22 ก.ย.59 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีกระทู้ฮอตออนไลน์ สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม โพสต์กระทู้เรื่อง ‘ผมปฏิเสธการจ่าย service charge ในทุกๆร้านอาหาร ตามกฎหมายร้านอาหารไม่สามารถเก็บค่า service charge เราได้’ โดยอ้างว่าตลอด 2 เดือน เมื่อไปกินอาหารในร้านอาหารได้เรียกผู้จัดการร้านมาพูดคุยทุกครั้ง เพื่อปฏิเสธการจ่ายค่าบริการ หรือเซอร์วิสชาร์จ (service charge) มาโดยตลอด หลังพบว่าบางร้านเรียกเก็บสูง 10-20% ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ก่อนที่ในเวลาต่อมากระทู้ดังกล่าวจะถูกลบออกไป
ฝั่งที่เห็นด้วยกับทางเจ้าของกระทู้ มองว่า ร้านอาหารควรจะคิดค่าบริการรวมภาษี และเซอร์วิสชาร์จ แล้วแจ้งไว้ในเมนูเลย ขณะที่บางส่วนสงสัยว่าค่าเซอร์วิสชาร์จ จริงๆแล้วจะตกถึงพนักงานที่ให้บริการกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมด ส่วนฝั่งที่ไม่เห็นด้วย มองว่า หากทางร้านแจ้งอย่างชัดเจนอยู่แล้ว การปฏิเสธการจ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะหมายความว่าทางผู้บริโภคได้ยอมรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่แล้ว
ต่อมา ได้มีนักกฎหมายจากหลายสำนัก รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกมาให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านสื่อต่างๆ
เริ่มที่ นายนิติธร แก้วโต หรือ ‘ทนายเจมส์’ ทนายความของ น.ส.วิริฒิภา ภักดีประสงค์ หรือ ‘วีเจวุ้นเส้น’ กล่าวว่า หากร้านค้ามีการติดป้ายชัดเจนว่ามีการเรียกเก็บเซอร์วิสชาร์จ จะปฏิเสธการชำระเงินคงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังทานอาหารเสร็จแล้ว เพราะถ้าไม่พอใจก็ไม่ควรซื้อ หรือใช้บริการตั้งแต่แรก แต่หากร้านติดป้ายไม่ชัดเจนและมาแจ้งภายหลัง กรณีแบบนี้สามารถปฏิเสธการจ่ายได้
ส่วนนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ที่ปรึกษากฎหมายและเจ้าของเพจดัง #ทนายคู่ใจ กล่าวว่า ในมุมมองของนักกฎหมาย ‘เซอร์วิสชาร์จ’ คือ การให้ทิปแก่พนักงาน เพราะฉะนั้นลูกค้ามีสิทธิ์ปฏิเสธได้ แต่แม้ว่าลูกค้าจะมีสิทธิ์ปฏิเสธได้ ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าร้านได้มีการแจ้งลูกค้าก่อนหรือไม่ว่าทางร้านมีการรวมค่าเซอร์วิสชาร์จเข้าไปอีกกี่เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินค้า หรือบริการที่สั่ง
แต่ในทางกลับกัน การไปทานอาหารที่ร้านก็เปรียบเหมือนเป็นการซื้อบริการตามกฎหมายอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของการซื้อ-ขาย ลูกค้าจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการจากร้านอาหาร หากร้านแจ้งเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่ามีค่าเซอร์วิสชาร์จเท่าไร หากลูกค้าปฏิเสธการจ่ายก็อาจมีความผิดได้เช่นกัน
‘ผมมองว่าหากร้านอาหารเรียกเก็บเซอร์วิสชาร์จโดยไม่แจ้งลูกค้าก่อน แต่มายัดเยียดการขายบริการให้ลูกค้าในภายหลังก็อาจจะไม่แฟร์ และลูกค้าสามารถปฏิเสธได้ เพราะลูกค้าย่อมเข้าใจว่าตนเองซื้ออาหารจบที่ราคาตามเมนู รวม VAT เท่านั้น แต่ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเจอเคสที่มีปัญหาเกี่ยวกับการไม่จ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจว่าเซอร์วิสชาร์จเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการของร้านอาหาร และส่วนใหญ่ร้านที่เก็บเซอร์วิสชาร์จมักเป็นร้านอาหารระดับกลางถึงระดับสูงขึ้นไป’ นายรณณรงค์ กล่าว
ส่วนนายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เรื่องการแสดงสินค้าและบริการ ซึ่งไม่ได้ระบุว่าจัดเก็บได้เท่าใด แต่ให้ผู้ประกอบการแสดงราคา สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ที่ให้ผู้บริโภคมีสิทธิ์ได้รับข้อมูล ข่าวสารให้ถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ เลือกหา รวมทั้งมีอิสระให้การเลือกซื้อ เลือกหา หากร้านค้าไม่ได้แสดงราคาถือว่าผิดกฎหมาย โดยเสนอเก็บค่าบริการย้อนหลังไม่ได้ เนื่องจากผู้บริโภคไม่เห็นข้อความดังกล่าวและไม่มีข้อผูกพันที่ต้องชำระเงินตามนั้น
‘ข้อความในการเรียกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จควรเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นภาษาไทย มีตัวเลข เป็นหน่วย เป็นบาท หากร้านค้าไม่แจ้ง หรือผู้บริโภคไม่พบข้อความในการเรียกเก็บที่ชัดเจน สามารถปฏิเสธการจ่ายเซอร์วิสชาร์จได้ โดยร้านค้าต้องแสดงให้ชัดเจนและครบถ้วน จะอยู่ในเมนูอาหาร หรือหน้าร้านก็ได้ คำว่าชัดเจนนั้นสำหรับผู้บริโภคที่เข้าไปใช้ ในประเทศไทยก็ต้องใช้ภาษาไทยด้วย หรือให้พนักงานบอกกล่าวเพิ่มเติม’ นายพิฆเนศ กล่าว
ด้าน ร.ต.ไพโรจน์ คนึงทรัพย์ รองเลขาธิการ สคบ. ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมเรื่องค่าบริการเซอร์วิสชาร์จ ซึ่งทางร้านอาหารสามารถเรียกเก็บได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องติดป้ายประกาศให้ชัดเจนกับผู้บริโภค ที่ผ่านมายอมรับว่ามีประชาชนร้องเรียนเรื่องดังกล่าวเข้ามาบ้างจำนวนหนึ่ง และได้เรียกร้านค้าเข้ามาพูดคุยบ้างแล้ว โดยผู้ประกอบการอ้างว่าเป็นการขายบริการ
‘เรื่องนี้ต้องการมีการหารือกับทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อออกกฎควบคุมให้ชัดเจนและเป็นธรรมกับผู้บริโภค’ ร.ต.ไพโรจน์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี