“ระทึก ประภัตร ระบุ น้ำ4เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เหลือใช้ได้อีก40กว่าวัน สั่งสถานีสูบน้ำกว่า400 สถานีตอนบนหยุดสูบน้ำ3วันต่อสัปดาห์ ปล่อยน้ำให้เจ้าพระยาตอนล่างมีน้ำเลี้ยงนาข้าว6ล้านไร่ได้เก็บเกี่ยว ลดระบายน้ำเขื่อนจาก45ล้านลบ.ม.ลง40ล้านลบ.ม.ด้าน ร.อ.ธรรมนัส ระดมเครื่องบินจากทุกเหล่าทัพ ร่วมทำฝนหลวงทั่วประเทศ”
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ได้มาประชุมเร่งด่วนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ตามที่นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทั้งนี้มีแกนนำชาวนา ชาวไร่ กว่า 500 คนจาก 22 จังหวัด ได้มาร่วมเสนอข้อร้องเรียนให้รัฐบาล ช่วยมาตรการเยียวยาต้นทุนทำเกษตรที่ผลผลิตจะเสียหาย จากฝนทิ้งช่วงกำลังประความเดือดร้อนอย่างหนัก นาข้าว ไร่อ้อย มันสำปะหลัง และพืชอื่นใกล้ยืนต้นตาย บางรายถึงกลับร้องไห้กลางห้องประชุม เพราะอยู่ปลายน้ำ ขอให้เพิ่มพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่ เช่น บึงบอระเพ็ด และขอกรมชลประทาน ช่วยสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่มาช่วย อาทิ
บ่อทราย ทำฝายในลำน้ำ และเร่งทำฝนหลวง โดยนายประภัตร ได้สั่งการกรมชลฯให้ไปช่วยทันที จดชื่อเบอร์โทรเกษตรกรเพื่อช่วยเหลือได้ทั่วถึง ส่วนการเพิ่มปฏิบัติการทำฝนหลวง ร.อ.ธรรมนัส จะประสานทุกเหล่าทัพ ร่วมบูรณาการนำเครื่องบินมาช่วยระดมทำฝนหลวง ให้มีประสิทธิภาพเกิดผลสำเร็จได้ปริมาณฝนตกมากยิ่งขึ้น เพื่อเร่งช่วยเหลือพื้นที่เกษตร โดยจะนำเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะรมว.กลาโหม ให้สั่งการนำเครื่องบินมาร่วมทำฝนหลวงทั่วประเทศ ภายในสัปดาห์หน้า
นายประภัตร กล่าว่าขณะนี้ถือว่าปัญหาน้ำเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ปริมาณน้ำใช้การ4เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสัก มีน้ำเหลือรวมกันเพียง1.5 พันล้านลบ.ม.ระบายวันละ45ล้านลบ.ม. ก็จะมีน้ำใช้อีก40กว่าวัน ดังนั้นจะลดการระบายน้ำลงเหลือ40ล้านลบ.ม.พร้อมกับต้องมีแผนจัดสรรน้ำอย่างเข้มข้นจะสามารถยืดเวลาการใช้น้ำออกไป จนกว่าฝนจะมาเดือนส.ค.นี้ซึ่งจากการคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยา ปีนี้ปริมาณฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ10%และที่น่าเป็น ห่วงมากที่ตอนนี้ยังไม่มีฝนลงมา ข้าวปลูกไปแล้วจะอันตรายเสียหาย ดังนั้นการจัดการน้ำครั้งนี้ ทุกภาคส่วนร่วมมือกันบริหารน้ำตามรอบเวร โดยให้กรมชลฯทำแผนใช้น้ำ หยุดเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า 400กว่าเครื่อง ในลุ่มน้ำตอนบนขอหยุดไว้ก่อน เช่นหยุดสูบ3วันเพื่อให้น้ำไปถึงลุ่มเจ้าพระยา พร้อมกับชี้แจงชาวนา ถ้าไม่มีน้ำฝนมาเติม ห้ามทำนาปรังรอบสอง
“จะวางแผนจัดสรรน้ำกับทุกหน่วยงาน แบ่งการส่งน้ำเข้าแม่น้ำน้อย ท่าจีน มโนรมย์ มหาราช สลับกันใช้ต้องประหยัดมีวินัย อาจขอกำลังทหาร มาร่วมด้วยตอนนี้เริ่มเกิดปัญหาแย่งน้ำในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ต้องหยุดสูบน้ำ แถวจ.กำแพงเพชร นครสวรรค์ ให้น้ำไปถึง
ลุ่มเจ้าพระยา เราเคยทำมาแล้วสำเร็จไม่นำเป็นต้องใช้แผนงดส่งน้ำให้พื้นที่เกษตร เหมือนปี58 ซึ่งยืนยันกับเกษตรกร จะหาน้ำให้จนกว่าข้าวนาปี6ล้านไร่ เก็บเกี่ยวเสร็จและห้ามทำนารอบสอง เชื่อว่าชาวนารู้สถานการณ์ว่าไม่มีน้ำก็จะไม่ทำนาต่อเนื่อง”นายประภัตร กล่าว
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่าปัญหาฝนทิ้งช่วง ภัยแล้งเกิดขึ้นทั่วประเทศเป็นเรื่องที่กำลังเผญิชวิกฤติระดับชาติ ดังนั้นให้ทุกฝ่ายเอาจริงเอาจัง บูรณาการช่วยเหลือประชาชนเหมือนน้ำท่วมปี54 ต้องหาทางเติมฝนลงมาจะขอเครื่องบินมาทุกเหล่าทัพ อาศัยน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนแก้ไม่ได้
“นายกฯให้นโยบายเร่งด่วน ว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญคือปัญหาภัยแล้ง ปัญหาเกษตรกร โดยให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ต้องแก้ไขทันที ผมนำปัญหาที่รับฟังวันนี้ที่เกษตรกรกำลังเผญิช เข้าสู่ครม.ให้นายกฯรับทราบ มีมาตราการแก้ภัยแล้ง มุ่งหวังกรมชลฯกรมเดียวไม่ได้ จะต้องบูรณาการ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ควรมาประชุมด้วยตนเอง ไม่ใช่ส่งแต่ตัวแทน เพราะไม่เห็นปัญหาเกษตรกร แต่พอปลัดมหาดไทย ลงมาผู้ว่าฯมารับกันเต็ม
ซี่งผมจะนำเรื่องนี้เรียนต่อนายกฯที่ต้องแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ฟังทุกครั้งก็เป็นหนังวนซ้ำๆ ถึงเวลาแล้วต้องมาร่วมแก้วิกฤติภัยของชาติ และจำเป็นต้องเพิ่มความถี่ทำฝนหลวง ที่จะตอบโจทย์ เพราะน้ำในเขื่อนน้อยวิกฤต รวมทั้งจะเพิ่มพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำ เช่น บึงบอระเพ็ด กว้านพะเยา มีปัญหาน้ำแห้งลงตลอด ซึ่งติดปัญหาเป็นที่ราชพัสดุ ที่ผ่านมามีปัญหารื้อรังต้องแก้กฏหมาย จะเร่งขุดลอก ผมเห็นตรงกับท่านประภัตร หาที่เก็บปริมาณน้ำให้ได้มากๆช่วงต้นน้ำ สามารถส่งมาช่วยพื้นที่ปลายน้ำได้ “ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
ด้านผู้บริหารเขื่อนภูมิพล กล่าวว่า เขื่อนมีน้ำ 4.6 พันล้านลบ.ม.หักน้ำนอนเขื่อนที่ระบายไม่ได้ 3.8พันล้านลบ.ม. เหลือเป็นน้ำใช้การได้ 891ล้านลบ.ม.คิดเป็น9.23% ซึ่งการบริหารจัดการน้ำทำในรูปแบบคณะกรรมการร่วม โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)เป็นแกนหลักในการตัดสินใจ โดยเขื่อนภูมิพล ปีนี้น้ำน้อยกว่าปกติถึง 2 พันล้านลบ.ม.ระบายวันละ13ล้านลบ.ม.ระบายออกมากกว่าไหลเข้าเฉลี่ย20ล้านลบ.ม.ต่อวัน ในปี56-59 มีน้ำใช้การวิกฤติสุด ได้งดส่งน้ำทำนาปรังลุ่มเจ้าพระยา22จังหวัด ปีนี้สถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล อาจมีน้ำน้อยสุดตั้งแต่สร้างเขื่อนมา เช่นเดียวกับ4ปี56-59 แต่ น่ากังวลมากกว่าเพราะมีการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา5พันล้านลบ.ม.สถานการณ์น่าเป็นห่วงทั้งเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ที่อาจแล้งรุนแรงเหมือนปี58ที่เขื่อนภูมิพล มีน้ำเหลือใช้การ200ล้านลบ.ม. น้อยที่สุดตั้งแต่สร้างเขื่อนมา
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจริยะ กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มเจ้าพระยา ใน 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,293 ล้านลูกบาศก์เมตร( ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 33 (ปริมาณน้ำใช้การได้ 1,597 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 9) ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 2.71 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจำนวน 44.91 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 16,578 ล้าน ลบ.ม.
แยกได้ดังนี้คือ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 4,710 ล้าน ลบ.ม. (35% ของความจุอ่างฯ) เป็นน้ำใช้การได้ 891 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 0.00 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 23.00 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 8,752 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 3,388 ล้านลบ.ม. (36% ของความจุอ่างฯ) เป็นน้ำใช้การได้ 538 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 2.71 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 19.05 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 6,122 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำ 147 ล้าน ลบ.ม. (16% ของความจุอ่างฯ) เป็นน้ำใช้การ ได้ 104 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 0.00 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 2.16 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 792 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 48 ล้าน ลบ.ม. (5% ของความจุอ่างฯ) เป็นน้ำใช้การได้ 45 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 0.00 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 0.70 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 912 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง (447 แห่งทั่วประเทศ)ล่าสุดปริมาตรน้ำในอ่างฯ รวม 36,429 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 12,300ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2561 (46,970 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62) น้อยกว่าปี 2561 จํานวน 10,541 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 53.03 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 124.01 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 39,639 ล้าน ลบ.ม.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี