กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map (Agricultural Map for Adaptive Management) สำหรับเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ วางแผนพัฒนาการทำเกษตรให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ
นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map นั้นเป็นการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ นำมาใส่ซ้อนทับลงในแผนที่ดังกล่าว ได้แก่ ชั้นที่ 1 เป็นแผนที่ความเหมาะสมของดิน แบ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สุด S1 เหมาะสมปานกลาง S2 เหมาะสมน้อย S3 หรือไม่เหมาะสมเลย N แผนที่ชั้นที่ 2 เป็นข้อมูลแหล่งน้ำ ทั้งแหล่งน้ำในพื้นที่เขตชลประทาน คลองส่งน้ำต่างๆ แผนที่ชั้นที่ 3 เป็นแหล่งข้อมูลด้านโลจิสติกส์ แหล่งที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หรือจุดรับซื้อผลผลิตภายในจังหวัดนั้นๆ พร้อมกับมีข้อมูลการวิเคราะห์สินค้าที่เหมาะสม ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า ปริมาณผลผลิต ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ไปจนถึงผลตอบแทนที่ได้รับ ฉะนั้น Agri-Map จึงมีข้อมูลทั้งด้านกายภาพและเศรษฐกิจรวบรวมไว้ เป็นข้อมูลของแต่ละจังหวัด
ขณะนี้ได้จัดส่ง Agri-Map ให้กับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command)ทั้ง 77 จังหวัดแล้ว เพื่อใช้เป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำการเกษตร ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ ที่สำคัญสอดคล้องความต้องการของตลาดมากขึ้น
โดยล่าสุด พลเอกฉัตรชัยสาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดปฏิบัติการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่ Agri-Map ที่จังหวัดชัยภูมิ พร้อมกันนี้ได้คัดเลือกจังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์และอุทัยธานี เป็น 3 จังหวัดนำร่องทำกิจกรรมปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยใช้เครื่องมือ Agri-Map เป็นตัวนำในการวางแผนการผลิต และดูว่าสินค้าเกษตรในจังหวัดนั้นที่ไม่เหมาะสมกับการผลิต หรือผลิตแล้วมีต้นทุนสูง แข่งขันในตลาดได้ยาก ดังเช่นกรณีของจังหวัดชัยภูมิและบุรีรัมย์ จะพบว่าพื้นที่นาข้าวไม่เหมาะสมเลยอยู่ในระดับ N มีพื้นที่หลายแสนไร่ แต่ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ หากพื้นที่นาข้าวที่ไม่เหมาะสมนั้นมีการปลูกข้าวหอมมะลิหรือข้าวเหนียว จะไม่ปรับเปลี่ยน เพราะเป็นข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ ตลาดมีความต้องการ ขณะที่ข้าวเหนียวเป็นข้าวเพื่อการบริโภคของคนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมถึงภาคเหนือ ดังนั้น จะปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวที่ไม่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ที่ปลูกข้าวขาว ซึ่งมีความต้องการค่อนข้างน้อยกว่าปริมาณผลผลิตที่ออกมา เบื้องต้นมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมของ 3 จังหวัดนำร่องประมาณ 1,300 ไร่ ไปทำกิจกรรมอื่นที่เหมาะสมกว่าแทน
สำหรับกิจกรรมที่จะปรับเปลี่ยนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่เหมะสมนั้น กระทรวงเกษตรฯ มีการบูรณาการหลายหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง โดยเลือกโครงการต่างๆ ไปลงในพื้นที่ เพื่อการปรับเปลี่ยนอาชีพจากพื้นที่ไม่เหมาะสม มาเป็นทำเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เลี้ยงปศุสัตว์ ทำประมงและปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เช่น ปรับเปลี่ยนจากนาข้าวที่ไม่เหมาะสมที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวไปปลูกอ้อยที่เป็นเชิงเดี่ยวใหม่แทน หรือลดความเสี่ยงจากปลูกพืชอย่างเดียวมาทำผสมผสาน หรือไม่ปลูกพืชแล้วแต่หันมาเลี้ยงปศุสัตว์โคเนื้อ โคนม กระบือหรือไก่พื้นเมืองและปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไป หรือจะเปลี่ยนมาทำประมง หรือปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแต่ขณะเดียวกันก็สามารถปลูกข้าวไว้บริโภคได้
นอกจากการใช้ Agri-Map เป็นเครื่องมือช่วยในการปรับการผลิตที่ไม่เหมาะสม เพื่อลดอุปทานของสินค้าที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม N แล้วยังมีการใช้เครื่องมือของกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก. 882 ศูนย์) และกำกับดูแลโดยSingle Commandอีกทั้งมีผู้ตรวจราชการ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จาก 3 จังหวัดนำร่อง ก็จะมีจังหวัดที่นำเครื่องมือเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในปีต่อๆ ไปได้
“การปรับเปลี่ยนอาชีพให้มีความเหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเกษตรกร ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ปรับเปลี่ยนชั่วคราวคือปรับเปลี่ยนกิจกรรมบางกิจกรรม ทำเพิ่มขึ้นมาเพื่อมีรายได้เสริมอาชีพหลัก หรือปรับเปลี่ยนถาวร คือเลิกปลูกพืชแบบเดิมไปทำกิจกรรมใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของชุดดิน สภาพดินฟ้าอากาศ แหล่งน้ำ โลจิสติกส์ และตลาด อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องมีการรวมกลุ่มกันแม้จะเปลี่ยนไปผลิตอะไรก็ตามเพื่อสร้างความเข้มแข็งและมั่นคง โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะเข้าไปให้คำแนะนำ ช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนอาชีพให้มีความเหมาะสมเพื่อให้สอดรับกับนโยบายลดต้นทุน เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี