คำถาม ที่ดินของผม สงสัยว่าส่วนหนึ่งจะเป็นดินดานครับ ดินดานคืออะไร มีลักษณะชั้นดานอย่างไร และจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรครับ
บุญทรง ทรัพย์ยิ่งเจริญ
อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี
คำตอบ ชั้นดาน หมายถึง ชั้นดินที่อัดตัวแน่นทึบ หรืออนุภาคดินที่ถูกสารเคมีที่จับตัวกันแน่นทึบและแข็ง ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือจากการใช้ที่ดิน เป็นอุปสรรคต่อการชอนไชของรากพืช และการไหลซึมของน้ำและอากาศถ่ายเท ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชและการให้ผลผลิตของพืชที่ปลูก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ชั้นดานที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และชั้นดานที่เกิดขึ้นจากการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม
ชั้นดานที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นชั้นดานที่มีสารเคลือบแข็ง โดยมีสารเชื่อมจากเหล็ก อินทรียวัตถุ คาร์บอเนต หรือซิลิกา ชั้นดานดินเหนียว ชั้นหินทรายแป้งผุ หรือชั้นหินพื้น ส่วนชั้นดานที่เกิดขึ้นจากการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม เกิดจากการอัดแน่นของเนื้อดินจากการไถพรวนด้วยเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ ในภาวะที่ความชื้นที่ดินเปียกแฉะเกินไป และไถพรวนที่ระดับความลึกเดียวกันเป็นประจำ
แนวทางการแก้ไข สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ 2 วิธี ได้แก่ วิธีกล เป็นการไถเปิดดินดาน โดยใช้เครื่องมือไถเปิด เช่น ไถสิ่ว (ริปเปอร์) และวิธีปลูกหญ้าแฝกทำลายชั้นดาน และจะช่วยปรับปรุงบำรุงดินได้อีกด้วย
กรณีที่พบชั้นดานธรรมชาติอยู่ตื้นกว่า 50 เซนติเมตรจากผิวดิน ให้เลือกพืชที่มีระบบรากตื้น และทนต่อสภาพแห้งแล้ง เช่น ทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือทำสวนป่า ถ้าพบชั้นดานที่เกิดจากการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม ควรไถทำลายชั้นดานด้วยเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ หรือขุดหลุมปลูกพืชให้ทะลุชั้นดาน ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก
กรณีพบชั้นดานอยู่ระหว่างความลึก 50-100 เซนติเมตรจากผิวดิน เลือกพืชที่มีระบบรากตื้นและลึกปานกลางมาปลูก โดยมีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยต่างๆ และทำท่อระบายระหว่างแปลงปลูกเป็นช่วงๆ เพื่อช่วยระบายน้ำใต้ดินออกไปจากบริเวณรากพืช และป้องกันโรครากเน่า
กรณีพบชั้นดานที่อยู่ลึกมากกว่า 100 เซนติเมตรจากพื้นดิน สามารถปลูกพืชได้ทุกชนิด โดยปรับปรุงบำรุงดินตามสภาพปัญหาของดิน และควรระวังเรื่องโรครากเน่า เมื่อมีฝนตกปริมาณมาก และนานติดต่อกันหลายวัน
โดยสรุปแล้ว การป้องกันการเกิดชั้นดานใต้ชั้นไถพรวนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ควรไถพรวนขณะที่ความชื้นของดินเหมาะสม ไถดินด้วยไถสิ่ว และไถสลับกับการใช้ผาน 3 และ 7 อย่างน้อย 3 ปีต่อครั้ง ควรเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน โดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสด และใช้ระบบปลูกพืชที่มีระบบรากลึกเป็นพืชหมุนเวียน ปลูกพืชตระกูลหญ้าที่มีระบบรากลึกและรากจำนวนมาก เช่น ปลูกหญ้าแฝก ให้ชอนไชลงไปในดิน เพื่อให้เกิดช่องว่างภายในดินนะครับ...
“นาย รัตวิ”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี