คิดว่าจะไม่เขียนถึงเรื่องยางพาราอีกแล้ว แต่จะรอดูว่ามาตรการของรัฐบาลที่ประกาศไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงไร และเอาใจช่วยให้ชาวสวนยางข้ามพ้นปัญหาราคายางตกต่ำไปให้ได้ แต่บังเอิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฤษฎา บุญราช ไอเดียบรรเจิด สั่งการทางไลน์ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ อนันต์สุวรรณรัตน์ แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางส่งเสริมการปลูกโกโก้แทนสวนยางที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป หรือสวนยางที่ให้น้ำยางน้อยไม่คุ้มทุน
คณะทำงานที่ว่านี้ ท่านเสนอมาว่าน่าจะประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การยางแห่งประเทศไทย และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือหน่วยงานอื่นๆ ตามความเหมาะสม
ตรงนี้แหละที่เป็นห่วง ห่วงว่าถ้าคณะทำงานประกอบไปด้วยหน่วยงานที่หลากหลายเกินไป เกรงจะหาข้อสรุปไม่ได้เสียที เช่นเดียวกับหลายเรื่องที่เคยเห็นมา
อันที่จริงเรื่องของโกโก้ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคใต้ และภาคตะวันออก เพราะตามประวัติโกโก้ในประเทศไทยระบุว่า มีผู้นำโกโก้มาปลูกครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2446 ต่อมาในปี พ.ศ.2495 กรมกสิกรรมได้ทดลองนำมาปลูกที่สถานีกสิกรรมบางกอกน้อย กรุงเทพฯ สถานีกสิกรรมพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี สถานียางคอหงส์ จังหวัดสงขลา และ สวนยางนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช และปี พ.ศ.2515กรมกสิกรรม นำโกโก้พันธุ์ลูกผสมจากประเทศมาเลเซีย มาปลูกที่สถานีทดลองยางในช่อง จังหวัดกระบี่
ต่อมาในปี พ.ศ.2522 พ.ต.อ.กฤช สังขทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยนั้น นำผลโกโก้ และ กิ่งพันธุ์โกโก้ หลายพันธุ์ จากประเทศมาเลเซีย มาปลูกที่สถานีทดลองพืชสวนสวี จังหวัดชุมพร และ พ.ศ.2525 กรมวิชาการเกษตร ได้นำเข้ากิ่งพันธุ์โกโก้ พันธุ์ต่างๆจาก รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา มาปลูกที่สถานีทดลองพืชสวนสวี
ปี พ.ศ.2535 กรมวิชาการเกษตรได้นำเข้ากิ่งพันธุ์โกโก้อีก 10 พันธุ์ จากมหาวิทยาลัยรีดดิ้ง ประเทศอังกฤษ มาปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์โกโก้ของไทยในปัจจุบัน โดยมีพันธุ์โกโก้ที่รวบรวมไว้ทั้งสิ้น จำนวน 34 พันธุ์
กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้ศึกษาวิจัยโกโก้ ในด้านการปรับปรุงพันธุ์ การตัดแต่งกิ่ง การป้องกันกำจัดศัตรูพืช และวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปเป็นเมล็ดแห้ง จนได้เทคโนโลยีที่สามารถถ่ายทอดให้กับเกษตรกรได้ในปี พ.ศ. 2537 พร้อมทั้งได้ปรับปรุงพันธุ์โกโก้ และผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปผลิตเป็นต้นพันธุ์โกโก้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกได้ปีละหลายแสนเมล็ด
เท่าที่ทราบ กรมส่งเสริมการเกษตรเคยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้แซมในสวนมะพร้าวเช่นกัน แต่จะด้วยเหตุเพราะการตลาด หรือ ขั้นตอนการผลิตเมล็ดแห้งเพื่อจำหน่ายยุ่งยากสำหรับเกษตรกรหรืออย่างไรไม่แน่ชัด พื้นที่ปลูกโกโก้ค่อยหายไป
จนเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าตั้งแต่ ปี 2549 เป็นต้นมา ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้ส่งเสริมปลูกโกโก้ในจังหวัดจันทบุรี พื้นที่ปลูกโกโก้จึงได้ขยายไปในภาคตะวันออก รวมทั้งยังมีงานวิจัยและพัฒนาการผลิตโกโก้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้แก่ การทดสอบพันธุ์โกโก้สำหรับทำช็อกโกแลต รวบรวมและศึกษาพันธุ์โกโก้สายพันธุ์ต่างๆ และ ศึกษาคุณภาพทางกายภาพ เคมี และการยอมรับทางประสาทสัมผัสของโกโก้สายพันธุ์ต่างๆ
การปลูกโกโก้ต้องอาศัยร่มเงาในอดีตจึงต้องส่งเสริมปลูกโกโก้แซมในสวนมะพร้าว ไม่แน่ใจว่า การปรับปรุงพันธุ์โกโก้ของกรมวิชาการเกษตร จะมีพันธุ์ที่ปลูกเป็นแปลงโกโก้ล้วนๆ ได้หรือไม่ ถ้าไม่มีพันธุ์โกโก้ที่ชอบแดด การปลูกแทนยางก็อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่อาจปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางได้
ให้กรมส่งเสริมการเกษตร ของอธิบดี สำราญ สาราบรรณ์ กับกรมวิชาการเกษตร ของอธิบดี เสริมสุข สลักเพ็ชร์คุยกัน 2 กรมก่อนก็น่าจะหาข้อสรุปได้ในเบื้องต้น หรือไม่ก็น่าจะมอบให้คณะกรรมการพืชสวน ของกระทรวงเกษตรฯ ทำการศึกษาและพิจารณาเสนอรัฐมนตรีฯ ไม่ต้องตั้งคณะทำงานให้เสียเวลา
แว่นขยาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี