“ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวารวดี” เป็นคำขวัญของ “ปราจีนบุรี” จังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ขณะที่ รายงานผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัดแบบปริมาณลูกโซ่ 2567 (อ้างอิงฐานข้อมูลปี 2565) จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่า ปราจีนบุรี อยู่ในอันดับ 7 ของกลุ่มจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวของประชากร (GRP per capita) สูงที่สุดในไทย
จ.ปราจีนบุรี มีความสำคัญในฐานะ “เส้นทางเชื่อม” ระหว่างภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ผ่าน “ถนนสาย 304” จาก จ.นครราชสีมา ลงมาถึงกรุงเทพฯ รวมถึงมีทางแยกใน จ.ฉะเชิงเทรา ไปยัง จ.ชลบุรี บวกกับ จ.ปราจีนบุรี ยังมี “นิคมอุตสาหกรรม 304” หรือสวนอุตสาหกรรม 304 ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ ปริมาณการสัญจรผ่านไป – มาจึงค่อนข้างหนาแน่น โดยเฉพาะ “ภาคการขนส่ง” ทั้งส่งสินค้าและส่งผู้โดยสาร ทำให้ “ความปลอดภัยทางถนน” เป็นประเด็นที่ทางจังหวัดให้ความสำคัญ
“จังหวัดปราจีนบุรีของเรา มีศักยภาพโดดเด่นในการที่จะเป็นต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ด้วยความพร้อมในเชิงนโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ผ่านมา จ.ปราจีนบุรี ได้ดำเนินมาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง และสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ตามเป้าหมายของแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 ในช่วงปี 2565 - 2566”
วีระพันธ์ ดีอ่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวในงานแถลงข่าว “ปราจีนยืนหนึ่ง ถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย” ภายใต้ “โครงการสร้างพื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน และการรณรงค์ประกันภัยรถภาคบังคับ ปี 2568” ซึ่งร่วมจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และภาคีเครือข่ายอีกหลายองค์กร ในช่วงครึ่งวันเช้า ของวันวันที่ 21 เม.ย. 2568 ณ โรงแรมแคนทารี 304 อ.ศรีมหาโพธิ
วีระพันธ์ ดีอ่อน
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี ยอมรับว่า ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงในช่วงเวลาตีหนึ่งเศษๆ ของวันที่ 21 เม.ย. 2568 หรือก่อนหน้างานดังกล่าวจะเริ่มเพียงไม่กี่ชั่วโมง กรณีรถโดยสารประจำทาง เส้นทางระยอง-หนองคาย ชนท้ายรถบรรทุก ทำให้รถโดยสารเกิดเพลิงไหม้ทั้งคัน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บกว่า 30 ราย บริเวณ “ถนนสาย 304 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ในช่วงขาล่อง หรือฝั่งที่มาจาก จ.นครราชสีมา มุ่งหน้า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี” ยังเป็น “ความท้าทาย” และสะท้อนความจำเป็นในการพัฒนามาตรการด้านความปลอดภัยทางถนน
ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ยังมีวงเสวนา “Road Safety Talk : ถอดรหัส 304 ปักหมุดปราจีนต้นแบบถนนปลอดภัย” ซึ่งต้องบอกว่าถนนสาย 304 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ฝั่งขาล่อง เกิดอุบัติเหตุระดับ “โศกนาฏกรรม” ห่างกันในเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือน โดยเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2568 ก็เพิ่งเกิดเหตุรถบัสโดยสาร 2 ชั้นไม่ประจำทาง โดยเทศบาลบึงกาฬ ได้จัดทัศนศึกษาดูงานที่ จ.ระยอง ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 40 ราย
ศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (TARC) ฉายภาพความอันตรายของถนนเส้นดังกล่าว 1.ภูมิประเทศ ด้วยความเป็นเส้นทางขึ้น – ลงเขา โดยในฝั่งขาล่องจะเป็นทางลาดลงระยะทางค่อนข้างยาวอีกทั้งยังเป็นทางโค้ง เมื่อประกอบกับรถขนาดใหญ่ไม่ว่ารถบัสหรือรถบรรทุกมักใช้ระบบ “เบรกลม” หากผู้ขับขี่ไม่ชำนาญเส้นทาง เผลอใช้เบรกจนหมดก็ทำให้เบรกไม่อยู่และอาจเกิดอุบัติเหตุได้
ซึ่งในอดีตสถานการณ์ยิ่งรุนแรงกว่านี้ เพราะยังเป็นถนน 2 เลนที่รถวิ่งสวนกันได้ หากรถคันใดเบรกไม่อยู่ก็มักจะกวาดรถที่อยู่ข้างๆ เกิดอุบัติเหตุไปด้วย แต่เมื่อขยายเป็นถนน 4 เลน และมีแนวกั้นระหว่างขาขึ้นกับขาล่อง อุบัติเหตุก็ลดลง กระทั่งมาเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง 2 ครั้งในเวลาไม่ถึง 2 เดือนในปี 2568 ดังกล่าว 2.เป็นเส้นทางหลักในภาคขนส่ง โดยเป็นจุดเชื่อมระหว่างภาคระวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) กับภาคตะวันออก เมื่อมีปริมาณรถที่สัญจรไป – มามากความเสี่ยงก็สูงไปด้วยโดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วสูง
3.ข้อจำกัดในการปรับปรุงเส้นทาง แม้จะมีข้อเสนอว่าควรปรับปรุงให้มีความลาดชันน้อยลงบ้าง หรือทำให้ถนนกว้างขึ้นกว่าเดิมบ้าง แต่ก็ติดปัญหาเนื่องจากพื้นที่ด้านข้างถนนจุดดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งในระยะยาว 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมทางหลวงกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องไปพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง
21 เม.ย. 2568 เวลา 14.56 น. บริเวณถนน 304 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ช่วงเขาโทน ฝั่งขาล่อง (มุ่งหน้า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี) รถบรรทุกเข้าจุด Checkpoint ซึ่งเป็นให้คนขับรถขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรถบรรทุกมาจอดลงเวลา เพื่อให้เตรียมความพร้อมทั้งคนขับและรถ ซึ่งรวมถึงระบบเบรกลม ก่อนเดินทางต่อในช่วงลงเขาที่มีความลาดชัน
4.ทางออกฉุกเฉินที่ไม่ได้พร้อมใช้ทุกครั้ง – เส้นจราจรที่ลบเลือนอย่างรวดเร็ว มีการทำทางออกฉุกเฉินไว้ 2 จุด จุดหนึ่งคือประมาณกิโลเมตรที่ 210 หรือ 209+500 กับอีกจุดคือกิโลเมตรที่ 211 แต่ปัญหาอยู่ที่ “การบำรุงรักษา” หากไม่ทำให้ดีผ่านไประยะหนึ่งจะมีหญ้าขึ้น คนขับก็จะไม่รู้ตรงนั้นเป็นทางฉุกเฉินที่ออกแบบไว้ช่วยประคองรถที่เบรกไม่อยู่ให้หยุดได้ โดยเฉพาะหากไม่ใช่คนที่ใช้เส้นทางเป็นประจำ หรือแม้แต่คนขับรู้ว่าเป็นทางออกฉุกเฉิน แต่การมีหญ้าขึ้นแทนที่จะช่วยหยุดรถกลับยิ่งซ้ำให้รถลื่นไถลหนักกว่าเดิม
นอกจากนั้นป้ายบอกว่าจุดนั้นเป็นทางฉุกเฉินก็ยังมีขนาดเล็กหรือไม่มีป้ายบอก เช่นเดียวกับการตีเส้นจราจรบนพื้นถนน ด้วยความที่เส้นทางนี้รถบรรทุกใช้กันมาก เส้นจะลบเลือนเร็วกว่าถนนทั่วไป การบำรุงรักษาจึงต้องทำบ่อยกว่า และ 5.นำแบริเออร์ที่ใช้กับเส้นทางทั่วไปมาติดตั้งในเส้นทางที่ไม่ปกติ เส้นทางที่มีความเสี่ยงสูง แบริเออร์ที่นำมาทำแนวกั้นถนนต้องแข็งแรงกว่าและสูงกว่าแบริเออร์ทั่วไป เรียกว่า (High Containment Barrier มีความสูง 1 – 1.5 เมตร มีและฐานรากที่แข็งแรงกว่า ซึ่งในต่างประเทศจะใช้แบริเออร์ประเภทนี้กับเส้นทางภูเขา
เพราะแม้การหลุดออกจากแนวถนนจะไม่ใช่การตกเหว แต่ด้านข้างของถนนสาย 304 ช่วงเขาโทนขาล่องนั้นเป็นภูเขาหิน อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2568 หลังคารถบัสเปิดก็เพราะกระแทกกับภูเขาหิน ทั้งนี้ ศ.ดร.กัณวีร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในส่วนของทางออกฉุกเฉิน ของต่างประเทศจะมีป้ายชัดเจน แม้กระทั่งพื้นทำเป็นคนละสีเพื่อให้คนเห็น แล้วก็ต้องมีการสร้างการรับรู้ให้กับผู้ขับขี่ด้วยว่าเส้นนี้มีทางออกฉุกเฉิน หากเบรกไม่อยู่จริงๆ ต้องมีสติตัดสินใจแล้วประคองรถให้เข้าทางออกฉุกเฉินให้ได้
“พอเป็นลักษณะทางกายภาพที่แก้ได้ค่อนข้างยาก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราก็พยายามรณรงค์ให้ผู้ขับขี่เขาทราบว่าเส้นนี้มีความเสี่ยง รู้ว่าเส้นนี้ลาดลงเขายาวนานๆ อย่าใช้เบรกเยอะ ใช้เกียร์ต่ำ ลดความเร็วลงให้ได้ ก็เป็นสิ่งที่เราพยายามให้ความรู้กับผู้ขับขี่ที่ผ่านถนนเส้นนี้ รวมถึงมีการตั้งจุด Checkpoint ทางขนส่งเขาตั้งก่อนลงเขา ให้รถใหญ่มาหยุดพักรถ พอเราพักรถลมมันก็จะเก็บเข้าไปในระบบมากขึ้น ก็คือสามารถเพียงพอในการประคองรถลงเขาลงมา แต่ทีนี้มันก็บังคับใช้ไม่ได้ทุกคัน บางคันก็เข้าจุด Checkpoint บางคันก็ไม่เข้า เรื่องการควบคุมคนขับก็ยังมีจุดบกพร่องอยู่” ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว
21 เม.ย. 2568 เวลา 14.52 น. บริเวณถนน 304 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ช่วงเขาโทน ฝั่งขาขึ้น (มุ่งหน้า จ.นครราชสีมา) เมื่อมองไปฝั่งตรงข้ามที่เป็นขาล่อง (มุ่งหน้า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี) จะมีการติดป้ายเตือนให้รถขนาดใหญ่ทั้งรถบัสและรถบรรทุก ให้ใช้เกียร์ 2 ซึ่งเป็นเกียร์ต่ำ เนื่องจากเป็นเส้นทางลงเขาลาดชัน
ข้อมูลอุบัติเหตุจากระบบบูรณาการข้อมูลการตาย 3 ฐาน ระหว่างปี 2565 - ไตรมาส 2/2567 ซึ่งนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในงานแถลงข่าวและเสวนาครั้งนี้ ระบุ “5 จุดเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนนใน จ.ปราจีนบุรี” ประกอบด้วย 1.ทางหลวงสาย 304 เขาหินซ้อน - วังน้ำเขียว 2.ทางหลวงสาย 3079 ปราจีนบุรี - ศรีมหาโพธิ 3.ทางหลวงสาย 33 ถนนสุวรรณศร 4.ทางหลวงสาย 359 คลองยาง - เขาหินซ้อน และ 5.ทางหลวงชนบทปราจีนบุรี สาย 2006 หนองสังข์-บ้านโป่งใหญ่
สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ TDRI ชี้ว่า ถนนสาย 304 นี้คือความท้าทายสำคัญของ จ.ปราจีนบุรี ในด้านความปลอดภัยบนท้องถนน หลายครั้งมีรถผ่านทางมาแล้วมาเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นหากคุมพื้นที่ถนนสาย 304 ได้ไม่ดี เป้าหมายของจังหวัดที่ต้องการลดอัตราการตายคงเป็นไปได้ยาก นอกจากนั้น พาหนะที่ใช้กันมากภายในจังหวัดคือมอเตอร์ไซค์ ซึ่งก็เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากเช่นกัน โดยคิดเป็น 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคน (หรือวัยทำงาน , อายุ 25 – 60 ปี) และวัยรุ่น (อายุ 15 – 24 ปี)
“ปราจีนบุรีเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมด้วย แล้วก็เป็นพื้นที่เกษตรผสม ดังนั้นเราจะเริ่มเห็นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชุมชน ตลาด อำเภอเมือง อำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอศรีมโหสถ ทั้ง 3 อำเภอดูแนวโน้มมีพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นปัญหา อาจต้องมีมาตรการลงไป ซึ่งใน 3 อำเภอนี้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ก็เป็นอุบัติเหตุจักรยานยนต์ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของทีมวิจัยที่พยายาม เราไปวิเคราะห์เชิงลึกเสร็จแล้วมาร่วมกันกำหนดมาตรการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการที่จะมาลดอุบัติเหตุทางถนนให้ได้” สุเมธ กล่าว
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี