13 ก.ย.61 นายประยูร พงศ์พันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ได้กล่าวขณะทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการยกเลิกการเข้าเก็บผลประโยชน์จากท่าเรือเกาะเสม็ด เพราะทาง อบจ.ระยอง ได้มีการสัมปทานให้กับเอกชน ที่ชนะการประมูล เข้ามาดำเนินการเมื่อปลายปี พ.ศ.2560 โดยไม่มีการแจ้งให้ทางอุทยานฯในฐานะเจ้าของพื้นที่ทราบก่อน จึงเท่ากับเป็นการกระทำโดยผิดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (13) ดังนี้ มาตรา 16 ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใด (13) เข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงมีคำสั่งลงมาให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
นายประยูร พงศ์พันธุ์ หน.อุทยานฯ ได้กล่าวว่า สำหรับคำสั่งดังกล่าว สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 22 เม.ย.61 นายภีมเดช อมรสุคนธ์ ประธานสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก พร้อมด้วยชาวบ้านเพและเกาะเสม็ด เดินทางไปยังที่ทำการอุทยานฯบนเกาะเสม็ด ยื่นหนังสือ คัดค้านกรณีที่ อบจ.ระยอง สัมปทานท่าเทียบเรือเกาะเสม็ด ให้กับ บริษัทเกาะแก้วพิสดาร จำกัด เข้าเก็บผลประโยชน์ จากนักท่องเที่ยว ที่ผ่านท่าเรือคนละ 20 บาท รวมถึงรถ เรือ ทุกชนิดที่เข้าเทียบท่า
สร้างความเดือดร้อนและเสียภาพลักษณ์ต่อการท่องเที่ยวของเกาะเสม็ด เพราะท่าเรือเป็นสาธารณูปโภคหลักที่จำเป็นต่อการสัญจร ที่มีเพียงแห่งเดียว จึงไม่สมควรจัดเก็บค่าบริการ เพราะท่าเรือคือสาธารณูปโภคหลักที่รัฐควรสร้างไว้บริการประชาชน จึงควรเป็นสาธารณะประโยชน์ จึงมายื่นหนังสือให้ทางอุทยานฯในฐานะเจ้าของพื้นที่ช่วยตรวจสอบเพื่อยกเลิกการจัดเก็บเงินและยกเลิกสัมปทาน นอกจากนี้ทางชาวบ้านยังมีการฟ้องร้องปกครองอยู่ในขณะนี้ด้วย ทางอุทยานฯจึงรับเรื่องไว้และได้เสนอเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชา จนมีการตรวจสอบจนนำมาสู่คำสั่งให้ยกเลิกการจัดเก็บผลประโยชน์ในพื้นที่ท่าเรือเกาะเสม็ด และ ยกเลิกการสัมปทาน หลังรับคำสั่ง ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยัง อบจ.ระยอง แล้ว ถึงสองครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการตอบรับ หรือ ประสานเข้ามา
แต่ถึงอย่างไรทางอุทยานฯก็จะดำเนินการตามขั้นตอนโดยยึดตามข้อกฎหมายเป็นหลัก โดยมีหลักฐานที่ปรากฎชัดเจนว่าผิดต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (13) ถือเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับ การเข้ามาหาผลประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนเรื่องกำหนดเวลาในการดำเนินการตามคำสั่งก็จะต้องทำตามขั้นตอนและตามกรอบเวลาของกฎหมายกำหนด ส่วนเรื่องของการบริหารท่าเรือเกาะเสม็ดในอนาคตนั้น จะต้องกระทำอย่างรอบคอบและต้องมีการหารือกันอึกครั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม
ด้านชาวบ้านเพ-เกาะเสม็ด และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะเสม็ด เมื่อทราบข่าวต่างก็ยินดี ที่กรมอุทยานฯได้เล็งเห็นถึงความถูกต้องเป็นหลักกับความเดือดร้อน รวมถึง ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของเกาะเสม็ด ที่มีผลกระทบ หลังจากมีการเรียกเก็บเงินซ้ำซ้อนจนทำให้นักท่องเที่ยวเบื่อหน่าย จนทำให้ยอดนักท่องเที่ยวลดลง เพราะ ท่าเทียบเรือเกาะเสม็ดที่มีเพียงแห่งเดียว จำเป็นต่อการสัญจรของชาวบ้านและนักท่องเที่ยว โดยไม่มีทางเลือก รัฐจึงควรสร้างไว้บริการประชาชนผู้เสียภาษี ไม่ใช่นำเงินภาษีประชาชนมาสร้างแล้วให้เอกชนมาเก็บผลประโยชน์ โดยที่ไม่ต้องลงทุน จึงไม่ถูกต้องไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับท่าเทียบเรือเกาะเสม็ด เมื่อแรกเริ่ม เป็นท่าเรือไม้ที่ชาวบ้านเพ ที่ไปตั้งรกรากบนเกาะเสม็ดสร้างไว้เพื่อเทียบท่าเรือประมง และ ขึ้นลงสัญจรไปมาระหว่างชายฝั่งบ้านเพ ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง กับ เกาะเสม็ด จนกระทั่งต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2535 อบจ.ระยองในสมัยนั้น ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนในการสัญจรของชาวบ้านประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจึงได้จัดสรรงบประมาณลงมาก่อสร้างท่าเรือปูนแบบมาตรฐานขึ้นมาเป็นสาธารณะประโยชน์ใช้ร่วมกัน จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ.2549 ทางรัฐบาลในสมัยนั้นได้มีนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ จึงมีโครงการปรับปรุงท่าเรือเกาะเสม็ดและสร้างถนนเกิดขึ้น โดยมีกรมทางหลวงชนบทเป็นเจ้าของโครงการ และ ออกแบบท่าเรือในรูปปี่พระอภัยมณี ตามวรรณกรรมของท่านสุนทรภู่ กวีเอกของโลก เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อเกาะแก้วพิสดารต่อมาทาง อบจ.ระยอง ได้เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างท่าเรือเกาะเสม็ด ที่มีสองท่า ท่าเรือเรือโดยสาร และ ท่าเรือ ขนส่งสินค้า งบประมาณทั้งหมด 169 ล้านบาท
โดยทาง อบจ.ระยอง ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินมาก่อสร้าง อ้างว่าไม่มีงบประมาณ และ ไม่มีการแจ้งกับชาวบ้าน ว่าจะมีการเก็บค่าบริการก่อนก่อสร้าง แจ้งเพียงว่าเป็นการพัฒนาเกาะเสม็ดให้ทันสมัย ชาวบ้านจึงยินดีให้รื้อท่าเรือเก่าออกโดยไม่มีการคัดค้าน จนกระทั่งก่อนที่ท่าเรือจะแล้วเสร็จหนึ่งเดือน ทาง อบจ.ระยอง ได้นำป้ายขนาดใหญ่ที่แจ้งอัตราค่าใช้บริการท่าเทียบเรือแห่งใหม่ ชาวบ้านจึงไม่เห็นด้วยรวมตัวคัดค้านเพราะเสมือนถูกหลอกจึงร่วมลงชื่อผ่านตัวแทนฟ้องศาลปกครองระยอง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีที่ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ทาง อบจ.ระยองไม่สนใจต่อเสียงคัดค้าน ขึ้นราคาค่าใช้บริการท่าเรือจาก 10 บาท เป็น 20 บาท และ เปิดสัมปทานให้กับเอกชนเข้ามาบริหารเมื่อปลายปี2560 จนมีการรวมคัวคัดค้านและยื่นหนังสือให้กับทางอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าในฐานะเจ้าของพื้นที่ตรวจสอบยกเลิกการสัมปทานและการจัดเก็บค่าบริการท่าเรือ จนกระทั่งมีคำสั่งออกมา
ด้านนายกิตติ เกียรติมนตรี รองนายก อบจ.ระยอง ได้ กล่าวว่า ทาง อบจ.ระยองรับทราบแล้วเกี่ยวกับคำสั่งของอุทยานฯ ซึ่งทาง อบจ.ระยอง ยืนยันทำถูกต้องตามคำสั่งศาลปกครองระยอง ที่สามารถจัดเก็บค่าบริการท่าเรือได้ โดยยึดคำสั่งศาลปกครองเป็นหลัก ส่วนรายละเอียดทั้งหมดมีหลักฐานยืนยัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี