นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมการพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ว่า โดยรวมแล้ว สิทธิการรักษาระบบบัตรทองในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) ล้างไตทางช่องท้อง (PD) ปลูกถ่ายไต (KT) ยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดแดง ยากดภูมิ
และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำหัตถการของการบำบัดทดแทนไตทั้งหมด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการมากกว่าร้อยละ 95 ส่วนอีกร้อยละ 5 ที่เหลืออยู่เป็นการพัฒนาสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ เช่น การส่งเสริมป้องกัน หรือ สิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ที่จะต้องเติมเข้ามาในระบบ สำหรับระบบการให้บริการบำบัดทดแทนไตของบัตรทอง เริ่มด้วยนโยบาย PD First หรือให้ใช้การล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรกในปี 2551 ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นนโยบายให้ผู้ป่วยเลือกวิธีที่เหมาะกับตัวเองในวันที่ 1 ก.พ. 2565
ซึ่งมีผลดีในแง่ที่ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเลือกได้ตามความเหมาะสมของตัวเองได้ อย่างไรก็ดี คำว่าความเหมาะสมนี้ ทุกคนคิดว่ามันดีหมด แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างมีข้อดีและข้อจำกัด ข้อดีคือผู้ป่วยเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตได้ว่าจะเป็นการล้างไตผ่านช่องท้อง หรือฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม หรือใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ป่วยไม่เลือกรับการรักษาที่เป็นไปตามความเหมาะสมจึงทำให้เกิดผลกระทบ เช่น การให้บริการไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หน่วยบริการไม่เพียงพอ หน่วยบริการทำเส้นเลือดฟอกไตมีไม่เพียงพอ ต้องรอคิวนาน
บุคลากรทางการแพทย์เฉพาะด้าน เช่น พยาบาลมีไม่เพียงพอ เตียงสำหรับฟอกเลือดไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย รวมถึงค่าใช้จ่าอื่นๆ การเดินทาง ที่สำคัญคือ “คนไข้ได้รับข้อมูลไม่รอบด้านถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตนเอง” ทำให้ทุกคนแห่ไปฟอกเลือดหมด ผลกระทบจึงตามมาเยอะมาก ปัญหาต่อมาคือการให้บริการไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น การฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม จากคนไข้ที่จะได้ฟอกครบ 4 ชม. หน่วยบริการบางแห่งลดเวลาฟอกเลือดลงเหลือเพียง 3.30 ชม. หรือจากที่ควรฟอกเลือดสัปดาห์ละ 3 รอบ ก็ลดให้บริการเหลือสัปดาห์ละ 2 รอบ
หรือที่น่ากลัวกว่านั้น คือผู้ป่วยไม่เลือกรับการรักษาเป็นไปตามความเหมาะสมจึงทำให้เกิดผลกระทบทำให้คนไข้ประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น การเดินทาง ผู้ดูแล ค่าใช้จ่ายต่างๆ จากปัญหาเหล่านี้ สิ่งที่ตามมาคือคนไข้เกิดภาวะแทรกซ้อน มีการติดเชื้อ ภาวะน้ำเกิน ภาวะของเสียคั่ง จนบางรายถึงขั้นเสียชีวิตก็มี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการล้างไตผ่านช่องท้อง ฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียมหรือปลูกถ่ายไต จะมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน จุดสำคัญคือแพทย์และคนไข้ต้องปรึกษาหารือกันเพื่อเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับตัวเอง
“เช่น ถ้าบ้านอยู่ไกล ต้องเดินทางเข้ามาหน่วยบริการในตัวเมือง เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเดินทาง ญาติและผู้ดูแลต้องติดตามมาด้วยดังนั้นผู้ป่วยควรเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับตัวเองจะได้ไม่มีผลกระทบตามมา สิ่งสำคัญ คือ การให้ข้อมูลกับผู้ป่วยและญาติอย่างรอบด้านก่อนเพื่อให้สามารถเลือกแนวทางการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับบริบทชีวิตเขา" นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ระบุ
นายธนพลธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดีเมื่อเดือน พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ สปสช. ได้มีมติต้องการให้กลับไปให้ความสำคัญกับนโยบาย PD First อีกครั้ง โดยเน้นการเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตตามสภาวะของผู้ป่วย ซึ่งจุดยืนของสมาคมเพื่อนโรคไตฯ เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโดยรวม และสร้างความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพระยะยาว
แต่ประเด็นสำคัญคือ “การให้บริการขอให้เป็นไปตามสภาวะและความเหมาะสมกับผู้ป่วยจริงๆ และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้จริง” เช่น คนไข้มีหน่วยฟอกเลือดอยู่ข้างบ้าน แต่จะให้ไปใช้การล้างไตผ่านช่องท้องก็ไม่เหมาะ ซึ่งก็ขอให้ขึ้นกับบริบทการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยด้วย อีกทั้งการปรับนโยบายเน้น PD First ในครั้งนี้ สมาคมเพื่อนโรคไตฯ จะร่วมกับ สปสช. สื่อสารและทำความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมหน่วยบริการทั้งเก่าและใหม่ รวมถึงทำความเข้าใจกับประชาชน
และเมื่อสร้างความเข้าใจแล้ว สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ต้องเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ อย่างเช่นเครื่องล้างไตอัตโนมัติ บุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านงานวิชาการและอัตรากำลังเพื่อรองรับนโยบายอย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ได้มีสิทธิประโยชน์เครื่องล้างไตอัตโนมัติด้วย หากจะให้ผู้ป่วยใช้บริการนี้ก็ต้องเตรียมเครื่อง APD ให้พร้อมรองรับผู้ป่วยได้ทันที
“สิ่งที่เรากลัวคือเครื่องจะมีจำนวนไม่เพียงพอ รวมทั้งพยาบาลดูแลก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะแค่ทำงาน PD Nurse ก็หนักแล้ว และยังต้องมาดู APD อีก จึงอยากให้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อีกทั้งการจัดเตรียมสถานที่ในการเก็บน้ำยาล้างไต ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนสำหรับกรณีฉุกเฉินก็ต้องเตรียมไว้เช่นกัน" นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี