‘ว่านหน้าขาว’…สกินแคร์‘สมุนไพรไทย’เพื่อผิวขาว
สำหรับผู้หญิงผิวขาวใครๆ ก็อยากมี แต่ที่สำคัญก็คือการเลือก “สกินแคร์” มาบำรุงผิว นอกจากต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพผิวแล้ว ก็ต้องเลือกที่มีส่วนผสมของสารสกัดธรรมชาติ ปลอดสารเคมี มีสรรพคุณทางยาช่วยดูแลและบำรุงผิวได้ตรงจุด เห็นผลชัด
ปัจจุบันมีการนำ “พืชสมุนไพร” มาพัฒนาและสกัดค้นหาสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพจากธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ในทางด้านการแพทย์สมุนไพร หรือใช้เป็นส่วนผสมในหลากหลายผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาว อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยมากขึ้น
นอกจากนี้ เทรนด์สาวๆ ยุคใหม่ที่รักสวยรักงาม เริ่มหันมาให้ความสนใจและอยากมีผิวขาวสวยด้วยวิธีทางธรรมชาติ อย่างการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสมุนไพรเป็นตัวช่วยให้ผิวขาว ซึ่งล่าสุด มีการค้นพบสมุนไพรตัวหนึ่ง ที่สามารถทำให้ผิวของคุณขาวขึ้นจริง นั่นก็คือสมุนไพรที่มีชื่อว่า...
“ว่านหน้าขาว”!!!
ชื่อนี้หลายคนอาจไม่เคยได้ยินและอาจยังไม่รู้ถึงคุณสมบัติที่น่าสนใจของมันสักเท่าไร แต่บอกได้เลยว่าสรรพคุณนั้นโดดเด่นและไม่ธรรมดาเลยทีเดียว แค่อ่านชื่อของสมุนไพรก็น่าจะพอเดาได้ถึงคุณสมบัติที่สาวๆหลายคนแสวงหา เพราะเรื่องผิวขาวสวย นวลเนียน เป็นผิวในฝันที่ผู้หญิงทุกคนนั้นปรารถนา มาทำความรู้จักกับสมุนไพรชื่อน่าสนใจตัวนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า
“ว่านหน้าขาว” เป็นสมุนไพรไทยที่หมอสมุนไพรในภาคอีสานคุ้นเคยกันดี เพราะมีความโดดเด่นในหลายสรรพคุณ ทั้งประทินผิวให้ขาว แก้สิวฝ้า รากยังช่วยบำรุงโลหิต ชื่ออื่นๆที่คนมักเรียกสมุนไพรตัวนี้ “ว่านตาลเดี่ยว หรือหญ้าดอกคำ” (Hypoxis aurea Lour.) จัดอยู่ในกลุ่ม Hypoxidaceae เป็นพืชสมุนไพรที่พบในประเทศอินเดีย ปากีสถาน ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และทั่วทุกภาคในไทย ขึ้นทั้งในป่าผลัดใบและไม่ผลัดใบ ในป่าเต็งรังและป่าสน แต่จะพบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทุ่งหญ้าที่เปิดโล่ง ความสูงถึงประมาณ 2,000 เมตร
ลักษณะเป็นไม้ล้มลุก มีขนสีขาวตามแผ่นใบประดับช่อดอก เหง้าทรงกลมถึงทรงกระบอกยาว ใบเดี่ยวรูปแถบ ปลายเรียวแหลม กว้าง 1-4 ซม. ยาว 8-25 ซม. โคนโอบรอบลำต้น ไร้ก้าน ออกดอกสีเหลืองที่ซอกใบ ยาว 4-8 ซม.ดอกย่อย 1-2 ดอก ในสมัยโบราณนิยมใช้เหง้าต้มน้ำดื่มเพื่อบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต นอกจากนี้ยังมีการนำเหง้ามาฝนให้เป็นผงสำหรับ ทาผิวแก้ สิวฝ้า
ดร.สุวรรณ ตั้งจิตรเจริญ นายกสมาคมแพทย์อายุรเวทแผนไทยประยุกต์แห่งประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์ เผยว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ในเหง้า ได้พบสารในกลุ่มฟีนอลิก กลุ่มแทนนิน กลุ่มไกลโคไซด์หลายชนิด เช่น Aureaside A, Aureaside B และสารอื่น ๆ ที่มีโครงสร้างหลากหลาย
นอกจากนี้ การศึกษาในระดับห้องทดลองเกี่ยวกับสารสกัดน้ำกลั่นของเหง้า ยังพบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรสิเนส (Tyrosinase) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องในกระบวนการการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานินใต้ผิวหนัง ดังนั้น จึงมีการศึกษาทางห้องปฏิบัติการต่อมาเกี่ยวกับการสร้างเม็ดสีเมลานินและการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ก็พบว่า สารสกัดแอลกอฮอล์ความเข้มข้นร้อยละ 95 จากใบและสารสกัดน้ำกลั่นจากเหง้าของพืชชนิดนี้ให้ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินในเซลล์ทดลอง กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ดีเทียบเท่ากับวิตามินซี ส่งผลให้มีการนำสารสกัดจากเหง้าที่ได้ทำการศึกษาทดลองมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงให้ผิวขาวกระจ่างใส และไม่มีอาการระคายเคือง
จากการศึกษา ดังกล่าว ได้มีการนำผลงานวิจัย “ว่านหน้าขาว” ไปเผยแพร่ในเวทีต่างประเทศ จนได้รับรางวัลด้านการแพทย์ในการการประกวด World Innovator Award Festival ที่ประเทศเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังได้รับเหรียญรางวัลในการประกวดนวัตกรรม อาทิ Novel Research and Innovation Competition 2013 จัดโดย University Sains Malaysia ประเทศมาเลเซีย และ International Warsaw Invention Show (IWIS) 2014 จัดโดย Warsaw University of Technology ประเทศโปแลนด์ รวมถึงได้รางวัลพิเศษจากหน่วยงานต่างๆ เช่น Korea Invention News จากประเทศเกาหลีใต้ และ Chinese Innovation & Invention Society (CIIS)
นับได้ว่า “ว่านหน้าขาว” เป็นพืชสมุนไพรมหัศจรรย์อีกหนึ่งชนิดที่น่าสนใจและจับตามองอย่างมาก นอกจากจะสร้างประโยชน์และเกิดมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการแพทย์ ความงาม และเชิงพาณิชย์ ยังสามารถเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขภาพผิวในอนาคตอีกด้วย เพราะมีทั้งงานวิจัยรองรับและรางวัลการันตีมากมาย
ขอขอบคุณข้อมูลโดย:
ดร.สุวรรณ ตั้งจิตรเจริญ
นายกสมาคมแพทย์อายุรเวทแผนไทยประยุกต์แห่งประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์
เอกสารอ้างอิง
1.สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ). เผยแพร่เมื่อ 30 ตุลาคม 2560. เข้าถึงเมื่อ 14 ธันวาคม 2561. เข้าถึงได้จากhttp://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%B3&typeword=group
2.Kumari P, Samant SS, Puri S. Diversity, distribution, indigenous uses and conservation of medicinal plants in central Himachal Pradesh, North Western Himalaya. J Med Plants Studies 2018;6(5):45-68.
3.Cheng ZQ, Yang D. Liu YQ, Hu JM, Jiang HZ, Wang P, et al. Two new phenolic glycosides from Hypoxis aurea Lour. Bull Korean Chem Soc. 2009;30:2446-8.
4.Boonpisuttinant K, Winitchai S, Keawklin S, Yuenying J, Srisanga P, Meepradit K, et al. Free radical scavenging and tyrosinase inhibition activities of Hypoxis aurea Lour.
tuberous Extracts. J Appl Sci Res. 2013;9(12): 6039-45.
5.Boonpisuttinant, K., Keawklin, S., Yuenying, J., Srisanga, P., Sodamook, U., Winitchai, S. In vitro anti-melanogenesis on murine melanoma cell line (B16F10) and tyrosinase inhibition activity of Hypoxis aurea Lour. leave extracts. Proceedings of The 1st Academic Science and Technology Conference (ASTC) 2013. Science and Technology for Better Life. 5-8.
6.Keawklin, S., Yuenying, J., Srisanga, P., Meepradit, K., Boonpisuttinant, K. Study of phytochemicals and free radical scavenging activity from Hypoxis aurea Lour. tuberous extracts. Proceedings of The 1st Academic Science and Technology Conference (ASTC) 2013. Science and Technology for Better Life. 27-31.
7.Boonpisuttinant K, Sodamook U, Ruksiriwanich W, Winitchai S. In vitro anti-melanogenesis and collagen biosynthesis stimulating activities of Star Grass (Hypoxis aurea Lour.) extracts. AJAS 2014;4(2):405-13.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี