2 มิ.ย. 2561 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ผู้ต้องขังคดียาเสพติดคิดอย่างไรต่อการติดคุกซ้ำ” โดยสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติดจำนวน 379 คน ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-1 มิ.ย. 2561 พบว่า 1.ผู้ต้องขังกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการศึกษาสูงสุดเพียงชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 39.4 รองลงมา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 32.7 อันดับ 3 มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (ม.6 หรือ ปวช.) ถึงอนุปริญญา (ปวส.) ร้อยละ 26.6 โดยมีเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้นที่จบการศึกษาในระดับตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป
2.ผู้ต้องขังกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงาน หรืออายุระหว่าง 25-55 ปี ร้อยละ 81.9 รองลงมาเป็นวัยรุ่น อายุระหว่าง 18-24 ปี ร้อยละ 16 ส่วนผู้สูงวัย อายุ 55 ปีขึ้นไปมีน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 2.1 เท่านั้น 3.สัดส่วนผู้ต้องขังกลุ่มตัวอย่างในคดียาเสพติด พบว่าไม่ห่างกันมากนักระหว่างผู้เพิ่งเคยติดคุกเป็นครั้งแรก ร้อยละ 57.7 กับผู้ที่ติดคุกซ้ำ ร้อยละ 42.3
4.กลุ่มตัวอย่างที่เชื่อว่าเมื่อติดคุกแล้วอย่างไรเสียชีวิตของตนก็จะต้องกลับมาติดคุกซ้ำอีกเรื่อยไป โดยให้เหตุผลว่าเพราะถึงออกจากคุกไปสังคมก็ไม่ให้โอกาส ไม่มีงานทำไม่มีเงินใช้ อีกทั้งเจอแต่คนหน้าเดิมๆ ที่เสพที่ขาย พบว่าเป็นกลุ่มที่เคยติดคุกซ้ำ ร้อยละ 46.1 กลุ่มที่เพิ่งติดคุกครั้งแรก ร้อยละ 31.9 ถึงกระนั้น ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าเมื่อพ้นโทษแล้วตนเองจะไม่ต้องกลับมาเข้าคุกอีก โดยให้เหตุผล เช่น อยู่ในคุกลำบาก คิดถึงครอบครัว มีงานสุจริตรออยู่ ได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง โดยเป็นกลุ่มที่เคยติดคุกซ้ำ ร้อยละ 53.9 และกลุ่มที่เพิ่งติดคุกครั้งแรก ร้อยละ 68.1
5.เมื่อวิเคราะห์ตามช่วงวัย พบว่าผู้ต้องขังกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สูงวัย เชื่อมั่นว่าตนเองจะไม่ต้องกลับเข้าคุกซ้ำอีกมากที่สุด ร้อยละ 75 รองลงมาเป็นวัยทำงาน ร้อยละ 65.7 และวัยรุ่น ร้อยละ 54.8 ตรงกันข้ามกับกลุ่มที่เชื่อว่าชีวิตของตนจะต้องกลับมาติดคุกซ้ำอีก พบว่าเป็นวัยรุ่นมากที่สุด ร้อยละ 45.2 รองลงมาเป็นวัยทำงาน ร้อยละ 34.3 และผู้สูงวัย ร้อยละ 25
6.การเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ว่าในฐานะผู้เสพหรือจำหน่าย ผู้ต้องขังกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.9 ระบุว่า มาจากคนรู้จักทั่วไป รองลงมา ร้อยละ 61.9 มาจากคนที่อาศัยอยู่ใกล้บ้านหรือในชุมชน อันดับ 3 ร้อยละ 14.3 มาจากบุคคลในครอบครัว และ 7.ทักษะที่ผู้ต้องขังกลุ่มตัวอย่างมีติดตัว และเชื่อว่าสามารถนำไปประกอบอาชีพหลังพ้นโทษได้ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 ขี่มอเตอร์ไซค์ ร้อยละ 91.6 อันดับ 2 ขับรถยนต์ ร้อยละ 64.2 อันดับ 3 พิมพ์ดีดได้คล่อง ร้อยละ 30.2 อันดับ 4 ทำอาหาร ร้อยละ 27.6 และอันดับ 5 ซ่อมเครื่องยนต์ ร้อยละ 26.1
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี