ยังไม่ทันที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะประกาศให้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งจะต้องห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกและห้ามมีไว้ในครอบครอง กรมวิชาการเกษตร ก็ชิงมีคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ลงนามโดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เสริมสุข สลักเพ็ชร์เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562
คำสั่งดังกล่าว ระบุให้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ในส่วนที่กรมวิชาการเกษตรดูแล เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ดังนั้นผู้มีไว้ในครอบครองต้องแจ้งปริมาณที่มีไว้ในครอบครองให้กรมวิชาการเกษตร ทราบภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศกำหนดให้วัตถุอันตรายดังกล่าว เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป)
นอกจากนี้ผู้มีไว้ในครอบครองจะต้องส่งมอบวัตถุอันตรายตามปริมาณที่แจ้งให้กับกรมวิชาการเกษตร ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่แจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบ
หน่วยงานที่รับแจ้ง และรับมอบวัตถุอันตราย 3 ชนิดดังกล่าว ประกอบด้วย สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ในส่วนภูมิภาค แจ้งและส่งมอบได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตทั้ง8 เขต ของกรมวิชาการเกษตร ที่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชัยนาท จันทบุรี สุราษฎร์ธานี และ สงขลา
คำสั่งกรมวิชาการเกษตรดังกล่าวนี้อ้างว่าอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 52 แห่งพระราช
บัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 อำนาจนั้นมีว่าอย่างไร ไปตรวจสอบกันเองนะขอรับ...
ว่าแต่เสียงสะท้อนจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องการประกาศให้สารเคมี 3 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไม่เห็นแถลงให้ทราบกันบ้างเลย...
ที่สำคัญ คำสั่งนี้น่าจะไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการเพราะตอนที่เขานำเข้ามาอนุญาตให้เขานำเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย วันดีคืนร้ายกลับมายึดของเขาไปโดยไม่พูดถึงการชดเชยหรือการเยียวยาความเสียหาย....แปลกดี..
วันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาเช่นเดียวกันสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมความเห็นจากสมาคมต่างๆ
ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในด้านต่างๆ เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมาคมที่เสนอความเห็นมานี้ล้วนมีบทบาทต่อภาคการผลิต การค้า การลงทุน และการส่งออก เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ส่วนใหญ่เสนอความเห็นให้มีการทบทวนมติการยกเลิกการใช้สารเคมี ซึ่งจะให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 นี้เป็นต้นไป โดยอยากให้ชะลอการยกเลิกไว้ระยะหนึ่ง เพื่อหาวิธีการหรือหาสารทดแทนที่ชัดเจนก่อนที่จะยกเลิก และระยะเวลาที่ชะลอออกไปนี้ก็ให้ใช้วิธีจำกัดการใช้ รวมทั้งให้ความรู้กับเกษตรกรให้ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องพร้อมกันไปด้วย
ถ้าคิดอย่างรอบด้าน การชลอการยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ออกไป น่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย เกษตรกรยังมีสารเคมี 3 ชนิด ใช้ในการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากการอบรมอุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตพืชสำคัญ เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ยางพารา ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการก็สามารถจำหน่ายสารเคมีที่ผลิต หรือนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมายก่อนหน้านี้จนกว่าจะหมด หรือเหลือน้อยที่สุด การค้นหาวิธีการ หรือสารทดแทน ก็มีเวลาที่จะศึกษาค้นคว้า ทดลองจนแน่ใจว่าสามารถกำจัดวัชพืช/ศัตรูพืช ได้อย่างมีประสิทธิภาพและราคาเท่าเทียมกับสารเคมีชนิดเดิม
ขออย่างเดียว อย่าอ้างสุขภาพของประชาชนรอไม่ได้อย่างที่เคยอ้าง เพราะตราบใดที่ยังมีเหล้า และบุหรี่ที่ทำลายสุขภาพของประชาชน ขายอยู่ในท้องตลาด การที่สารเคมี 3 ชนิด ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนยังคงมีขายอยู่ ก็ไม่ต่างกัน....
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าว กระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมวิชาการเกษตร สนธิกำลังเข้าตรวจค้นสถานที่ผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิต ที่อ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และชีวภาพ รวม 5 แห่ง ใน 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี 1 แห่ง นนทบุรี 2 แห่ง และนครราชสีมา 2 แห่ง ซึ่งมีทั้งสถานที่ผลิต ร้านค้าจำหน่ายปัจจัยการผลิต และโกดังเก็บวัตถุอันตราย
จากการที่มีผู้ร้องทุกข์ผ่านทางศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจค้นพบว่าผลิตภัณฑ์อินทรีย์และชีวภาพเหล่านั้นไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการผลิตเพื่อจำหน่าย ยิ่งไปกว่านั้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังผสมสารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซต ที่กรมวิชาการเกษตรมีคำสั่งล่าสุดให้เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 เสียด้วย
เรื่องสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ผสมพาราควอต และไกลโฟเซต เคยมีข่าวมาก่อนนี้แล้ว จากกรณีที่ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านหนึ่ง มีบัญชีรายชื่อสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ แต่โป๊ะแตก เพราะจากการตรวจสอบพบว่า สารชีวภัณฑ์ดังกล่าวมีส่วนผสมของ ไกลโฟเซต และพาราควอต แบบเดียวกันนี้เลย.....และเชื่อว่ายังมีอีกเยอะที่ยังตรวจไม่พบ....
แว่นขยาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี