เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยแพร่รายงานผลสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากร พ.ศ. 2567 ซึ่งดูเผินๆ แล้วตัวเลขผู้สูบบุหรี่ในไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 17.4% ในปี 2564 ลดลงเหลือ 16.5% ในปี 2567 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป
แต่หากดูเป็นจำนวนคนแล้วพบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 9,936,644 ล้านคน ในการสำรวจในปี 2564 เป็น 9,776,637 ล้านคน โดยลดลงเพียง 160,007 คน หรือลดลงแค่ 1.6% เท่านั้นในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ภาครัฐได้มีความพยายามในการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นกว่า 1,100% แค่ในช่วง 3 ปี
ข้อมูลที่ไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์นี้เปิดเผยให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่น่ากังวลอย่างยิ่งต่อทิศทางนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกระทรวงสาธารณสุข เพราะภาพรวมผู้สูบบุหรี่ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยิ่งหากเจาะลึกลงไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผู้คนเลือกใช้ 3 ประเภทหลักนั้น กลับพบว่าทุกประเภทยาสูบหลักได้แก่ บุหรี่โรงงาน บุหรี่มวน และบุหรี่ไฟฟ้า กลับเพิ่มขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะ “บุหรี่ไฟฟ้า” ที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากปี 2564 ที่มีเพียง 0.14% หรือราว 7.4 หมื่นคน พุ่งขึ้นมาเป็น 1.5% หรือประมาณ 9 แสนคน ในปี 2567 เพิ่มขึ้นกว่า 11 เท่า หรือ 1,100% ในระยะเวลาเพียง 3 ปี ทั้งที่เป็นสินค้าผิดกฎหมายมาตั้งแต่ ปี 2557 ชี้ให้เห็นว่า นโยบายห้ามนำเข้า-ขายบุหรี่ไฟฟ้าของไทยไม่มีประสิทธิภาพ เพราะความเป็นจริงมีการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในตลาดใต้ดินสวนทางกับเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างสิ้นเชิง
ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้สูบบุหรี่แบบมวนเองหรือที่เรียกว่ายาเส้นก็เพิ่มขึ้นจาก 4.6 ล้านคน ในปี 2564 เป็น 5.2 ล้านคนในปี 2567 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาถูกกว่าบุหรี่หลายเท่าตัวและเป็นที่นิยมของผู้สูบในต่างจังหวัด
ในรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติไม่ได้มีการระบุว่าประเภทของบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานที่เป็นที่นิยมมากที่สุดนั้น เป็นการบริโภคบุหรี่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย แต่ผู้สูบบุหรี่โรงงานนั้นเพิ่มขึ้นจาก 5.6 ล้านคน เป็น7.5 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล แต่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะปัจจุบันบุหรี่เถื่อนเติบโตแบบก้าวกระโดดจากร้อยละ 6 ในปี 2563 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 25 ในปี 2567 เนื่องจากผู้สูบบุหรี่ไม่ได้สนใจเรื่องยี่ห้อหรือการละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด เน้นแค่ความประหยัด ราคาถูก และสะดวกสบาย หาซื้อได้ง่ายเท่านั้น
หากพิจารณาร่วมกับข้อมูลผลประกอบการของการยาสูบแห่งประเทศไทยปีล่าสุด จะพบมีการระบุว่าปริมาณการบริโภคบุหรี่โรงงานมีแนวโน้มหดตัวลงเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วอัตราการบริโภคบุหรี่โรงงานของคนไทยที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 34%เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีสาเหตุมาจากบุหรี่เถื่อนหรือไม่ และการปราบปรามบุหรี่เถื่อนของไทยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจริงหรือ
นี่คือภาพสะท้อนให้เห็นว่าความพยายามที่ผ่านมาของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการคลังในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ด้วยการเดินหน้านโยบายและยุทธศาสตร์รณรงค์งดสูบบุหรี่ อาทิ การขึ้นภาษีบุหรี่แบบก้าวกระโดด การปกป้องตลาดยาเส้นโดยไม่ปรับขึ้นอัตราภาษียาเส้น การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ได้ส่งผลเพียงแค่การโยกย้ายกลุ่มผู้สูบบุหรี่โรงงานไปสู่บุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้าที่เติบโตในตลาดมืดแบบไร้กฎหมายควบคุม สามารถขายได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ บรรยายโอ้อวดสรรพคุณได้อย่างเต็มที่
บุหรี่หนีภาษีและยาเส้นมวนเองเป็นสินค้าทดแทนบุหรี่ยังไม่มีความเข้มงวดเรื่องระเบียบการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายเท่ากับบุหรี่ซองที่ผลิตจากโรงงาน ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าใต้ดินที่ไม่มีการควบคุมใดๆ ทำให้เกิดการเติบโตแบบทะลุเพดานถึงกว่า 1,100% อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
เมื่อการสูบบุหรี่ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่ยังเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจใต้ดินและการบริหารจัดการนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เรื่องนี้จึงเป็นการวัดฝีมือด้านนโยบายสาธารณสุข และนโยบายภาษีสรรพสามิต ของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการคลังว่าจะกล้าตั้งคำถามต่อความล้มเหลวนี้อย่างตรงไปตรงมา ว่านโยบายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นได้ผลจริงหรือไม่ หรือเพียงเป็นการ “สร้างภาพ” บนตัวเลขที่เลือกหยิบมาใช้ออกข่าวประชาสัมพันธ์โดยหลีกเลี่ยงการยอมรับความจริง เพราะสุดท้าย “ตัวเลข” มันหลอกประชาชนไม่ได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี