โรคพุ่มแจ้ และโรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นศัตรูพืชสำคัญที่ทำความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในประเทศกัมพูชา และเวียดนาม โดยเฉพาะประเทศกัมพูชาซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย และมีความเสี่ยงสูงที่ศัตรูพืชทั้ง 2 ชนิด จะเข้ามาระบาดและทำความเสียหายให้กับผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และภาคเกษตรกรเองต้องหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการเพื่อเตรียมการป้องกันก่อนเกิดการระบาดในพื้นที่ อีกทั้งในปัจจุบันมีรายงานว่าพบมันสำปะหลังแสดงอาการคล้ายโรคพุ่มแจ้ในหลายจังหวัด เช่น สระแก้ว ชลบุรี มุกดาหาร กำแพงเพชร และอีกหลายจังหวัดในแถบภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในส่วนของโรคใบด่างมันสำปะหลังนั้น ขณะนี้ยังไม่รายงานว่าพบในประเทศไทย โดยลักษณะอาการของโรคพุ่มแจ้ และโรคใบด่างมันสำปะหลังที่สังเกตได้คือ โรคพุ่มแจ้ ต้นมันสำปะหลังจะแสดงอาการแตกตาข้าง ลำต้นแคระแกรนยอดเป็นพุ่ม ใบเล็กสีเหลืองซีด เมื่อตัดส่วนของลำต้นและหัวมันสำปะหลัง ท่ออาหารและหัวมันสำปะหลังจะเป็นเส้นสีน้ำตาลดำโรคใบด่างมันสำปะหลังต้นมันสำปะหลังจะแสดงอาการใบด่างเหลืองใบเสียรูปทรง และมีขนาดเล็กลง ยอดที่แตกใหม่แสดงอาการด่างเหลือง ลำต้นแคระแกรน
เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคพุ่มแจ้ และโรคใบด่างมันสำปะหลัง สามารถติดไปกับท่อนพันธุ์หรือต้นพันธุ์มันสำปะหลังได้ อีกทั้งยังมีแมลงพาหะนำโรคที่สามารถอพยพเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆ ได้ง่ายกรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรแปลงมันสำปะหลังอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เมื่อเริ่มทำการเพาะปลูกเลือกใช้พันธุ์จากแหล่งที่ปลอดโรค หรือจากต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่ไม่แสดงอาการของโรค หากพบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการของโรคให้ขุดหรือถอนต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงและแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดทันที และหลีกเลี่ยงการขนย้ายท่อนพันธุ์จากแหล่งที่พบการระบาดของโรคไปสู่แหล่งที่ยังไม่เคยพบการระบาด รวมถึงการกำจัดพืชอาศัยของเพลี้ยจักจั่นซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรคพุ่มแจ้ เช่น ต้นสาบม่วงและหลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เช่น สบู่ดำ ละหุ่ง และพืชอาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรคใบด่างมันสำปะหลัง เช่น กระเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง พริก มะเขือเปราะ มันฝรั่ง พืชตระกูลถั่ว และในบริเวณแปลงมันสำปะหลัง
ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2955-1514 , 0-2955-1626หรือ https://www.doae.go.th/doae/upload/files/Cassava_witches%20broom_060661.pdf และ https://www.doae.go.th/doae/upload/files/Cassava_Mosaic%20Virus_060661.pdf
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี