เมื่อวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปพบอาจารย์จำรัส บำรุงรัตน์ ณ สวนสายน้ำ ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางในการใช้ชีวิตและการบริหารจัดการความขัดแย้ง ซึ่งเกิดจากสมองใช้ในความขัดแย้งมากจนเกินไป อาจารย์จำรัส เคยสอนหนังสือมาได้สักระยะหนึ่ง ภายหลังได้เดินทางไปต่างประเทศหลายประเทศนานกว่า 20 ปี และได้นำแนวคิดเชิงปรัชญาของกฤษณมูรติ ชาวอินเดีย มาประยุกต์ใช้ในการค้นหาคำตอบการดำรงชีวิตอย่างสงบสุข โดยมาสร้างเป็นสถานที่ให้ผู้คนได้มาบ่มเพาะ ขัดเกลาจิตใจ ลดความเครียด ค้นหาความสงบสุขให้กับตนเอง ก่อนอื่นเรามารู้จักประวัติโดยย่อของกฤษณมูรติกันก่อนนะครับ
จิฑฑุ กฤษณมูรติ (พ.ศ. 2438-2529) เป็นปราชญ์และนักคิดอิสระ ผู้เป็นที่เคารพนับถือที่สุดคนหนึ่งของโลก ในฐานะครูทางจิตวิญญาณผู้ร่วมยุคสมัย เมื่อยังเป็นเด็กหนุ่มผู้นำสมาคมทางญาณวิทยา ได้ประกาศยกย่องเขาขึ้นเป็นศาสดาองค์ใหม่ของโลก แต่ในปี พ.ศ. 2472 เขาประกาศสลัดทิ้งบทบาทศาสดา รวมทั้งสานุศิษย์ ผู้ติดตามจำนวนมากหลายสมาคม อัครสาวกอันใหญ่โต ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อประกาศศาสนาใหม่ พร้อมทั้งยืนยันความตั้งใจไม่ต้องการเป็นศาสดา และก่อตั้งศาสนาใหม่ เพื่อแบ่งแยกและครอบงำมนุษย์
เขากล่าวว่า “สิ่งที่ผมสนใจเพียงประการเดียว คือ ปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระใหม่จากเงื่อนไขใด ๆ อย่างสิ้นเชิง” เป็นเวลานานกว่า 70 ปี ที่กฤษณมูรติ ได้เดินทางเพื่อพบปะสนทนากับผู้ที่สนใจจะค้นหาและเรียนรู้ร่วมกันด้วยหัวใจที่เปิดกว้างเป็นอิสระจากอดีต เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นอิทธิพล หล่อหลอมและกำหนดชีวิตเราอยู่ทั้งภายในจิตใจและภายนอก เพราะที่สุดแล้วเราคือโลก สังคมโลกก็คือ สภาพที่เราแต่ละคนร่วมกันสร้างขึ้น ฉะนั้น จากความเข้าใจในตนเองอย่างลึกซึ้ง อาจจะนำไปสู่สังคมที่มีความรัก ความเมตตา มีมนุษยธรรมและความรู้สึกรับผิดชอบ กฤษมูรติจากโลกไปเมื่อ พ.ศ. 2529 อายุได้ 91 ปี โดยทิ้งคำสอนที่เกิดจากการหยั่งเห็นอันยิ่งใหญ่ ซึ่งช่วยปลุกเราให้ตื่นจากความหลับใหลและกลับไปสู่แก่นแท้แห่งการดำรงชีวิตที่เปี่ยมด้วยสติปัญญาและความเบิกบาน
อาจารย์จำรัส ได้อธิบายให้ฟังว่า แนวทางในการบริหารความขัดแย้ง ซึ่งเกิดจากใช้สมองสร้างความขัดแย้งมากกว่าใช้สมองในทางวิชาการ สิ่งที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ฉงนสนเท่ห์ คือ ข้อสังเกตของ กกฤษณมูรติที่ว่า การเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งใดก็ตามไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้จากหนังสือหรือความเฉียบแหลมทางความคิด แต่สิ่งที่ต้องการคือ การสังเกต “ชีวิต” การเฝ้ามองดูด้วยความใส่ใจและไม่ปักใจเชื่อง่าย ๆ เป็นศิลปะในการปฏิบัติของมนุษย์ ยิ่งเราเข้าหาชีวิตตรง ๆ ง่าย ๆ เท่าใด ยิ่งดีเท่านั้น นี่เป็นข้อเรียกร้องที่แสดงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์กระแสหลักที่แฝงนัยอยู่ล้ำลึก
อีกประการหนึ่งที่เด่นชัดของกฤษณมูรติ คือการเชื้อเชิญให้ร่วมกันสืบค้นในลักษณะใหม่ ซึ่งเมื่อทำเป็นกลุ่ม เรียกว่า การเสวนา (dialogue) ด้วยลักษณะและหัวใจของการสืบค้นนี้ชี้ไปยังแก่นคำสอนของเขาที่ว่าคำตอบใหม่ไม่อาจอุบัติขึ้นได้ในจิตใจที่เต็มไปด้วยความทรงจำและความรู้ ความเชื่อ และอุดมคติ เนื่องจากมันเป็นอดีตที่ตายซาก ถูกนำมาใช้เพื่อเผชิญกับความเป็นอยู่จริง เช่น ความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ความรุนแรง ความไม่มั่นคงปลอดภัย ความกลัว และความทุกข์โศก ซึ่งอาจจะช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใดตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ความพยายามเพื่อค้นหาทางออกจากปัญหาของเราที่ยืดเยื้อยาวนานที่สุด เหล่านี้จึงล้มเหลวอย่างน่าสลดใจ การจมปลักอยู่ในสภาพเก่า ๆ ไม่สามารถเผชิญกับความท้าทายของชีวิตซึ่งใหม่อยู่เสมอ
ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นในการสืบค้นหาหรือการเสวนา คือ การมีส่วนร่วมที่ใหม่สดสิ้นเชิง ใหม่แท้ ดังคำกล่าวของกฤษณมูรติ ที่ว่า “ประดุจเป็นครั้งแรก” จากข้อสังเกต หากแนวทางดังกล่าวของกฤษณมูรติ เป็นบทบาททางการศึกษา เคยถามตัวเราเองบ้างหรือไม่ว่า การศึกษาหมายถึงอะไร ทำไมเราจึงต้องไปโรงเรียน เพื่อเรียนวิชาต่าง ๆ มากมาย ต้องแข่งขันกันเรียน แข่งขันกันสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้สอบผ่านและได้คะแนนดี ๆ กว่าเพื่อน ๆ ความหมายที่แท้จริงของการศึกษาคืออะไรกันแน่ เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง คำถามเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะกับนักเรียน,นักศึกษา เท่านั้น แต่รวมถึงพ่อแม่ ครู อาจารย์ และทุก ๆ คน เราต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้เป็นผู้มีการศึกษา เพียงเพื่อสอบผ่านและมีงานทำเมื่อจบการศึกษา
แต่ชีวิตมิได้จบแค่มีการงานทำ มีอาชีพเท่านั้น ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า แนวทางในการใช้ชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม โลก ที่นับวันยิ่งน่ากลัวจากหายนะทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว,น้ำท่วมไฟไหม้ป่า เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการขัดแย้งในสังคมโลก ที่มีการก่อการร้ายทวีความรุนแรงในประเทศต่าง ๆ ตลอดจนความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งในองค์กรหรือชุมชน
สิ่งเหล่านี้นั่นเองที่ทำให้เราใช้สมองในการจัดการความขัดแย้งมากจนเกินไป บางครั้งมากเสียจนไม่ได้นำสมองมาผ่อนคลายด้วยสมาธิ ปัญญา หรือการสังเกต ที่จะทำให้จิตใจของเราออกนอกกรงขังกับความเครียดทั้งมวลได้
การล้อมวงเสวนา เป็นการสะท้อนการแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วม อย่างยิ่งทุกวันนี้เหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปรกติสุข มีการขัดแย้งกันอยู่เป็นระยะ ๆ ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ผู้นำทางการเมืองต้องการแบบนี้ ข้าราชการประจำต้องการแบบหนึ่ง ประชาชนต้องการอีกแบบหนึ่ง ถ้านำประเด็นความขัดแย้งแล้วเอาคนที่เกี่ยวข้องมานั่งล้อมวงพูดจากัน ตามแนวทางเสวนา (dialogue) ผู้เขียนคิดว่าปัญหาที่มีไว้ให้แก้มันก็จะคลายปมปัญหาไปได้ ไม่มากก็น้อย
บทความนี้อ่านแล้ว จะเข้าใจยากสักหน่อยเพราะเป็นเรื่องแนวทาง ปรัชญาทางความคิด แต่หากทำความเข้าใจได้แล้วย่อมก่อให้เกิดทัศนคติที่ดีในการนำมาประยุกต์ ปฏิบัติในการดำรงชีวิตเพื่อทำให้โลกนี้อยู่อย่างสงบสันติมากขึ้น
อาจารย์นุกูล ชิ้นฟัก
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี