จิ้งหรีดเป็นแมลง ได้มีบทบาทมากขึ้นในการเป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากปริมาณโปรตีนที่สูง คนจึงมีความคิดที่นำแมลงจิ้งหรีดมาเป็นอาหาร โดยปกติแล้วแมลงจะหาจับได้โดยทั่วไปแต่เนื่องจากปริมาณความต้องการของตลาดที่มากขึ้น จึงได้มีการเริ่มทำฟาร์มแมลงขึ้นมาทดแทนกันอย่างแพร่หลาย
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)เปิดเผยว่า จิ้งหรีดเป็นแมลงเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพและมีโอกาสในการส่งออกสูงโดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป หรืออียู(EU) จำนวน 28 ประเทศ มีผู้ประกอบการหลายรายสนใจนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากไทยค่อนข้างมาก ทั้งในรูปจิ้งหรีดแช่แข็ง ต้มบรรจุกระป๋องและจิ้งหรีดอบและบดเป็นโปรตีนผงเพื่อใช้เป็นส่วนผสมอาหาร เป็นต้น ปัจจุบันมีเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดเพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 ราย มีทั้งฟาร์มขนาดเล็กผลิตขายภายในประเทศรูปแบบของแมลงทอด และฟาร์มขนาดใหญ่ผลิตขายเพื่อเป็นสินค้าส่งออก โดยแปรรูปเป็นอาหารพร้อมรับประทาน เดิมเคยจับจากธรรมชาติแต่ได้ปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงหันมาทำการเพาะเลี้ยงแทนพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงได้แก่ พันธุ์ทองดำ ทองแดง และทองแดงลาย หรือแมงสะดิ้ง
ปัจจุบัน นับเป็นโอกาสทองของเกษตรกรไทย เนื่องจากจิ้งหรีดได้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่กำลังถูกจับตามองและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดอียู แต่เนื่องจากการบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่ หรือโนเวลฟู้ด (Novel Food) ของ EU ซึ่งเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสินค้าที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก
โดยสินค้าเกษตรและอาหารหลายรายการรวมทั้งจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ ต้องดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนตามข้อกำหนดภายใต้กฎหมาย สถานะอาหารใหม่ (Novel Food) พร้อมทั้งจัดทำเอกสารข้อมูลทางวิชาการประกอบการยื่นขอ(Scientific Dossier) โดยสามารถยื่นคำขอในสถานะอาหารที่มีการบริโภคมานาน (Traditional Food)หรือสถานะอาหารใหม่(Novel Food)เพื่อให้สำนักงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป(EFSA)พิจารณาความปลอดภัย หรือหลักฐานการบริโภคก่อนอนุญาตเปิดตลาดนำเข้าอย่างเป็นทางการ
ดังนั้น มกอช.จึงเร่งประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU Delegation) จัดสัมมนาและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Workshop on EU Novel Food Regulation - Case of Insects (Crickets) หรือระเบียบอาหารใหม่ของสหภาพยุโรป กรณีศึกษาเปิดตลาดผลิตภัณฑ์แมลง(จิ้งหรีด)มาชี้แจงรายละเอียดเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย Novel Food ของ EU รวมทั้งกรณีศึกษาจิ้งหรีดในสถานะอาหารใหม่ การประเมินความเสี่ยงของสินค้าและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดเพื่อใช้เป็นอาหารและแนวทางการจัดทำข้อมูลประกอบการยื่นคำขอรับรองสถานะอาหารใหม่ ตลอดจนการยื่นขอเปิดตลาดให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกของไทย และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบและเข้าใจแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจนมากขึ้น
นางสาวเสริมสุขกล่าวด้วยว่า ในอนาคตแมลงหลายชนิดรวมทั้งจิ้งหรีดถือเป็นความหวังสำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารของโลก เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบอาหารมนุษย์และสัตว์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ต้นทุนการผลิตต่ำ ปริมาณแลกเนื้อสูง ต้องการอาหารและน้ำในปริมาณที่น้อย ทำให้สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่แห้งแล้งที่ไม่สามารถเพาะปลูกผลผลิตอื่นๆได้ ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมกอช. ได้ประกาศมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป โดยมี กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตาม มกษ. เพื่อรองรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง กว่า 20,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมมากกว่า 7,000 ตัน/ปี ป้อนตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ มีมูลค่าประมาณ 1000 ล้านบาท
โดยเฉพาะปี 2561 นี้ กระทรวงเกษตรฯได้เร่งส่งเสริมและพัฒนาการผลิตจิ้งหรีด โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ผลิตจิ้งหรีดภายใต้ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ในพื้นที่อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ และอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต แปรรูป และขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงสหภาพยุโรป ตอบสนองต่อกระแสนิยมการบริโภคแมลงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มความความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถรองรับการแข่งขันสินค้าจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ และสินค้าแมลงของไทยในตลาดโลกในอนาคต
ด้านนายแพทริค เดอร์บอยเซอร์ ทูตด้านสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารสหภาพยุโรปประจำประไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการบริโภคแมลงในหมู่ผู้บริโภคยุโรปยังเป็นเพียงเทรนด์อาหารแนวใหม่แต่อีกกลุ่มผู้สนใจ หรือผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่สามารถรับประทานได้และดีต่อสุขภาพ จึงเริ่มสนใจศึกษาและมองว่าอนาคตจะขาดแคลนวัตถุดิบโปรตีน ดังนั้นจากการติดตามพบว่าจิ้งหรีดมีคุณสมบัติทางโภชนาการไม่แพ้เนื้อสัตว์อื่น ซึ่งปี 2561 ตลาดในสหภาพยุโรปทั้งหมด 28 ประเทศ อาทิ จะประกาศให้นำเข้าแมลงอย่างเป็นทางการนับว่าเป็นช่องทางตลาดใหม่ของไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี