15 ม.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า ที่สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ เลขที่ 260หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายจันแสวง บุนยง อธิบดีกรมการนโยบายแผนพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ดร.แกรม บอยด์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญอิสระโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงโครงการเขื่อนปากแบง เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย สปป.ลาว ซึ่งเป็นโครงการที่เตรียมก่อสร้างห่างจากแก่งผาไดอ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เข้าไปในแขวงอุดมไชย ประมาณ 92 กิโลเมตร นายจาง เชา รองผู้จัดการทั่วไปบริษัทจีน ต้าถัง โอเวอร์ซีอินเวสเมันต์ จำกัด นาย เติ้ง โบ ผู้จัดการทั่วไปบริษัทต้าถัง (สปป.ลาว) ปากแบ่ง ไฮโดรเพาเวอร์ จำกัด พร้อมคณะได้เดินทางมาหารือกับเครือข่ายภาคประชาชนเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากมีการศึกษาโครงการนี้แล้วเสร็จตั้งแต่กลางปี 2560 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 84 เดือน แต่ยังไม่มีการก่อสร้างเพราะมีการคัดค้านจากเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงของไทย โดยเกรงจะเกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนี้นั้นมีพล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า รอง ผบช.ภ.5 ในฐานะดูแลศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.)ของไทย นางวาสนา ร้อยอำแพง นักอุทกวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรน้ำ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ พร้อมเครือข่ายประชาชน นำโดย นายนิวัฒน์ร้อยแก้ว แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของ ประมาณ 100 คนเข้าร่วม
โดยทั้งนี้นายนิวัฒน์ ได้ยื่นข้อเสนอแนะและข้อซักถามกับทางโครงการจำนวน 6 ข้อ ประกอบด้วย 1. การอพยพของปลา ผ่านเขื่อน ซึ่งหลังมีการฟ้องศาลปกครองเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรี และศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องไว้นั้น เจ้าของโครงการได้ปรับแบบและออกแบบทางปลาผ่าน และระบบระบายตะกอน ซึ่งก็ยังไม่ทราบได้ว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ สำหรับเขื่อนปากแบงและเขื่อนสานะคาม ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนไทย จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร 2.ผลกระทบข้ามพรมแดน ต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง 3. ผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่พรมแดนไทยลาว บริเวณ อ.เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น ซึ่งได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากเขื่อนจิงหง ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงในยูนนาน 4. ผลกระทบต่อการเดินเรือท่องเที่ยว ระหว่างเมืองห้วยซาย-หลวงพระบางโดยเฉพาะในช่วงการก่อสร้างเขื่อน ที่จะมีการปิดกั้นลำน้ำ 5. การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน จะมีส่วนร่วมจากผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างไร และนี่คือประเด็นที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ฟ้องศาลปกครอง ซึ่งขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดได้รับพิจารณาการอุทธรณ์แล้ว 6. มาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน จะมีแผนเป็นอย่างไรบ้าง
ซึ่งนายนิวัฒน์ กล่าวว่า คำถามทั้ง 6 ข้อนั้นเป็นข้องกังวลที่คนลุ่มน้ำโขงเป็นห่วง ซึ่งแม้การสร้างเขื่อนทางจะเป็นเขื่อนที่ไม่ได้กักเก็บน้ำ เหมือนเขื่อนในประเทศจีน แต่ก็มีความสัมพันธ์ในเรื่องของการบริหารจัดงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ โดยการเจรจาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งยังระบุไม่ได้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยจะต้องมีการพูดคุยกันอีกหลายเวทีก่อน และจะต้องมีองคืกรหรือหน่วยงานที่คอบประสานร่วมกันเพื่อพัฒนาและใช้น้ำโขงร่วมกันในอนาคตด้วย
ทางด้านนายจันแสวง กล่าวว่า สำหรับการสร้างเขื่อนปากแบงนั้นมีความสำคัญต่อพื้นที่เพราะกำลังการผลิตของประเทศเองนั้นไม่สามารถทำได้ การที่จีนเข้ามาดำเนินการก็เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยหัวใจสำคัญคือการพัฒนาให้กับประชาชน ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนจะสามารถผลิตได้นาน หากจะใช้แผงโซลาเซลล์นั้นมีข้อจำกัดที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้แค่ 30% เพราะยังมีช่วงกลางคืนและหากจำเป็นต้องหยุดผลิตกระแสไฟฟ้าต้องหาจากแหล่งอื่นทดแทนซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงและพื้นที่ภาคเหนือของ สปป.ลาว เป็นภูเขาสูงชันไม่เหมาะกับเรื่องนี้จึงต้องหาแหล่งพลังงานจากเขื่อนดังกล่าว
“กรณีเรื่องพันธุ์ปลาอยากให้ดูที่เขื่อนน้ำงึม แขวงเชียงขวาง ที่ยังคงมีพันธุ์ปลามากกระนั้นปัจจุบันเราก็ยังศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยมีการติดตั้งกล้องมูลค่า 4 ล้านบาทที่เขื่อนเพื่อดูจำนวนมากอย่างแท้จริงมากกว่าการฟังจากแหล่งต่างๆ ซึ่งไม่ตรงกันด้วย” นายจันแสวง กล่าว
ด้าน ดร.ชยันต์ กล่าวว่า เขื่อนปากแบงเป็นเขื่อนระบายน้ำซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อการไหลเวียนหรือการหนุนของน้ำเหมือนเขื่อนอื่นๆ เวทีครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งมีการลงรายละเอียดที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ซึ่งทางโครงการจะนำข้อเสนอของทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยนำไปปรึกษาหารือเพื่อต่อยอดการพัฒนาการดำเนินการให้ตอบสนองต่อภาคประชาชนมากที่สุด ตอนนี้อยู่ในช่วงกระบวนการเจรจาเพื่อนำไปสู่การก่อสร้าง ซึ่งอาจจะต้องมีการพูดคุยกันอีกหลายครั้งเพราะยังมีประเด็นอยู่ 2-3 ประเด็นที่หลายคนยังข้องใจกันอยู่ที่จะต้องหาข้อสรุปร่วมกัน
ทางด้าน นางวาสนา ได้แสดงข้อกังวลในเรื่องของระดับน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้นภายหลังการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งตามรายงานที่ทางโครงการรายงานเข้ามายังมีตัวเลขที่ยังไม่ตรงกันกับผลการสำรวจ ซึ่งตามรายงานระดับน้ำระบุว่าจะมีความสูงจากกระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 340 เมตร แต่ผลการสำรวจบางช่วงเวลามีระดับขึ้นสูงกว่า 351 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งระดับน้ำในส่วนของประเทศไทยจะอยู่ที่ระดับ 350-360 เมตรจากระดับน้ำทะเล อาจมีผลกระทบได้จึงเสนอข้อทักท้วงให้มีการวิเคราะห์และตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครางการ
ทั้งนี้สำหรับเขื่อนปากแบงเป็นเขื่อนระบายน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 912 เมกวัตต์ เดิมทีตั้งเป้ากำลังผลิตไว้ที่ 1,230 เมกวัตต์ แต่เกรงจะมีผลกระทบต่อผู้ที่อยู่เหนือเขื่อนจึงลดปริมาณลง ทำให้เหลือความสูงของเขื่อนรวม 64 เมตร โดยอยู่ใต้ชั้นดิน 30เมตรและเหนือพื้นที่ดินอีก 34 เมตร มีประตูระบายน้ำ 16 บาน โดยมีอยู่ 14 บานที่จะมีการใส่ใบพัดผลิตกระแสไฟ มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างรวมประมาณ 80 เดือน หากทุกฝ่ายเห็นชอบ มีระยะเวลาผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 29 ปี จากนั้นทางบริษัทจีนจะยกให้กับรัฐบาล สปป.ลาว เป็นผู้ดูแล ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ 10 เปอร์เซ็นจะถูกนำส่งกระจายให้ประชาชนของ สปป.ลาว ที่เหลืออีกร้อยละ 90 จะส่งมาจำหน่ายในประเทศไทย.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี