เรียกว่าเป็น “โศกนาฏกรรม” ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันไม่ถึง 2 เดือน กับอุบัติเหตุบริเวณ “ถนนสาย 304 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี” ในช่วง “ขาล่อง” หรือฝั่งมุ่งหน้า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โดยล่าสุดเป็นอุบัติเหตุรถโดยสารประจำทาง เส้นทางระยอง-หนองคาย ชนท้ายรถบรรทุก ทำให้รถโดยสารเกิดเพลิงไหม้ทั้งคัน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บกว่า 30 ราย เมื่อเวลาประมาณตีหนึ่งเศษๆ ของวันที่ 21 เม.ย. 2568 ซึ่งก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2568 ก็เพิ่งเกิดเหตุรถบัสโดยสาร 2 ชั้นไม่ประจำทาง โดยเทศบาลบึงกาฬ ได้จัดทัศนศึกษาดูงานที่จังหวัดระยอง ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บบอีกกว่า 40 ราย
ในงานเสวนา Road Safety Talk: “ถอดรหัส 304 ปักหมุดปราจีนต้นแบบถนนปลอดภัย” ที่ รร.แคนทารี 304 อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และภาคีเครือข่ายอีกหลายองค์กร ช่วงครึ่งวันเช้าของวันที่ 21 เม.ย. 2568 หรือไม่กี่ชั่วโมงหลังอุบัติเหตุครั้งล่าสุดบนเส้นทางดังกล่าว ศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (TARC) ได้ฉายภาพ “ปัจจัยเสี่ยง” ที่ทำให้จุดนี้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงมาก โดยเฉพาะ “รถขนาดใหญ่” อย่างรถบัสและรถบรรทุก ดังนี้
1.สภาพภูมิประเทศ : ถนนสาย 304 ช่วงเขาโทน ด้วยความที่เป็นเส้นทางขึ้น – ลงเขา ในฝั่งขาล่องจะเป็นทางลาดลงระยะทางค่อนข้างยาวอีกทั้งยังเป็นทางโค้ง เมื่อประกอบกับรถขนาดใหญ่มักใช้ระบบ “เบรกลม” หากเป็นคนขับที่ไม่คุ้นชินเส้นทาง ขับลงมาแล้วใช้เบรกบ่อย ผลคือลมเบรกหมดทำให้เบรกไม่อยู่ หากไม่ไปชนรถคันอื่นก็อยู่ที่คนขับจะดัดสินใจว่าจะหักหลบหรือหยุดรถอย่างไร
โดยเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับถนนจุดนี้มาแล้วเกือบ 20 ปี ซึ่งก็ต้องบอกว่ากรมทางหลวงพยายามแก้ไขจุดเสี่ยง อย่างในอดีตเส้นทางดังกล่าวยิ่งอันตรายกว่าในปัจจุบัน เพราะเป็นถนนแบบวิ่งสวนเลน หากรถคันใดเบรกไม่อยู่ก็จะกวาดรถคันอื่นใกล้เคียงไปด้วย นำมาสู่การขยายจาก 2 เลนสวนเป็น 4 เลน สถานการณ์ก็ดีขึ้น แต่ก็มาเกิดอุบัติเหตุรุนแรงอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 ก.พ. และ 21 เม.ย. 2568 ตามลำดับ
2.เป็นเส้นทางสำคัญในด้านการขนส่ง : ไม่ว่าขนส่งสินค้า (รถบรรทุก) หรือขนสงผู้โดยสาร (รถบัส) เส้นทางนี้เป็นจุดเชื่อมระหว่างภาคระวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) กับภาคตะวันออก) ทำให้ปริมาณการจราจรสูงมากและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อปริมาณรถมากความเสี่ยงก็สูงไปด้วยโดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วสูง
3.ข้อจำกัดในการปรับปรุงเส้นทาง : แม้จะมีข้อเสนอว่าอยากให้ปรับปรุงถนนจุดดังกล่าวให้มีความลาดชันน้อยลงบ้าง หรือทำให้ถนนกว้างขึ้นกว่าเดิมบ้าง แต่ก็ติดปัญหาเนื่องจากพื้นที่ด้านข้างถนนจุดดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
“พอเป็นลักษณะทางกายภาพที่แก้ได้ค่อนข้างยาก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราก็พยายามรณรงค์ให้ผู้ขับขี่เขาทราบว่าเส้นนี้มีความเสี่ยง รู้ว่าเส้นนี้ลาดลงเขายาวนานๆ อย่าใช้เบรกเยอะ ใช้เกียร์ต่ำ ลดความเร็วลงให้ได้ ก็เป็นสิ่งที่เราพยายามให้ความรู้กับผู้ขับขี่ที่ผ่านถนนเส้นนี้ รวมถึงมีการตั้งจุด Checkpoint ทางขนส่งเขาตั้งก่อนลงเขา ให้รถใหญ่มาหยุดพักรถ พอเราพักรถลมมันก็จะเก็บเข้าไปในระบบมากขึ้น ก็คือสามารถเพียงพอในการประคองรถลงเขาลงมา แต่ทีนี้มันก็บังคับใช้ไม่ได้ทุกคัน บางคันก็เข้าจุด Checkpoint บางคันก็ไม่เข้า เรื่องการควบคุมคนขับก็ยังมีจุดบกพร่องอยู่” ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว
(แนวหน้า) 21 เม.ย. 2568 เวลา 14.52 น. บริเวณถนน 304 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ช่วงเขาโทน ฝั่งขาขึ้น (มุ่งหน้า จ.นครราชสีมา) เมื่อมองไปฝั่งตรงข้ามที่เป็นขาล่อง (มุ่งหน้า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี) จะมีการติดป้ายเตือนให้รถขนาดใหญ่ทั้งรถบัสและรถบรรทุก ให้ใช้เกียร์ 2 ซึ่งเป็นเกียร์ต่ำ เนื่องจากเป็นเส้นทางลงเขาลาดชัน
4.ทางออกฉุกเฉินที่ไม่ได้พร้อมใช้ทุกครั้ง – เส้นจราจรที่ลบเลือนอย่างรวดเร็ว : มีการทำทางออกฉุกเฉินไว้ 2 จุด จุดหนึ่งคือประมาณกิโลเมตรที่ 210 หรือ 209+500 กับอีกจุดคือกิโลเมตรที่ 211 แต่ปัญหาอยู่ที่ “การบำรุงรักษา” หากไม่ทำให้ดีผ่านไประยะหนึ่งจะมีหญ้าขึ้น คนขับก็จะไม่รู้ตรงนั้นเป็นทางฉุกเฉินที่ออกแบบไว้ช่วยประคองรถที่เบรกไม่อยู่ให้หยุดได้ โดยเฉพาะหากไม่ใช่คนที่ใช้เส้นทางเป็นประจำ
หรือแม้แต่คนขับรู้ว่าเป็นทางออกฉุกเฉิน แต่การมีหญ้าขึ้นแทนที่จะช่วยหยุดรถกลับยิ่งซ้ำให้รถลื่นไถลหนักกว่าเดิม อย่างเมื่อ 15 ปีก่อน ตนลงพื้นที่ตรวจสอบอุบัติเหตุ คนขับบังคับรถเข้าทางออกฉุกเฉินแต่พื้นทางมีหญ้าขึ้น จำได้ว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนั้นป้ายบอกว่าจุดนั้นเป็นทางฉุกเฉินก็ยังมีขนาดเล็กหรือไม่มีป้ายบอก เช่นเดียวกับการตีเส้นจราจรบนพื้นถนน ด้วยความที่เส้นทางนี้รถบรรทุกใช้กันมาก เส้นจะลบเลือนเร็วกว่าถนนทั่วไป การบำรุงรักษาจึงต้องทำบ่อยกว่า
5.นำแบริเออร์ที่ใช้กับเส้นทางทั่วไปมาติดตั้งในเส้นทางที่ไม่ปกติ : เส้นทางที่มีความเสี่ยงสูง แบริเออร์ที่นำมาทำแนวกั้นถนนต้องแข็งแรงกว่าและสูงกว่าแบริเออร์ทั่วไป เพราะแม้การหลุดออกจากแนวถนนจะไม่ใช่การตกเหว แต่ด้านข้างของถนนสาย 304 ช่วงเขาโทนขาล่องนั้นเป็นภูเขาหิน อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2568 หลังคารถบัสเปิดก็เพราะกระแทกกับภูเขาหิน
“ทางออกฉุกเฉินในต่างประเทศ ของเขาจะมีป้ายชัดเจน แม้กระทั่งพื้นทำเป็นคนละสีเพื่อให้คนเห็น แล้วก็ต้องมีการสร้างการรับรู้ให้กับผู้ขับขี่ด้วยว่าเส้นนี้มันจะมีทางออกฉุกเฉิน ถ้าเบรกไม่อยู่จริงๆ ต้องมีสติตัดสินใจแล้วประคองรถให้เข้าทางออกฉุกเฉินให้ได้ นี่ก็เป็นประเด็นปัญหาของทาง 304 นี้” ศ.ดร.กัณวีร์ ระบุ
(แนวหน้า) 21 เม.ย. 2568 เวลา 14.56 น. บริเวณถนน 304 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ช่วงเขาโทน ฝั่งขาล่อง (มุ่งหน้า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี) จะมีจุด Checkpoint ให้คนขับรถขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรถบรรทุกมาจอดลงเวลา เพื่อให้เตรียมความพร้อมทั้งคนขับและรถ ซึ่งรวมถึงระบบเบรกลม ก่อนเดินทางต่อในช่วงลงเขาที่มีความลาดชัน
สำหรับข้อเสนอแนะใน “ระยะเร่งด่วน” เช่น ติดตั้งแบริเออร์ประเภทที่มีมาตรฐานสูง (High Containment Barrier) มีความสูง 1 – 1.5 เมตร ซึ่งในต่างประเทศจะใช้แบริเออร์ประเภทนี้กับเส้นทางภูเขา บำรุงรักษาเส้นจราจรให้ดีอยู่เสมอ ป้ายหรือหลักนำทางต้องอยู่ในสภาพที่มองเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะการที่อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นช่วงกลางคืน สิ่งเหล่านี้จะช่วยได้มาก สร้างการรับรู้เรื่องการใช้ทางออกฉุกเฉินและบำรุงรักษาทางออกฉุกเฉินให้พร้อมใช้งานเสมอ
ส่วน “ระยะยาว” มีแนวคิดเรื่องการสร้างถนนมอเตอร์เวย์เส้นใหม่ในลักษณะเป็นอุโมงค์ลอด ซึ่งจะช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนแรกคือการศึกษาความเป็นไปได้จะเริ่มในปี 2569 ก่อนจะนำไปสู่การออกแบบและการก่อสร้างตามลำดับ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใช้เวลาอีกกี่ปีกว่าจะมีถนนเส้นใหม่ให้สัญจร ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งคือการปรับปรุงให้เส้นทางมีความลาดชันน้อยลง ก็เป็นเรื่องที่กรมทางหลวงจะต้องไปพูดคุยกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง
“High Containment Barrier เป็นอย่างไร? มันมีหลายรูปแบบมาก หน้าตาทุกท่านอาจคิดว่ามันคล้ายกัน แต่ความสูงมันสูงกว่า แล้วมันจะมีเดือย มีฐานรากที่แข็งแรงกว่า อันนี้มันควรเอามาใช้ได้แล้วสำหรับเส้นทางวิกฤติลักษณะแบบนี้” ศ.ดร.กัณวีร์ ฝากทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/local/878530 บัสเบรกแตก ชนรถพ่วงไฟลุกท่วม ช่วงโค้งลงเขาศาลปู่โทน ดับ 7 เจ็บ 30 กว่าราย
https://www.naewna.com/local/864551 เปิดสาเหตุ รถทัวร์ทัศนศึกษาดูงาน พลิกคว่ำทางลงเขาโทน ดับ 17
https://www.naewna.com/likesara/864910 ‘เบรกแตก’กับอุบัติเหตุบนท้องถนน ไขข้อข้องใจ‘รถใหญ่’ทำไมมีข่าวบ่อย?
(แนวหน้า) 21 เม.ย. 2568 เวลา 14.56 น. บริเวณถนน 304 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ช่วงเขาโทน ฝั่งขาล่อง (มุ่งหน้า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี) รถบรรทุกเข้าจุด Checkpoint ซึ่งเป็นให้คนขับรถขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรถบรรทุกมาจอดลงเวลา เพื่อให้เตรียมความพร้อมทั้งคนขับและรถ ซึ่งรวมถึงระบบเบรกลม ก่อนเดินทางต่อในช่วงลงเขาที่มีความลาดชัน
(ศ.ดร.กัณวีร์) สภาพทางออกฉุกเฉินที่ไม่พร้อมใช้งาน
(ศ.ดร.กัณวีร์) มีทางออกฉุกเฉินแต่ไม่มีป้ายบอก
(ศ.ดร.กัณวีร์) เส้นจราจรลบเลือน เนื่องจากรถขนาดใหญ่สัญจรไปมาจำนวนมาก
(ศ.ดร.กัณวีร์) ตัวอย่างทางออกฉุกเฉินในต่างประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี