ แม้แต่ในกระเป๋าเดินทาง
และในวันเสาร์สุดท้ายของทุกเดือน จะเป็นวันอูมูกันดา ที่คนทั้งประเทศออกมาทำความสะอาดร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนทำสวนหรือประธานาธิบดี ทุกคนลงมือร่วมกัน (Umuganda แปลว่า การร่วมแรงร่วมใจ)
ผลลัพธ์คือ “คิกาลี” เมืองหลวงของรวันดากำลังจะกลายเป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง ทั้งที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่าประเทศร่ำรวยหลายสิบเท่า
นอกจากนี้ รวันดายังสร้างปรัชญาใหม่ให้กับสังคมขึ้นมาว่า “ค่าความอดทนต่อคอร์รัปชันคือศูนย์”
พวกเขาทำจริงจัง ใครโกงถูกปลดทันที และดำเนินคดีไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับไหน ไม่ใช่แค่กฎหมายที่เข้มงวด แต่คือ “บรรยากาศของความเชื่อมั่น” ที่ผู้คนรู้สึกว่า กฎหมายไม่ได้มีไว้ลงโทษเฉพาะคนจน แต่เอื้อมถึงคนมีอำนาจด้วย
หลังสงครามจบ รวันดาลงทุนกับการศึกษาแบบสุดทาง เด็กทุกคนได้เรียนฟรีจนถึงมัธยม และมีทุนเรียนต่อมหาวิทยาลัย พวกเขารู้ว่าโลกจากนี้ไปต้องเน้นไปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แต่สิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือ เขาเพิ่มวิชาสันติภาพ วิชาการอยู่ร่วมกัน และวิชาการคิดวิเคราะห์เข้าไปในหลักสูตร เพื่อสร้างพลเมืองใหม่ที่ไม่ถูกหลอกด้วย “วาทกรรมชิงชัง” ซ้ำอีก
ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ผ่านมาของรวันดา ฝ่ายหนึ่งจะเรียกอีกฝ่ายหนึ่งว่าแมลงสาบ นั่นคือเมื่อคำพูดแปะฉลากคนอื่นว่าไม่ใช่มนุษย์ ความโหดร้ายก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา
รวันดาในวันนี้ จึงไม่เพียงแค่ควบคุมสื่อให้รับผิดชอบ แต่ยังสอนเด็กให้รู้จักพลังของภาษาว่า “คำพูดสามารถสร้างคนได้ และคำพูดก็สามารถฆ่าคนได้ในเวลาเดียวกัน”
แน่นอน รวันดายังไม่ใช่ประเทศที่เพียบพร้อม ประเทศนี้ยังต้องการการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาอีกมาก แต่บทเรียนของเขาสำคัญตรงนี้
บางครั้ง ทางออกที่ดีที่สุด ไม่ใช่การยกระบบของใครมาทั้งดุ้น แต่เป็นการกลับมาดู “หญ้าหน้าบ้าน” ของตัวเอง
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี