แพทย์หญิงสาวิตรี สุวิกรม สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเราพบเห็นหญิงวัยรุ่นที่กำลังตั้งครรภ์หรือมีลูกเล็กๆเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่าอัตราการตั้งครรภ์ของหญิงวัยรุ่นในปี 2552 ร้อยละ 17.20 เพิ่มเป็นร้อยละ 19.85 ในปี 2553 เป็นปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญป้องกันและให้การช่วยเหลือ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์เองก็ได้เปิด "คลินิกมารดาวัยรุ่น" บริการทุกวันจันทร์ เวลา 07.30-12.00 น. ให้บริการตรวจฝากครรภ์และให้คำปรึกษาหญิงตั้งครรภ์ก่อนวัยควร(อายุต่ำกว่า 20 ปี) โดยมีแพทย์ประจำคลินิกคือ นายแพทย์วิสุทธิ์ อนันต์สกุลวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม และตน
ขั้นตอนการเข้ารับบริการ ทำประวัติที่เวชระเบียนนอก รับบริการตรวจที่ห้องฝากครรภ์ชั้น 3 และตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ ประเมินอายุครรภ์ กำหนดวันคลอด เนื่องจากเป็นมารดาวัยรุ่นจึงมีการให้บริการประเมินสภาวะทางด้านจิตใจ และสังคมทั่วๆไปด้วย เพื่อพูดคุยแนะนำแนวทางปฏิบัติตัวที่เหมาะสม รวมทั้งรับการประเมินพฤติกรรมเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกกำหนด ให้คำแนะนำการเตรียมตัวคลอด และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กรณีรายที่มีปัญหาจะส่งปรึกษานักสังคมสงเคราะห์ เพื่อประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
แพทย์หญิงสาวิตรีกล่าวอีกว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่งผลกระทบกับตัวแม่วัยรุ่นเองที่จะมีปัญหาทางร่างกาย ลูกในท้องอาจเจริญเติบโตไม่ดี และอาจคลอดเองไม่ได้เสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด รวมไปถึงเกิดผลกระทบต่อการศึกษาของแม่ที่อาจต้องหยุดพักการศึกษา อีกส่วนสำคัญคือการเลี้ยงลูกซึ่งมีโอกาสเกิดความล้มเหลว ส่งผลในระยะยาวที่เด็กกลุ่มนี้อาจกลายเป็นปัญหาของสังคมไทยวนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาครอบครัวที่ต้องมีภาระเลี้ยงดูทั้งแม่วัยรุ่นและเด็กที่เกิดมา และในส่วนของภาครัฐที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลครรภ์และการคลอดที่สูงกว่ากลุ่มแม่ที่ตั้งครรภ์อายุที่เหมาะสม
เราจึงควรป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้ 1.ป้องกันการตั้งครรภ์ครั้งแรก โดยจัดการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้านในทุกกลุ่มอายุทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อชะลอการมีเพศสัมพันธ์ การเข้าถึงถุงยางอนามัยและการคุมกำเนิดฟรีหรือราคาถูก 2.ป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ โดยการให้คำปรึกษาด้านการวางแผนครอบครัว การศึกษาต่อ และการทำงาน และ3.ป้องกันปัญหาแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ การคลอด และการแท้งโดยบุคลากรทางสาธารณสุขและกลุ่มผู้ช่วยเหลือในชุมชน
รวมทั้งช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยชั่วคราวระหว่างตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอด ในวัยรุ่นที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม หรือจิตใจ และการอุปถัมภ์บุตรในกรณีที่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งตัววัยรุ่นเอง ครอบครัว สถานศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรเอกชนต่างๆ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี