คำถาม ระบบเกษตรกรรมแบบผสมผสาน
และระบบไร่นาสวนผสม มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ
รัตนชาย อินทร์ศักดิ์
อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
คำตอบ หลักการพื้นฐานของ “ระบบเกษตรกรรมแบบผสมผสาน” มีกิจกรรมการเกษตรตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไป ในพื้นที่และระยะเวลาเดียวกัน จึงจะถือว่าเป็นการผสมผสานที่ดี กิจกรรมการเกษตร ควรประกอบไปด้วยการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ โดยผสมผสานระหว่างการปลูกพืชต่างชนิด หรือการเลี้ยงสัตว์ต่างชนิดกัน ให้มีการผสมผสานเกื้อกูลกันอย่างได้ประโยชน์สูงสุด พืชและสัตว์นั้น มีการใช้ทรัพยากรที่แตกต่างกัน และมีห่วงโซ่ความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกันอยู่ พืชโดยทั่วไปมีหน้าที่และบทบาทในการดึงเอาแร่ธาตุในดิน อากาศ และพลังงานจากแสงแดด มาสังเคราะห์ให้อยู่ในรูปของอาหารพวกแป้ง น้ำตาล โปรตีน และแร่ธาตุต่างๆ ที่สัตว์สามารถใช้ประโยชน์ได้ สำหรับสัตว์นั้น จะต้องบริโภคอาหารจากพืชอีกต่อหนึ่ง เมื่อสัตว์ขับถ่ายของเสีย หรือตายลงก็จะเน่าเปื่อยย่อยสลายกลายเป็นแร่ธาตุต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับพืช เป็นวงจรความสัมพันธ์ที่หมุนเวียนไปรอบแล้วรอบเล่า จนกลายเป็นห่วงโซ่ความสัมพันธ์ของสัตว์ ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ นำไปสู่การเกิดระบบนิเวศน์ที่ดี
ความหมายของระบบเกษตรผสมผสาน และระบบไร่นาสวนผสม เป็นระบบเกษตรกรรมที่จะนำไปสู่การเกษตรยั่งยืน โดยมีรูปแบบที่ดำเนินการมีลักษณะใกล้เคียงกัน และทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสับสนในการให้ความหมาย และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง
ระบบเกษตรผสมผสาน เป็นระบบการเกษตรที่มีการเพาะปลูกพืช หรือการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ชนิด อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ภายใต้การเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยหลักการอยู่รวมกันระหว่างพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม การอยู่รวมกันอาจจะอยู่ในรูปความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับพืช พืชกับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ ระบบนี้ จะประสบผลสำเร็จได้ จะต้องมีการวางรูปแบบ และดำเนินการ โดยให้ความสำคัญต่อกิจกรรม แต่ละชนิดอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม มีการใช้แรงงาน เงินทุน ที่ดิน ปัจจัย การผลิต และทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรู้จักนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตชนิดหนึ่ง มาหมุนเวียนใช้ประโยชน์กับการผลิตอีกชนิดหนึ่ง หรือหลายชนิด ภายในไร่นาแบบครบวงจร เช่น การเลี้ยงไก่หรือสุกรบนบ่อปลา การเลี้ยงปลาในนาข้าว การเลี้ยงผึ้งในสวนผลไม้
ระบบไร่นาสวนผสม เป็นระบบเกษตรแบบผสมผสานที่มีกิจกรรมการผลิตหลายกิจกรรม เพื่อตอบสนองต่อการบริโภค หรือลดความเสี่ยงจากราคาผลิตผลที่มีความไม่แน่นอนเท่านั้น โดยมิได้มีการจัดการให้กิจกรรมการผลิตเหล่านั้น มีการผสมผสานเกื้อกูลกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต และคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเหมือนเกษตรผสมผสาน การทำไร่นาสวนผสมอาจมีการเกื้อกูลกันจากกิจกรรมการผลิตบ้าง แต่กลไกการเกิดขึ้นนั้นเป็นแบบ “เป็นไปเอง” มิใช่เกิดจาก “ความรู้ ความเข้าใจ” อย่างไรก็ตามไร่นาสวนผสม สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถของเกษตรกรผู้ดำเนินการให้เป็นการดำเนินการในลักษณะของระบบเกษตรผสมผสานได้
ระบบเกษตรที่มีการปลูกพืช และมีการเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิด เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเกิดการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ การเกื้อกูลกันระหว่างพืชและสัตว์ เศษซาก และผลพลอยได้จากการปลูกพืช จะเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ ในทางตรงกันข้าม ผลที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพืชด้วยเช่นกัน
นาย รัตวิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี