‘ไบโอเมทริกซ์’เจ๋ง! 3 วันสกัดขบวนการ‘พาสปอร์ตปลอม’ 8 ราย
14 กันยายน 2562 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ผบช.สตม.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย รอง ผบช.สตม. และ พล.ต.ต.พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2(ผบก.ตม.2) แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาใช้พาสปอร์ตปลอม
สืบเนื่องจาก ผบช.สตม. สั่งการให้ระดมกวาดล้างอาชญากรรม และกวดขันจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย หรือที่มีพฤติกรรมจะเข้ามากระทำความผิดทางอาญาหรือก่อความเดือดร้อนวุ่นวายให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2562 พ.ต.อ.เกติ์ฉกาจ นิลประดับ รอง ผบก.ตม.2 ได้รับรายงานจาก พ.ต.อ.เพลิน กลิ่นพยอม ผกก.กก.สส.ปป.บก.ตม.2 ว่า 3 วันที่ผ่านมา กองกำกับการสืบสวนปราบปราม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (กก.สส.ปป.บก.ตม.2) มีผลการจับกุมคดีสำคัญๆ จำนวน 8 ราย ดังนี้
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 เวลาประมาณ 08.20 น. จับกุมครอบครัวชาวอิหร่าน 3 ราย (พ่อและลูก) ใช้หนังสือเดินทางประเทศกรีซปลอม เพื่อใช้ในการเดินทางไปขอลี้ภัยที่ประเทศอังกฤษ โดยพ่ออ้างว่าติดต่อนายหน้าชาวอิหร่านเพื่อจัดหาเอกสารเดินทาง ค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 ยูโร หรือประมาณ 1,700,000 บาท โดยชำระล่วงหน้า 20,000 ยูโร ที่ประเทศอิหร่าน และเดินทางมารับหนังสือเดินทางที่ประเทศตุรกี ได้ชำระส่วนที่เหลืออีก 30,000 ยูโร ก่อนจะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อใช้หนังสือเดินทางปลอมเล่มดังกล่าวในการเดินทาง
จากนั้นเวลาประมาณ 12.20 น.ของวันเดียวกัน สามารถจับกุมหนุ่มอิหร่านได้อีก 1 ราย โดยใช้หนังสือเดินทางประเทศกรีซปลอม เพื่อใช้ในการเดินทางไปขอลี้ภัยที่ประเทศอังกฤษเช่นกัน โดยรายนี้ติดต่อนายหน้ารับหนังสือเดินทางที่ประเทศตุรกี และเสียค่าใช้จ่าย จำนวน 4,000 ยูโร หรือประมาณ 136,000 บาท โดยหนังสือเดินทาง จำนวน 2 ใน 4 เล่ม ระบบ Biometrics แจ้งเตือนว่าเป็นหนังสือเดินทางที่ถูกขโมย จากฐานข้อมูลของ Interpol กก.สส.ปป.บก.ตม.2 จับกุมชาวอิหร่านทั้ง 4 ราย ในข้อหา “ใช้หรือมีไว้ใช้ซึ่งหนังสือเดินทางปลอมฯ (หนังสือเดินทางประเทศกรีซปลอม)” นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิดำเนินคดี
ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2562 เวลาประมาณ 08.30 น. จับกุมชายชาวซีเรีย และหญิงปาเลสไตน์ จำนวน 3 ราย บินมาจากกรุงอาบูดาบี ใช้หนังสือเดินทางประเทศสวีเดนหน้าเหมือนในการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อแฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยว ก่อนที่จะใช้หนังสือเดินทางหน้าเหมือนเดินทางไปขอลี้ภัยยังประเทศที่สามโดยทั้ง 3 รายติดต่อนายหน้าที่ประเทศอิหร่าน มีค่าใช้จ่ายคนละ 12,500 ยูโร หรือประมาณคนละ 375,000 บาท ซึ่งชำระล่วงหน้าคนละ 25,000 ยูโร เมื่อครั้งติดต่อรับเล่ม และจะชำระส่วนที่เหลือเมื่อสามารถเดินทางไปยังไประเทศที่สามสำเร็จ
โดยระบบ Biometrics อ่านค่าความเหมือนเปรียบเทียบภาพถ่ายจากชิพที่ฝังอยู่ในหนังสือเดินทาง E Passport กับภาพผู้โดยสาร พบว่ามีเปอร์เซ็นต์ความเหมือนกันต่ำ ผู้โดยสารมีใบหน้า หู ตา จมูก และปาก แตกต่างจากภาพที่จัดเก็บในชิพ กก.สส.ปป.บก.ตม.2 จับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ในข้อหา “ใช้หนังสือเดินทางของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน” นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิดำเนินคดี
ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2562 เวลาประมาณ 09.30 น. จับกุมชายผิวดำสัญชาติไนจีเรีย ใช้หนังสือเดินทางแอฟริกาใต้ปลอม เดินทางมาจากประเทศตุรกี เปลี่ยนเครื่องที่ประเทศกาตาร์ ก่อนที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อแฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยว ก่อนที่จะใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อลักลอบไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ รับหนังสือเดินทางจากนายหน้าชาวแอฟริกาใต้ เสียค่าดำเนินการประมาณ 600 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 18,000 บาท
โดยระบบ Biometrics แจ้งเตือนความผิดปกติของหนังสือเดินทาง ว่าหนังสือเดินทางเล่มนั้นอาจเป็นหนังสือเดินทางปลอม กก.สส.ปป.บก.ตม.2 จับกุมชายคนดังกล่าวในข้อหา “ใช้หรือมีไว้ใช้ซึ่งหนังสือเดินทางปลอมฯ (หนังสือเดินทางประเทศกรีซปลอม)” นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิดำเนินคดี
สำหรับปฏิบัติการดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. ซึ่งได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.พฤทธิพงษ์ สั่งการให้ทุกด่าน เพิ่มความเข้ม พร้อมให้ดำเนินการประสานข้อมูลด้านการข่าวกับหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร รวมถึงการแสวงหาและประสานงานกับหน่วยงานข้างเคียงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บก.ตม.2 ได้ดำเนินการจัดการประชุมประชาคมข่าวเพื่อติดตามข้อมูลด้านการข่าวเพื่อนำมาสังเคราะห์และกำหนดแผนในการเฝ้าระวังกลุ่มขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากประชาชนพบคนต่างด้าวมีท่าทีพิรุธอาจจะเข้ามากระทำผิดกฎหมาย สามารถ แจ้งหรือสอบถาม ผ่านสายด่วน 1178 หรือ กก.สส.ปป.บก.ตม.2 หมายเลขโทรศัพท์ 02-134-0303 ตลอด 24 ชั่วโมง
พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานด้วยระบบไบโอเมทริกซ์ จำนวน 16 ท่าอากาศยานนานาชาติ สามารถตรวจอนุญาตบุคคลเข้า 10,457,869 คน ตรวจอนุญาตบุคคลออก 7,097,250 คน รวม 17,555,119 คน และนอกจากนี้ ตรวจพบแบล็คลิสต์กับวอตช์ลิสต์ 1,123 คน จับบุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด 45,669 คน สามารถนำรายได้ค่าปรับเข้าแผ่นดิน 81,301,175 บาท จับกุมตามหมายจับ 662 คน ส่งผลให้เห็นภาพได้ว่าประเทศไทยมีความเป็นมาตรฐานระดับสากลในการตรวจสอบ
# ขอบคุณภาพ-ข้อมูล พ.ต.อ.ภัคพงศ์ สายอุบล รองผบก.อก.สตม. ปฏิบัติราชการ รองผบก.ตม.1
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี