ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ หมายถึงองค์ประกอบทางด้านกายภาพ สังคม หรือสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สิน หรือสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพมีอยู่หลายประการที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวและส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชน
ในขณะที่เรื่องปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพได้สร้างปัญหาให้กับสังคมอยู่นั้น อีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามป้องกันและแก้ไขอย่างแข็งขันเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระพัฒนา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนความสำเร็จในการบูรณาการจัดการปัจจัย 3 เสี่ยงด้านสุขภาพร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม นายอำเภอกำแพงแสน นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ สาธารณสุขอำเภอกำแพงแสน และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนภาคีเครือข่ายในการสร้างเสริมสุขภาพ จัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและภัยคุกคามสุขภาพ โดยเฉพาะยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุทางถนน โดยบูรณาการกับกลไกของระบบสุขภาพอำเภอ เกิดรูปธรรมและผลลัพธ์ที่ชัดเจนในพื้นที่ อ.กำแพงแสน มีกลไกการทำงานที่เข้มข้น ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหายาเสพติด สานพลังชุมชน คนหัวชุกบัว ล้อมรักษ์ให้ครอบครัวขจัดภัยยาเสพติด
2.บูรณาการระบบบริการสุขภาพเพื่อการจัดการลด ละเลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสร้างความรอบรู้ด้วยกลยุทธ์ พักตับ ยืดชีวิต โดยสร้างกลไกระบบส่งต่อในระบบบริการสุขภาพเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมส่งต่อการรักษาผ่าน กลไก สามหมอ
3.บูรณาการเครือข่ายหมออนามัยกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุในชุมชน พร้อมมาตรการ 5 ป. ประชาคม ประชาสัมพันธ์ ปลูกทัศนคติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในชุมชนในพื้นที่ อ.กำแพงแสน
“การมีส่วนร่วมทั้งภาคีเครือข่ายและชุมชน ส่งผลให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งงบประมาณ ทรัพยากร และกำลังคน ดำเนินงานผ่านการสนับสนุนของ สสส. เครือข่ายหมออนามัยวิชาการและกลไก พชอ.บนฐาน “พื้นที่เป็นฐาน ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” เพื่อคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในการจัดการและสามารถลดปัญหาที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยง เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่ การถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานจัดการปัจจัยเสี่ยงและภัยคุกคามสุขภาพของอ.กำแพงแสน ก่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การขยายผลเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นต่อไป” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
นายนรวีร์ ขันธหิรัญ นายอำเภอกำแพงแสน กล่าวว่า อ.กำแพงแสน ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในพื้นที่ ผ่านกลไก พชอ.กำแพงแสน โดยมุ่งเน้นประเด็นปัญหาหลัก ยาเสพติด อุบัติเหตุทางถนน และโรคไม่ติดต่อ ซึ่งประเด็นปัญหาที่ท้าทาย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องอาศัยการจัดการและการขับเคลื่อนของพื้นที่ อ.กำแพงแสน ขณะที่การจัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด และการจัดการอุบัติเหตุทางถนน ระดมทีมภาคราชการ ภาคหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข ผู้นำชุมชน อสม. อปพร. และพลังของภาคีเครือข่ายระดับอำเภอ ร่วมกันออกแบบและพัฒนากลไกการทำงานที่ยั่งยืน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน และการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
“ส่วนหนึ่งของปัจจัยของความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานของ พชอ. คือ เครือข่ายหมออนามัย ที่เป็นพลังหลักและเป็นผู้นำการเชื่อมประสานและพัฒนากลไกชุมชน ส่งเสริมการจัดการตนเองของชุมชนในการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ การเสริมพลังและสะท้อนเชิงพัฒนาจากทุกภาคส่วน เป็นโอกาสสำคัญต่อการยกระดับและต่อยอดแนวคิดใหม่ๆ สู่การขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่” นายนรวีร์ กล่าว
นายธนาธิป บุญญาคม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยสุขภาพใน ต.สระพัฒนา ในปี 2567 ได้แก่ 1.ยาเสพติด พบมีผู้เสพสมัครใจเข้ารับการบำบัด 23 คน พบอาการทางจิต 1 คน และเป็นกลุ่มสีแดง คือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย มีอาการอาละวาด คลุ้มคลั่ง เป็นอันตรายกับคนในชุมชน 2 คน ต้องส่งรักษาในโรงพยาบาล
2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบมีผู้ดื่มทั้งหมด 357 คน เป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 35-59 ปี สูงถึง 62.5% ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มดื่มแบบเสี่ยง 183 คน และดื่มแบบมีความเสี่ยงสูง 69 คน โดยเชิญชวนกลุ่มดื่มแบบเสี่ยงทั้งหมดตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ มีผู้สมัครใจเข้าร่วม 105 คน
3.อุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ พบมีผู้ประสบภัย 61 คน ผู้บาดเจ็บ 59 คน เสียชีวิต 2 ศพ
“การทำงานในพื้นที่ ต.สระพัฒนา มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือหมออนามัย ได้บูรณาการการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ 1.เชื่อมประสานทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมมากที่สุด 2.ร่วมวางแผนในการดำเนินการ 3.สำรวจพื้นที่ ร่วมติดตามแก้ไข 4.เป็นวิทยากรในการอบรมให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในทุกมิติเพื่อลดความเสี่ยงเพิ่มปัจจัยบวกด้านสุขภาพของคนในชุมชน และเป็นหน่วยงานที่สร้างแกนนำเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทุกด้าน เช่น การอบรมให้ความรู้กับ อสม. ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันดูแล แก้ไขปัญหาในพื้นที่” นายธนาธิป กล่าว
นายสุวัจชัย เกียรติสกุลทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่การใช้ยาเสพติดและอุบัติเหตุในทางหลักหรือทางรองของพื้นที่ ต.สระพัฒนา การจับมือกับหลายภาคส่วนระดมสมอง ทำให้ ต.สระพัฒนา สามารถจัดการปัญหาได้ค่อนข้างดี ล่าสุดได้ใช้โมเดลชุมชนล้อมรักษ์ ช่วยบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดได้รับการดูแลได้รับโอกาสคืนกลับสู่สังคมและใช้ชีวิตอย่างปกติ 6 คน หยุดเสพ 3 คน ลดการใช้ยา 1 คน เกิดครอบครัวล้อมรักษ์และครัวเรือนสีขาว 246 ครัวเรือน เกิดการขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชนบ้านหนองหมู ต.สระพัฒนา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
ขณะเดียวกันยังได้ผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการเล่นกีฬาในชุมชน โดยจัดพื้นที่เล่นกีฬา ติดไฟให้สว่างเพื่อความปลอดภัย ลดการมั่วสุมยาเสพติด
ทั้งหมดนี้ทำให้ชุมชนมีความตื่นตัวไปพร้อมกัน เพื่อให้ไม่ถูกเรียกว่าเป็นชุมชนพื้นที่สีแดงอีกต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี