สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผนึกกำลังภาครัฐ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ จัดเวทีเสวนา “ก้าวข้ามธรณีพิโรธ : นวัตกรรม ววน. พลิกเกมภัยแผ่นดินไหว เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของไทย” ถอดบทเรียนกรณีแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานคร เปิดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ววน. พร้อมใช้รับมือภัยพิบัติในทุกมิติ โดย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้เร่งระดมสรรพกำลัง ทั้งนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานในสังกัด เพื่อนำผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยรวมถึงนำองค์ความรู้ทางวิชาการไปสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชน พร้อมเน้นย้ำว่ากองทุน ววน. โดย สกสว. ได้รับผิดชอบการจัดทำแผนด้าน ววน. ซึ่งเป็นแผนวิจัยที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของไทย และได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในระบบ ววน. เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว
โดยทาง กระทรวง อว. ได้มีการส่งทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และหุ่นยนต์ตรวจการณ์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก D-EMPIR V.4 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย บริเวณอาคารที่ทำงานสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่ม พร้อมจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือด้านการตรวจสอบอาคารและการแพทย์ (ศปก.อว.) มีการใช้ Traffy Fondue ให้ประชาชนแจ้งเหตุเพื่อส่งทีมเข้าประเมินความเสี่ยงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขณะที่ GISTDA ได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม THEOS-2 ประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“กระทรวง อว. มีบทบาทหลักในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้รับมือภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดเร่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุม 3 ด้านหลัก 1) “พัฒนาระบบเตือนภัยในทุกมิติ” แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ภัยแล้งพร้อมระบบข้อมูลและการสื่อสารที่รวดเร็วและทั่วถึง 2) “เสริมการจัดการภัยพิบัติ” สนับสนุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการจัดการภัยพิบัติและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนในพื้นที่ 3) “สร้างความเข้มแข็งชุมชน” ส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกอบรมให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการรับมือ และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน” รมว.อว. กล่าวทิ้งท้าย
ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงนโยบายการจัดสรรงบประมาณวิจัยเพื่อรองรับภัยพิบัติ โดยมีแผนงาน (P16) ที่มุ่งเน้นการพัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ววน.) โดยแบ่งเป็นสองภาคส่วนหลัก คือ “ภาคการเกษตร”มุ่งเน้นการรับมือกับผลกระทบจาก Climate Change โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยระบบเตือนภัย การปรับปรุงพันธุ์และการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงภัยแล้ง การระบาดของแมลงและการกัดเซาะชายฝั่ง “ภาคเมืองและอุตสาหกรรม” มุ่งเน้นการรับมือแผ่นดินไหว สึนามิ วาตภัย น้ำท่วม/น้ำแล้ง ภัยจากความร้อน ดินโคลนถล่ม โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อ Biodiversity ความมั่นคงทางน้ำและสุขภาพและสัตว์เศรษฐกิจ รวมถึงมีแผนงาน (P24) แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการจัดการและฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านความรู้ กำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน.
ทั้งนี้ สกสว. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเน้นการนำ ววน. มาใช้ในการรับมือภัยพิบัติ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้ 1.จัดสรรงบประมาณวิจัย ภายใต้แผนงานเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตระดับประเทศ เช่น แผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติ 2.ร่วมกับ สอวช. ทบทวนและยกระดับแผนด้าน ววน. ของประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 3.นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสนับสนุนหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสาธารณภัย เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ 4.สนับสนุนภารกิจด้านการสร้างความตระหนักรู้ การป้องกัน และการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในทุกระดับ ทำให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการรับมือภัยพิบัติ และ 5.ขับเคลื่อนบทบาทของ อว. และ สกสว. ให้เป็นกลไกลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เน้นย้ำเป้าหมายหลักคือการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี