กยท.แจงแผนจัดการยางพาราทั้งระบบ ลุยงานทุกมิติต่อเนื่องหวังสร้างเสถียรภาพให้ยางพารายั่งยืน กระตุ้นเกษตรกรทำสวนยางแบบผสมผสาน ลดความเสี่ยง เพิ่มรายได้ พร้อมใช้มาตรการลดหย่อนภาษี เพิ่มวงเงินสินเชื่อ กระตุ้นใช้ยางเพิ่มขึ้น
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ปี 2563 กยท.ยังดำเนินมาตรการบริหารจัดการตลาดยางพารา เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ยางพาราอย่างต่อเนื่องทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ที่ผ่านมาได้นำน้ำยางพาราสดไปใช้ทำทุ่นดักผักตบชวา ทำหุ่นช่วยชีวิตจำลอง ทำถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ ซึ่งขณะนี้กำหนดแบบและราคากลางที่แน่นอนแล้ว รวมทั้งยังร่วมกับกรมสรรพากร กำหนดแนวทางลดภาษีให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แปรรูปยางสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อยางมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง จากการซื้อยางพารามาเป็นปัจจัยในการผลิต เป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางมากขึ้น นำไปสู่การดูดซับยางออกจากระบบ เกิดการขยายกำลังการผลิต แปรรูปยาง ผลักดันราคายางให้สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ให้ผันผวน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางและรัฐบาล ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายสต๊อกยางได้มากขึ้น คาดว่าเมื่อสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2562 จะเพิ่มปริมาณการใช้ยางได้ประมาณ 50,000 ตัน
นอกจากนี้ การดำเนินการลดพื้นที่ปลูกยางพารา 400,000 ไร่ ต่อปีก็ยังทำต่อเนื่องโดยสนับสนุนเกษตรกรให้เกษตรแบบผสมผสานแทน ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สร้างความมั่นคงให้เกษตรกรระยะยาว ตั้งเป้าว่าภายในปี 2567 จะลดพื้นที่ปลูกยางได้ถาวร ประมาณ 1 ล้านไร่
รองผู้ว่าการ กยท.กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการด้านตลาดเป็นอีกเรื่องที่ กยท.ให้ความสำคัญ โดยดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 15,000 ล้านบาท เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมีโอกาสลงทุนในสต๊อกยางมากขึ้น จะช่วยสนับสนุนการนำยางออกนอกระบบเข้าสู่มือผู้ประกอบการได้ประมาณ 350,000 ตันซึ่งโครงการนี้จะทำงานประสานกับการลดหย่อนภาษีดังที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งยังดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิต ผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตช่วยประกันรายได้ให้ผู้ประกอบการผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำที่มีมูลค่าสูงและ ใช้เทคโนโลยีลงทุนมูลค่าสูง เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางยืด ยางล้อ ยางเพื่องานวิศวกรรม ยางที่ใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งกยท. เพิ่มวงเงินสินเชื่อจากเดิม 15,000 ล้าน เป็น 25,000 ล้านบาท เพื่อช่วยขยายกำลังการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตให้เพิ่มความทันสมัย เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้ผู้ประกอบการ ทำให้การใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น
“กยท.ยังได้ขยายโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมยางจากปีนี้ไปถึงปี 2567 วงเงิน 10,000 ล้านบาทต่อปี จะช่วยให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางรวบรวมยางจากเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่าปีละ 700,000 ตัน” รองผู้ว่าการ กยท.กล่าว
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวข้างต้น กยท.จะนำเรื่องเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป คาดว่าไม่เกินปลายปีนี้จะทราบผลและดำเนินการได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี