อธิบดีกรมปศุสัตว์ ปล่อยขบวนคาราวานพ่นยาฆ่าเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตามพื้นที่ชายแดนไทย ลาว และเวียดนาม หลังพบที่เวียดนามมีการระบาดของโรค แต่ในไทยยังไม่เกิด เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนก ปศุสัตว์มีมาตรการป้องกัน ไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
27 มี.ค.62 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมโรงแรมอัศวรรณ อ.เมืองหนองคาย นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระหว่างตัวแทนปศุสัตว์ชายแดน ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา จากนั้นได้ปล่อยขบวนคาราวานความร่วมมือเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ขบวนรถเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษออกพ่นยาฆ่าเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตามแนวชายแดน
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์สำคัญที่เกิดกับสุกร มีอัตราการป่วยและการตายสูง ปัจจุบันมีรายงานการเกิดโรคในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนพบการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ล่าสุดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีรายงานการเกิดโรคที่เวียดนาม ซึ่งไทยตรวจพบการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกรที่ผลิตจากเวียดนามโดยผ่านประเทศลาวเข้ามาทางจังหวัดนครพนม กรมปศุสัตว์จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมกับด่านกักกันสัตว์ในพื้นที่เข้าปฏิบัติงานตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์โดยเฉพาะสุกรในพื้นที่ 7 จังหวัดชายแดนที่ติดกับ สปป.ลาว ได้แก่ เลย , นครพนม, มุกดาหาร, หนองคาย, บึงกาฬ และอุบลราชธานี ปฏิบัติงานลาดตระเวนตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสัตว์ ซากสัตว์ บริเวณจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว และช่องทางธรรมชาติ ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายและการค้าสัตว์ ซากสัตว์ตามตลาดในพื้นที่ชายแดนไทยลาว
ในครั้งนี้ได้มีการหารือกับประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อหามาตรการป้องกันให้ประเทศในภูมิภาคปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร การปล่อยขบวนคาราวานฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามแนวชายแดนครั้งนี้มีความสำคัญเพราะพื้นที่ชายแดนมีความเสี่ยงในการเลี้ยงสุกรแบบปล่อย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่เข้มแข็ง ทางปศุสัตว์ได้ทำคู่มือให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ผ่านทางจังหวัดและปศุสัตว์จังหวัดต่าง ๆ ซึ่งโรคนี้คล้ายกับโรคอหิวาต์ธรรมดาแต่มีอัตราการป่วยตายสูง เป็นโรคที่ไม่ติดคน ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน เชื้อทนทานต่อความร้อน อัตราการตายสูง กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยทางชีวภาพ ส่วนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้ดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ยกระดับโรคนี้เป็นวาระแห่งชาติทุกหน่วยงานราชการต้องช่วยกัน ประชาชนยังไม่ต้องตื่นตระหนกเพราะเป็นโรคที่ไม่ติดคน แต่ติดในสุกรอย่างเดียว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี