ประมง..เป็นภาคส่วนสำคัญที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ถึงขั้นติด 1 ใน10 อันดับประเทศที่มีผลผลิตการประมงสูงที่สุดในโลก สร้างรายได้ปีละกว่า 2.2 แสนล้านบาท และปัจจุบันเมื่อรัฐบาลส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมุ่งไปสู่เป้าหมาย “Thailand 4.0” จึงเป็นที่มาของการคิดค้น “กระชังปลาอัจฉริยะ (Smart Fish Cage)” โดยทีมงานนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รักษ์ธนา ฟักนาค นักศึกษาภาควิศวกรรมไฟฟ้า หัวหน้าทีมพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ เล่าว่า กระชังปลาหลายแห่งประสบปัญหา “ปลาน็อกน้ำ” จากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและสภาพอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว เช่น ค่าความเป็นกรด-ด่าง (Ph) ไม่ได้มาตรฐาน, ความขุ่นของน้ำ และปริมาณออกซิเจนในน้ำ เป็นต้น ถึงแม้ว่าหน่วยราชการจะเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันและควบคุมปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้ทันเวลา จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างเครื่องมือและระบบแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุ เพื่อช่วยเหลือชาวประมงให้เตรียมรับมือและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
จากนั้นลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชาวประมงที่เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชัง จ.สมุทรสงคราม เพื่อวิเคราะห์การเลือกใช้เซ็นเซอร์ให้เหมาะสม ใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000 บาท การออกแบบมุ่งให้ใช้งานง่ายมีหลักการทำงานไม่ซับซ้อน ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ตามร้านอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ทำให้มีราคาถูกและชาวประมงยังสามารถทำได้ด้วยตนเอง ค่าที่ได้จากการตรวจวัดนั้นเพียงพอต่อการตัดสินใจ ตอบโจทย์ผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ
(จากซ้ายไปขวา) ณัฐพงศ์ ศรีภิรมย์, รักษ์ธนา ฟักนาค, ปัญจวิชญ์ วัฒนภินันท์ชัย
ปัญจวิชญ์ วัฒนภินันท์ชัย 1 ในทีมงาน อธิบายว่า กระชังปลาอัจฉริยะ ได้รับการออกแบบและใช้วัสดุที่หาได้ง่ายและมีราคาไม่แพง ประกอบด้วย 1.ท่อพีวีซี ขนาด 2 นิ้ว ความยาว 1.5 เมตร จำนวน 2 ท่อน เพื่อใช้ติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ 2.เซ็นเซอร์และทรานส์ดิวเซอร์ เป็นเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ, เซ็นเซอร์วัดความเป็นกรด-ด่าง, เซ็นเซอร์วัดระดับความสูงของน้ำ, เซ็นเซอร์วัดความขุ่นของน้ำ และอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อ (Solid State Relay) ระหว่างภาคควบคุมซึ่งเป็นส่วนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กับวงจรภาคไฟฟ้ากำลัง
3.สายสัญญาณหุ้มฉนวน (Coaxial) ชนิด 5 คอ ที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้ดี 4.ไมโครคอนโทรลเลอร์ เป็นกล่องควบคุมใช้ในการประมวลผล และ 5.ซอฟต์แวร์ (ARDUINO, NETPIE และ LINE Notify) โดยแบ่งการแจ้งเตือนภัย
ออกเป็น 3 รูปแบบ คือ ระดับปกติ (Normal) ระดับเฝ้าระวัง (Warning) ระดับวิกฤติ (Emergency) ซึ่งหากค่าอยู่ในระดับเฝ้าระวัง หน่วยควบคุม หรือ MCU จะสั่งให้เพิ่มค่าออกซิเจนในน้ำโดยอัตโนมัติ
ด้าน ณัฐพงศ์ ศรีภิรมย์ สมาชิกอีกคนของทีม กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการใช้งานกระชังปลาอัจฉริยะ คือนำท่อพีวีซี
ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์เรียบร้อยแล้ววางลงน้ำในแนวดิ่งลึก 1 เมตร เซ็นเซอร์จะทำการตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ต่างๆ แล้วจึงส่งสัญญาณมาตามสาย Coaxial เข้ามายังกล่องควบคุม เพื่อทำการประมวลผล จากนั้นข้อมูลที่รวบรวมได้จะถูกบันทึกไว้บนคลาวด์ โดยใช้ระบบปฏิบัติการ NETPIE ก่อนจะแจ้งเตือนข้อความผ่านแอพพลิเคชั่น LINE Notify บนมือถือสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามผลได้ตลอดเวลา ซึ่งรองรับทั้งระบบ Android และ IOS
อุปกรณ์ส่วนประกอบกระชังปลาอัจฉริยะ
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถิติปี 2560 ไทยมีผลิตผลจากการประมงทั้งสิ้น 2.43 ล้านตัน นับว่ามากที่สุดในกลุ่มอาเซียน โดยมาจากทะเล 1.28 ล้านตัน ได้จากการจับสัตว์น้ำจืด 189,100 ตัน มาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง 552,070 ตัน และมาจากการเลี้ยงในน้ำจืด 414,050 ตัน แต่สำหรับชาวประมงน้ำจืดมักเผชิญอุปสรรคปัญหาจากภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสร้างความเสียหายและสูญเสียรายได้แก่ผู้เพาะเลี้ยงปลาอยู่เสมอ
การที่คนรุ่นใหม่พยายามคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้ชุมชนจึงถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างยิ่ง!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี