สังคมเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ มีความศิวิไลซ์ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะพบเห็นเด็กและเยาวชน ตามร้านอินเตอร์เนตหรือไม่ก็เดินห้างสรรพสินค้าเลิศหรู ซึ่งต่างจากสังคมชนบท ช่วงฤดูร้อนหรือหน้าแล้ง ทางภาคอีสาน ตามหมู่บ้าน ตำบล จะหาอาหารการกินยากลำบาก บางหมู่บ้านขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค เดือดร้อนมากโดยเฉพาะภาพเด็กนักเรียน ถือไม้ไผ่ สะพายข้อง ขับขี่รถจักรยานตระเวน จับกิ้งก่าเป็นอาหาร ที่เหลือก็จะขายให้กับพ่อค้า แม้เงินไม่มาก ก็สะสมไว้เป็นทุนการศึกษา
ด.ช.ประยูร ไกยกิจ อายุ 13 ปี อยู่บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 4 บ้านโนนใจดี ต.บุ่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ เรียนอยู่ชั้น ป.6 โรงเรียนเมืองอำนาจเจริญ เด็กอีสาน ซึ่งดิ้นรน เพื่อปากท้องมาตั้งแต่เล็ก บอกว่า สมัยเล็กๆ ได้สะพายข้องติดตามบิดาไปหาจับกะปอม (กิ้งก่า) ทุกที่ ก็รู้วิธีจับกะปอมเป็นอย่างดี พอโตขึ้นก็ได้ชวนเพื่อนๆในหมู่บ้านปั่นจักรยานตระเวนจับกะปอมในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เป็นประจำ เมื่อก่อนนี้กะปอมหาง่ายไม่เหมือนทุกวันนี้หายาก จึงต้องเดินทางไกลขึ้น โดยจับได้เฉลี่ยวันละ 15-20 ตัว โดยแบ่งทำอาหารส่วนหนึ่งที่เหลือก็จะขาย ราคาตัวละ 5-10 บาท ตัวเล็กหรือตัวโต ซึ่งเวลา 15.00 น. จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่นี่ โดยนำไปขายในตลาดตัวเมืองอำนาจเจริญ ขายแต่ละครั้งจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 70-100 บาท เงินที่ได้จะเก็บไว้เป็นทุนการศึกษา ซึ่งผลการเรียนที่ผ่านมาได้เกรดเฉลี่ย 3.6 อนาคตอยากเป็นทหารเพื่อรับใช้ชาติ
สำหรับเครื่องมือในการจับกะปอม (กิ้งก่า) ด.ช.ประยูร เด็กเรียนเก่งบอกว่า ก็มี 1.ไม้ไผ่ยาวประมาณ 2.50 เมตร ซึ่งที่ปลายจะผูกเอ็นทำเป็นบ่วงคล้องกิ้งก่า 2.หนังสติ๊กใช้ยิงเมื่อจับพลาดหรือป้องกันตัวจากสัตว์มีพิษ 3.ข้องสำหรับใส่กิ้งก่า เมื่อเตรียมเครื่องมือ
ครบแล้วก็จะปั่นจักรยานไปตามถนน ซึ่งสายตาก็ต้องสอดส่ายมองหาเป้าหมายตามต้นไม้กิ่งไม้ข้างทาง เมื่อพบเห็นกิ้งก่าจับอยู่รั้วหรือกิ่งไม้ก็จะจอดจักรยานแล้วผิวปากเป็นเสียงเพลงเรื่อยๆ แล้วค่อยๆย่องเข้าไปให้ใกล้กิ้งก่ามากที่สุด ซึ่งเสียงผิวปากจะทำให้กิ้งก่าเพลิดเพลินเคลิบเคลิ้มไม่วิ่งหนี กิ๊งก่าได้ยินเสียงเพลงจะผงกหัวตอบรับขึ้น-ลงเป็นจังหวะตลอดเวลา ก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่พ่อแม่บอกสอนต่อๆ กันมา จากนั้นก็ใช้บ่วงที่ปลายไม้ไผ่คล้องจับทันที ก็นำใส่ข้อง ส่วนมากจะไม่พลาด ซึ่งภายในกลุ่มมี 4 คน ก็จะแข่งกัน โดยในแต่ละวันใครจะจับได้มากกว่ากัน ก็สนุกดี แถมได้เงินอีกต่างหาก
ด.ช.ประยูร ไกยกิจ นักจับกะปอมมือหนึ่งของกลุ่ม บอกถึงการเล่นอินเตอร์เนตว่า มีฐานะยากจน พ่อ แม่ ทำนา ไม่มีเงินซื้อคอมพิวเตอร์ จึงไม่มีโอกาสเล่นอินเตอร์เนตทุกวัน เหมือนคนอื่น แต่ก็จะเล่นที่โรงเรียน โดยหาเวลาว่างช่วงหยุดพักเที่ยง ก็จะเข้าห้องสมุดไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมนอกเหนือตำราเรียนจากอินเตอร์เนต ก็มีความรู้ดี ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็จะตระเวนจับกะปอม มาทำเป็นอาหาร เพื่อปากท้อง ซึ่งวันไหนเบื่อก้อยปิ้ง กะปอม ก็จะหาจับกุดจี่ แมงกีนูน จักจั่น ไข่มดแดง แทน ซึ่งรสชาติก็ไม่แตกต่างกัน สรุปแล้วมีความอร่อยพอๆ กัน ก็เป็นเรื่องปกติที่ลูกชาวนาภาคอีสานทุกคนจะต้องดิ้นรนหากิน เพื่อความอยู่รอด ด.ช.ประยูร บอก
นายวิเชียร เกื้อทาน อายุ 52 ปี ผอ.โรงเรียนบ้านสร้างนกทาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ก็จะอยู่บ้าน ผู้ปกครองบางคนไม่อยากให้บุตรอยู่เฉยๆ เกรงว่า จะไม่ขยันเรียน ก็จะพาไปเรียนกวดวิชาในตัวเมืองอำนาจเจริญ แต่ก็มีเด็กนักเรียนอีกจำนวนไม่น้อย ที่จะต้องดิ้นรน ช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ด้วยการเดินทางไปรับจ้างทำงานในตัวเมืองอำนาจเจริญและก็มีเด็กหลายคนไม่ปล่อยเวลาให้ว่างเปล่า โดยการจับกิ้งก่าหรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า กะปอม มาทำเป็นอาหาร ที่เหลือก็จะขายโดยได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งชาวอีสานนำกะปอมมาปรุงเป็นอาหาร อาทิ ปิ้ง ก้อย โดยเฉพาะก้อยกะปอม ถือว่าเป็นเมนูจานเด็ดที่ชาวอีสานนิยมบริโภคมาก หลักจากฤดูหนาวผ่านไป ก็เข้าสู่ฤดูร้อน สภาพพื้นที่แห้งแล้งกะปอมมักจะออกมาจับที่กิ่งไม้ เพื่อผิงแดด และหาอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคอีสานแล้งมาก ดังนั้นในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือไม่ก็ปิดเทอม จะพบเห็นเด็กนักเรียนในหมู่บ้าน ขับขี่จักรยานไปเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-6 คน เพื่อหาจับกิ้งก่ามาขาย ให้กับพ่อค้าซึ่งเดินทางมารับซื้อถึงที่นี่ทุกวัน ซึ่งแต่ละคนมีรายได้นับร้อยบาท ก็เป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง ก็เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับนักเรียนคนอื่นๆ โดยเฉพาะช่วงวัดหยุดจะได้ไม่ไปมั่วสุมเสพยาเสพติด ก่อความวุ่นวายแก่ชุมชน แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ช่วงนี้อากาศร้อนเด็กมักจะหนีพ่อแม่ผู้ปกครองโดยอ้างว่าไปหาจับกะปอมขายแล้วก็ไปเล่นน้ำกับเพื่อนตามสระน้ำหรือลำห้วยสาธารณประโยชน์ใกล้บ้าน ซึ่งการลงเล่นน้ำนานๆ จะทำให้เกิดเป็นตะคิวได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตทุกปีและภาพรวมทั้งประเทศมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 500 รายสำหรับ พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันบุตร หลาน จมน้ำเสียชีวิต...
สนธยา ทิพย์อุตร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี