ชาวเล หรือมอแกน เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณต่างๆ ในธรรมชาติ รวมทั้งวิญญาณบรรพบุรุษที่มี “หล่อโบง” หรือเสาวิญญาณบรรพบุรุษ ทั้งชาย (แอบ๊าบ) และหญิง (เอบูม) เป็นสัญลักษณ์มอแกนหรือชาวเลในเมืองไทยมี 3 กลุ่ม คือ 1.มอแกน 2.มอแกลน (ซึ่งมอแกนเรียกว่า “ออลัง ตามับ”) และ 3.อูรักลาโว้ย มอแกนและมอแกลนมีภาษาใกล้เคียงกันมาก ส่วนภาษาอูรักลาโว้ยนั้น แม้จะเป็นภาษาตระกูลออสโตรนีเชียนเหมือนกัน แต่ก็พูดกับมอแกนและมอแกลนไม่รู้เรื่อง เพราะมีศัพท์และสำเนียงต่างกันอูรักลาโว้ยและมอแกลนตั้งหลักแหล่งค่อนข้างถาวร และมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปค่อนข้างมากจนกลายเป็นคนไทยไปแล้ว และมักถูกเรียกขาน (รวมทั้งเรียกตนเองว่า) “ไทยใหม่”กลุ่มแรก “มอแกลน” หรือพวกสิงบก มีถิ่นฐานอยู่ที่เกาะพระทอง อ.คุระบุรีจ.พังงา และตามชายฝั่งทะเล จ.พังงา และแหลมหลา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
กลุ่มที่สอง “อูรักลาโว้ย” ชนกลุ่มใหญ่มีถิ่นฐานอยู่บนเกาะสิเหร่ และ หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต จนถึงทางใต้เกาะพีพีดอน เกาะลันตาใหญ่ จ.กระบี่, เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะเกาะราวี จ.สตูล และบางส่วนอยู่ที่เกาะลิบง จ.ตรังกลุ่ม สุดท้าย “มอแกน” หรือสิงทะเล มีถิ่นฐานอยู่ที่เกาะพระทองและหมู่เกาะสุรินทร์ อ.คุระบุรี จ.พังงา...เกาะสินไหและเกาะเหลา จ.ระนอง รวมทั้งหมู่บ้านของอูรักลาโว้ย ที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต และเกาะพีพี จ.กระบี่ เมื่อใกล้ถึงวันสารทเดือนสิบ ตามประเพณีของชาวเล หรือมอแกนจากพื้นที่ เกาะสิเหร่, ราไวย์, สะปำ อ.เมือง จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ และ จ.สตูล ได้มาอาศัยทำที่พักชั่วคราวบริเวณหน้าบ้านของชาวชุมชนถนนเจริญราษฎร์ (ถนนใหม่) เขตเทศบาลเมืองพังงา จ.พังงา เพื่อสืบสานประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบที่มีมาช้านาน โดยตามความเชื่อของชาวมอแกนที่เข้าร่วมพิธี ชาวมอแกนทุกคนต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ของปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษ ที่สืบทอดกันมายาวหลายร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมพิธีดังกล่าวต้องออกไปขอโดยการถือภาชนะ เช่น ถังไปขอข้าวสาร อาหารแห้ง เงินทองเครื่องนุ่งห่มตามบ้านเรือนประชาชนทั้งในเขตเทศบาลและพื้นที่ใกล้เคียง
ความเชื่อนี้ได้ปฏิบัติตามกันมาช้านานและกลุ่มชาวเล หรือมอแกนที่อาศัยพักพิงอยู่บริเวณหน้าบ้านชาวบ้านแต่ละหลังคาเรือนก็จะประจำอาศัยอยู่เป็นครอบครัว นานนับเดือน ทั้งเป็นที่ทำอาหารกินและเป็นที่นอนในคราวเดียวกัน จนถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 หรือวันสารทเดือนสิบ ชาวเล หรือมอแกนจะเข้าร่วมวันสารท โดยการนำผลิตภัณฑ์จากท้องทะเล เช่น สร้อยมุก กำไลกระดองเต่าทะเล หัวแหวนจากหลังปลากระเบนท้องน้ำ แลกเปลี่ยนซื้อขาย กับผู้ที่เข้ามาทำบุญเดือนสิบภายในวัด พร้อมกับถือภาชนะนั่งรอบๆ บริเวณวัดรอให้ผู้ที่มาทำบุญนำเหรียญมาใส่ตามความเชื่อ ในแต่ละแห่งของจังหวัดพังงา ส่วนข้าวของที่ได้จากการไปขอมา ส่วนหนึ่งก็จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน อีกส่วนหนึ่งจะนำไปไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
นางน้อย ศรีผ้า ชาวเลเกาะสิเหร่ เล่าให้ฟังว่า เป็นประจำทุกปีเมื่อใกล้ถึงประเพณีวันสารทเดือนสิบ ก็จะออกมาขอของตามบ้านเรือนประชาชนในจังหวัดพังงา และจะมาทำที่พักชั่วคราวบริเวณถนนบริรักษ์ (ถนนใหม่) ซึ่งเป็นชุมชนที่มาขออาศัยหลายชั่วอายุคนแล้ว เพราะคนที่นี่ต้อนรับดีเหมือนพี่น้องกัน พวกตนจึงได้มาอาศัยหน้าบ้านของชุมชนนี้มาอย่างช้านาน เมื่อสมัยก่อนจะต้องนั่งเรือมาตามลำคลองพังงา แต่สมัยนี้สะดวกสบายขึ้นไม่ต้องนั่งเรือแล้ว เพราะมีรถประจำทางผ่านตลอด การที่พวกตนมาขอข้าวของตามบ้านเรือนประชาชนนั้น ก็เพราะเป็นความเชื่อมาตั้งแต่สมัย ปู่ ย่า ตา ยาย นานนับร้อยปีมาแล้ว ถ้าปีไหนไม่ได้มาก็ทำให้บรรพบุรุษโกรธ และคนที่ไม่มาก็จะมีอาการไม่สบายเนื้อ สบายตัวเป็นโน้นเป็นนี่ โดยไม่มีสาเหตุ
พรชัย แซ่เอี๋ยว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี