“สมหวัง” ชี้ อุดมศึกษาไทย เผชิญ 3 กระแสที่กระตุ้นให้ปรับตัว ระบุเลิกเถียงผลิตครู 4, 5 ปี แนะ 5 ปีแต่ได้วุฒิ ป.โท เสนอคณะครุ-ศึกษาศาสตร์ปรีบหลักสูตรเป็น 2 ภาษา มีความรู้สำนึกสากล
27 ต.ค.61 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับ ภาควิจัยและกิจกรรมการศึกษา จัดงานปาฐกถา “ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์” เนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี เพื่อแสดงมุทิตาจิตและเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการ แลกเปลี่ยนการเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน โดยมีนิสิตคณะครุฯ ปีที่ 1-5 และคณาจารย์คณะครุฯ คณะศึกษาศาสตร์ ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วม
ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความฉลาดรู้สากล กับ ครูการผลิตและพัฒนาครูคุณภาพ” ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้อุดมศึกษาไทย กำลังอยู่ในความเปลี่ยนแปลงจาก 3 กระแส คือ กระแสโลกาภิวัฒน์ กระแสวิทยาการความรู้ นวัตกรรม และสังคมดิจิทัล ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นสังคมเสมือน(จริง) เวลานี้อะไรก็ตามที่เหมือนเป็นเรื่องจริงแต่ไม่จริง คนโกหกมากขึ้น ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมมาอุดมศึกษา และการศึกษาของประเทศ ทำให้ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยน จะทำแบบเดิมต่อไปอีกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในการผลิตและพัฒนาครู ต้องสร้างคนที่มีความฉลาดรู้สากล ในที่นี้หมายถึง การมีสำนึกสากล การมีสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก มีความรู้เข้า มีความสามารถในการวิเคราะห์ เหตุการณ์ หรือพหุวัฒนธรรมที่เกิดในโลกไร้พรมแดน อย่างมีวิจารณญาณ มีมุมมองที่หลากหลาย
ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนขอฝากคณะครุศาสร์และคณะศึกษาศาสตร์ ให้ความสำคัญในการผลิตและพัฒนาครู 2 เรื่องหลัก ดังนี้ 1.ครูคุณภาพ โดยเฉพาะในช่วง 1-3 ปี คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ควรทำงานร่วมกับโรงเรียนมากขึ้น เน้นการสร้างองค์ความรู้ ผลักดันโดยใช้แรงขับจากภายในเพื่อให้นิสิต นักศึกษาครูพัฒนาตนเอง และ 2. ครูศึกษาสำหรับครูประจำการ ที่เน้นให้มีการฝึกอบรมด้วยระบบคูปอง โดยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาต้องมาช่วยกัน ซึ่งความจริงเวลานี้พบว่ามีการจัดใช้ระบบคูปองแต่ยังขาดความเข้าใจที่ถ่องแท้ โดยการอบรมต้องการันตรีว่าเกิดคุณภาพการพัฒนาได้แท้จริงและเด็กได้ประโยชน์
“เวลานี้มีข้อถกเถียงเรื่องการผลิตครู หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี แต่คนที่เถียงก็ไม่รู้ความจริง เพราะตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมามีข้อเสนอว่าให้ผลิตครูหลักสูตร 6 ปีเทียบเท่าระดับบัณฑิตศึกษา จบมาได้วุฒิปริญญาโท แต่ยังไม่สามารถทำได้ สุดท้าย จบหลักสูตร 5 ปีในระดับปริญญาตรี อย่างไรก็ตาม เวลานี้กระแสโลกเปลี่ยนแปลงทั้งดิจิทัล โลกออนไลน์ ออฟไลน์ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลทำได้ง่าย เพราะฉะนั้น ผมเสนอว่าไม่ต้องโต้เถียงกันว่า 4 ปี หรือ 5 ปี แต่ยกระดับให้จบปีในระดับบัณฑิตศึกษา หรือ ป.โท ไปเลย ขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอนยังคงต้องเน้นการปฏิบัติเป็นตัวนำ เพราะที่ผ่านมายังเน้นทฤษฎีนำมากเกินไป ตลอดจนหลักสูตรการสอนควรต้องเป็นหลักสูตรสอน 2 ภาษา ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเรียนรู้ ตลอดจน ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการประเมินผลการศึกษาให้มากขึ้นด้วย” ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าว
ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ในการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ.. มีข้อเสนอให้กำหนดไว้ในมาตรหนึ่งของร่าง พ.ร.บ... เรื่องการจัดตั้ง “กองทุนผลิตพัฒนาครูอาจารย์” ขึ้น แต่น่าเสียดายว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ เพราะมีการคัดค้าน ทั้งที่ เราบอกว่าครูอาจารย์สำคัญที่สุดต่อระบบการศึกษา แต่กลับพบว่า เราขาดการลงทุนอย่างจริงจัง แต่อย่างน้อยที่น่าดีใจในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ คือ สามารถผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษาได้อย่างสำเร็จ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้เรียนและครูอาจารย์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี