'ทุกข์ในจิต' : ถ้าไม่อยากตายก็จะทุกข์ทรมานใจ ถ้ายอมรับความตายก็จะไม่ทุกข์
ทุกขเวทนาไม่ใช่ตัวปัญหา ปัญหาอยู่ที่ทุกข์ในอริยสัจ 4 ที่อยู่ในจิตในใจ ที่เกิดจากความไม่อยากตาย จะรุนแรงกว่าความทุกข์ของร่างกายที่ปฏิบัติธรรมกันนี้ก็เพื่อดับทุกข์ในอริยสัจ 4 ทุกข์ในจิต ไม่ใช่ทุกข์ในขันธ์ ในร่างกาย ทุกข์ในขันธ์ไม่เป็นปัญหา อย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกนี้ ท่านนิพพานคือตายได้อย่างสบาย เพราะท่านไม่มีทุกข์ในอริยสัจ 4 ไม่มีทุกข์ในจิต ทุกข์ในกายกับทุกข์ในจิตนี้ เป็นเหมือนน้ำในตุ่มกับน้ำในมหาสมุทร ถ้าจิตมีความสุข ความทุกข์ของร่างกาย ซึ่งเป็นเหมือนน้ำในตุ่ม จะไม่มีกำลังสู้กับความสุข ที่เป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทรได้ จิตของผู้ที่บริสุทธิ์หรือจิตที่เข้าฌานสมาบัติได้ จะไม่เดือดร้อนกับความเจ็บปวดของร่างกาย พวกที่เข้าฌานสมาบัติได้ เวลาจะตายก็เข้าฌานกัน พวกที่จิตบริสุทธิ์ก็ไม่ต้องเข้าฌานก็ได้ เพราะจิตไม่มีทุกข์ในอริยสัจ 4 จิตรับรู้ความเจ็บปวดของร่างกายได้ อย่างไม่สะทกสะท้าน ต่างฝ่ายต่างอยู่
สิ่งที่เราต้องทำก็คือทำให้ใจนิ่งสงบ ไม่ผลิตทุกข์ในอริยสัจ 4 ขึ้นมา ต้องละต้นเหตุของทุกข์ในอริยสัจ 4 คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ในขณะที่ตายก็คือความไม่อยากตายนี่แหละ ถ้าไม่อยากตายก็จะทุกข์ทรมานใจ ถ้ายอมรับความตาย ก็จะไม่ทุกข์ ความเจ็บปวดของร่างกายจะไม่เป็นปัญหา ความทุกข์ใจที่เกี่ยวกับร่างกายมีอยู่ 2 ประการคือ ความไม่อยากตายและความไม่อยากเจ็บ ถ้าไม่อยากทุกข์ เวลาเจ็บก็ต้องอย่าไม่อยากเจ็บ เวลาจะตายก็อย่าไม่อยากตาย เวลานั่งแล้วเจ็บก็อย่าเพิ่งลุก พยายามทำใจให้นิ่ง อย่าไปอยากให้ความเจ็บหายไป อย่าอยากจะหนีจากความเจ็บไป ถ้าละความอยากนี้ได้แล้ว จิตจะสงบเป็นอุเบกขา ความทุกข์ใจก็จะหายไป ความทุกข์กายก็จะเจ็บเพียงนิดเดียว
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความเจ็บปวดของร่างกาย เพราะเป็นธรรมดาของร่างกาย ที่เกิดมาแล้วก็ต้องแก่เจ็บตายไปเป็นธรรมดา เวทนา ก็มีสุขเวทนา มีทุกขเวทนา มีไม่สุขไม่ทุกขเวทนา สลับกันไป เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ความจริงใจรับได้ทั้ง 3 เวทนา แต่ใจมีกิเลสก็เลยไปรักสุขเวทนา ชังทุกขเวทนา ก็เลยทำให้เกิดตัณหาขึ้นมา เกิดความอยาก อยากมีสุขอย่างเดียว ไม่อยากมีทุกข์ ก็เลยไปสร้างทุกข์ในอริยสัจ 4 ขึ้นมา ซึ่งเป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทร ส่วนทุกข์ในขันธ์เป็นเหมือนน้ำในตุ่มน้ำ น้ำหนักต่างกันมาก ถ้าสามารถดับทุกข์ ในขนาดน้ำในมหาสมุทรได้ ทุกข์ในตุ่มน้ำจะไม่เป็นปัญหาเลย เหมือนไม้จิ้มฟันกับตะบอง เอาไม้จิ้มฟันเคาะหัวกับเอาไม้ตะบองเคาะหัว อย่างไหนจะเจ็บกว่ากัน ทุกข์ขนาดไม้จิ้มฟันนี้เราบังคับไม่ได้ แต่ทุกข์ขนาดไม้ตะบองนี่เราหยุดมันได้ แต่เราไม่หยุดกัน เพราะไม่เจริญสติ ไม่นั่งสมาธิ ไม่พิจารณาด้วยปัญญา ไม่พิจารณาไตรลักษณ์ ที่เป็นเครื่องมือที่จะหยุดความทุกข์อันใหญ่หลวงได้ ส่วนความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ของร่างกายนี้ เราหยุดไม่ได้ ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของเขา...
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี