9 เม.ย. 2561 โลกออนไลน์มีการแชร์ข้อความที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์-iLaw) โพสต์ไว้บนเฟซบุ๊คส่วนตัว “Yingcheep Atchanont” ว่าด้วยกระแสการส่งบุตรหลานให้เข้าเรียนในห้องเรียนระดับสูงพิเศษ หรือ “ห้องกิฟต์” (Gifted) ซึ่งหมายถึงการที่พ่อแม่ผู้ปกครองพยายามซื้อสิ่งแวดล้อมที่ดีให้บุตรหลาน ว่าในอีกมุมหนึ่งอาจเป็นการทำให้เด็กไม่รู้จักความหลากหลาย ไม่เข้าใจโลกตามที่เป็นจริง โดยระบุว่า..
"..สองวันนี้ได้ตามอ่านบทวิเคราะห์เรื่องการศึกษาไทย วิจารณ์เรื่องระบบการมีห้อง Gifted แล้วก็รู้สึกเจ็บปวดไปกับเรื่องราว ความบิดเบี้ยวของระบบที่สร้างความบิดเบี้ยวให้สังคมปัจจุบัน
ข้อวิจารณ์พื้นฐานของการแยกเด็กเก่ง (และรวย) ออกจากเด็กทั่วไปก็เห็นว่าจะจริง คือ การคัดคนไม่กี่คนให้รอดและไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนคนอีกหลายส่วนก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งในโรงเรียนและในชีวิตจริง
อีกประเด็นที่เห็นจริงขึ้นมา คือ หากเราให้โอกาสเด็กทุกคนได้เรียนแบบคละกัน แม้จะมีผลให้เด็กที่อ่อน ถ่วงให้เด็กที่เก่งวิชาการเรียนช้าลงบ้าง แต่ก็จะทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจสังคม ที่มีความหลากหลาย มีคนหลายแบบ หลายชนชั้น หลายวิธีคิด
นึกถึงประสบการณ์ตัวเองพอจะเป็นตัวอย่างที่ดีกับเรื่องนี้ได้มากเลย
สมัยเรียนมัธยม ม.1 สอบเข้าไม่ติดก็เรียนห้องธรรมดา เกรดไม่ดีมาก ม.2 ก็เลยเรียนห้องธรรมดาก่อน ในห้องมีเพื่อนหลายแบบ มีพวกนักเลงชอบต่อยตีมีเรื่องกันเป็นประจำ บางคนชอบไปมีเรื่องกับโรงเรียนข้างๆ แล้วก็เอามาโม้ มีพวกไม่ยอมตัดผมไม่ยอมเข้าแถว บางคนไปมีแฟน จีบสาวแบบเดินเจอ น่ารัก ก็เข้าไปจีบเลย เสร็จแล้วก็เอามาโม้
บางคนก็เริ่มแสดงออกว่าเป็นกะเทย แล้วกะเทยบางคนก็โดนแกล้ง บางคนก็มีวิธีเอาตัวรอดได้ บางคนในห้องเรียนเป็นตัวห่วยแต่พออยู่ในสนามกีฬาเป็นผู้นำที่ดี บางคนพอเตะบอลแล้วไม่ให้มันเล่นด้วยมันก็โกรธ แต่พอให้มันเล่นด้วยมันก็เล่นแรง ชอบเตะบอลอัด ชอบเข้าบอลหนัก พูดง่ายๆ ว่า นิสัยไม่ค่อยดีเท่าไร
พวกที่ไม่ตั้งใจเรียนนี่แหละ พอถึงวันสอบมันก็เคยมาขอให้ติวให้ เวลาเข้าตาจนพูดจากับเราคนละแบบกับตอนกร่างอยู่ในห้อง แต่เราก็อยากจะพยายามช่วย สุดท้ายพอช่วยกันได้บ้าง เราก็มีวิธีเป็นเพื่อนที่ทำตัวดีต่อกันได้ ทั้งที่ปกติแทบจะไม่ได้คุยกัน
ประสบการณ์การสมัย ม.1-ม.2 เอาจริงๆ แล้วล้ำค่า และมีผลมากๆ ต่อการดำเนินชีวิตเมื่อโตขึ้นมา คือ เราพอเคยมีเพื่อนที่วิธีชีวิตในโรงเรียนแตกต่างจากเรา เป็นเพื่อนแบบที่ถูกบังคับให้ต้องอยู่ห้องเดียวกัน ต้องทำงานกลุ่มร่วมกันบ้าง เล่นกีฬาด้วยกันบ้าง จัดกิจกรรมในห้องด้วยกันบ้าง เราก็ได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจคนที่เรียนไม่เก่ง เข้าใจเพื่อนที่ไม่อยากทำตามกฎกติกา เข้าใจคนที่รู้สึกว่า โรงเรียนไม่เหมาะกับเขาและการศึกษาที่เน้นวัดคนทีเกรดไม่เหมาะกับเขา
ความเข้าใจแบบนี้มาพร้อมกับความรู้สึกว่าจริงๆ เขาไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร เราไม่ได้รู้สึกอยากจะให้เขาต้องถูกกีดกันให้เป็นคนชั้นล่างของสังคมตลอดไป หลายครั้งเมื่อโตขึ้นทำงานแล้ว เมื่อนึกถึงคนที่บางครั้งก็ทำผิดกฎหมาย ไม่ได้เรียนจบสูง ไม่มีรายได้ดี ไม่มีงานเป็นหลักแหล่ง เราก็ยังนึกถึงเพื่อนเก่าๆ ตอนม.1-ม.2 แล้วพอมีเชื้อให้ทำความเข้าใจพวกเขาได้ และพอมีใจที่รู้สึกกับความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาถูกแบ่งแยกกีดกันได้จากใจจริงๆ
ประโยชน์สำหรับตัวเอง คือ การอยู่ท่ามกลางเพื่อนนักเลงที่ชอบต่อยตี หรือรังแกกัน เราก็รู้ว่า จะอยู่ในสังคมแบบนี้ให้รอดได้อย่างไร ทำอย่างไรตัวเองจะไม่ถูกแกล้ง ทำอย่างไรเมื่อถูกแกล้งแล้วจะหาทางไม่เป็นตัวถูกแกล้งตลอดไป ซึ่งอะไรแบบนี้สอนกันไม่ได้ในตำรา หรือการบรรยาย
พอเรียนขึ้นม.3 - ม.6 ก็ไปเลือกสายที่ไม่ใช่สายวิทยาศาสตร์แบบที่เด็กเก่งๆ เขาเลือกกัน ทำให้ได้อยู่ห้องคิงตลอด (สมัยนั้นยังไม่มีคำว่าห้อง Gifted) แม้จะเป็นห้องคิงลำดับล่างๆ ในโรงเรียน ไม่มีพวกที่จะเป็นหมอมาอยู่ด้วยมากนัก แต่คนที่เรียนเกรดต่ำสุดก็ประมาณ 3.2-3.3 เรียกว่า ความแตกต่างลดลงไปมาก ประสบการณ์แปลกๆ ที่ทำให้ได้เรียนรู้ในช่วงหลังจากนั้นก็ลดลงไป โตมากับเพื่อนที่คล้ายๆ กันหรือต่างกันไม่มากเกินไป แน่นอนว่า เพื่อนสนิทที่เข้ากันได้มีเยอะขึ้น แต่ทัศนะที่มีต่อโลกก็แคบลง
อยากบอกพ่อแม่ของเด็กยุคนี้ว่าไม่จำเป็นหรอกครับที่ต้องพยายามดิ้นรนให้ลูกเข้าห้อง Gifted ให้ได้ มันมีข้อดีอยู่มาก แต่ขณะเดียวกันข้อเสียของมันก็โหดร้ายจริงๆ โหดร้ายทั้งต่อเด็กเองและสังคม
ถ้าเสียงดังพอก็อยากจะบอกโรงเรียนด้วยว่า ในวันนึงข้างหน้าเลิกระบบห้อง Gifted เถอะครับ ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียงของโรงเรียน แต่เพื่ออนาคตของเด็ก "ทุกคน" ในระยะยาว.."
ขอบคุณเรื่องจาก https://www.facebook.com/pow.ilaw/posts/1811870758843575
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี