เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2562 ในช่วงบ่าย ที่ศาลาศิริราช 100 ปี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ปาฐกถาเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหัวข้อ "ตามรอยพ่อ" โดยมีคณะผู้บริหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วยประชาชนทั่วไปร่วมรับฟัง
ดร.สุเมธ กล่าวความตอนหนึ่งว่า เชื่อว่าใครก็ตามคงยากที่จะลืมความรู้สึกนั้นได้ คือความรู้สึกที่ไม่นึกคิด ไม่คาดฝัน ภายหลังพระองค์เสด็จสวรรคต ผมตั้งสติอยู่หลายวัน พอตั้งสติได้ ก็มานึกถึงคำสั่งเสียของพระองค์ที่พระราชทานให้ผมในครั้งสุดท้ายที่ผมได้เข้าเฝ้าฯ ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นคำ 3 คำที่เหมือนกันว่า "สุเมธงานยังไม่เสร็จนะ งานยังไม่เสร็จ งานยังไม่เสร็จสุเมธ" ทรงไม่หวงพระวรกายจนวาระสุดท้าย
ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูบทเรียนที่พระองค์ได้พระราชทานไว้มีเยอะเหลือเกิน แต่ไม่มีใครจดบันทึกอย่างสนใจ เพราะส่วนใหญ่จะบันทึกถึงเนื้องาน ไม่ค่อยจดบันทึกรับสั่งซึ่งนั่นคือคำสอนทั้งสิ้น ผมภายหลังถวายงานได้ 7 - 8 ปี รับรู้ว่าคนรุ่นใหม่นับวันจะมาเรื่อยๆ คนรุ่นเก่าค่อยๆ จากไป จึงพยายามบันทึกคำสอนของพระองค์ ซึ่งเดิมทีเคยรวบรวมไว้ 14 ข้อ ภายหลังมี นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี มาเพิ่มให้ในการบรรยายอีก 4 - 5 ข้อ และสุดท้ายที่ผ่านวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ซึ่งถือว่าได้จบบทเรียนแล้ว ผมจึงทบทวนความจำสรุปลงเอยได้ 27 ข้อ แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หลักธรรม หลักคิด และหลักปฏิบัติ เพื่อจะเดินตามรอยในหลวง รัชกาลที่ 9 ดังนี้ หลักธรรม คือต้องเป็นคนดี เพราะให้เก่งยังไงหากไม่มีความดีแล้ว จะทำลายชาติบ้านเมือง ยิ่งเก่งจึงยิ่งทำลาย ฉะนั้นหลักธรรมเสมือนฐานราก พระองค์จึงเริ่มสอนที่ความดีก่อน
1.ซื่อสัตย์ สุจริต และจริงใจต่อกัน ผมถวายงานมา 35 ปี ไม่เคยมีวันใดที่พระองค์จะรับสั่งด้วยอารมณ์ และพระหัตถ์สั่น สาปแช่งถึง 3 ครั้งว่า "ใครทุจริตคอรัปชั่นขอให้มีอันเป็นไป" เพราะตราบใดการคอรัปชั่นยังไม่หมดไป บ้านเมืองก็เจริญได้ยาก
2.อ่อนน้อมถ่อมตน พระองค์สอนถึงกริยามารยาท แม้พระองค์จะอยู่สูงสุดแต่เวลาเสด็จฯเยี่ยมราษฎรก็จะลงมานั่งพับเพียบกับดินกับทราย ผมเคยตามเสด็จใส่กางเกงตัวใหม่ไป ดูโก้ว่าจะได้ออกทีวี แต่พอไปนั่งอย่างนั้นกางเกงทะลุเลย หลังจากนั้นจึงต้องใส่กางเกงตัวเก่าไปตลอด
3.ความเพียร พระองค์ทรงทำให้ดูหมดเลย ไม่ใช่ทำเพราะกล้องทีวีจับ แต่ทำมา 70 ปี ที่ไปตากตำอยู่ต่างจังหวัด 8 เดือนต่อปี ตั้งแต่เชียงใหม่ สกลนคร หัวหิน นราธิวาส จนทำให้กระดูกสันหลังของพระองค์ทรุดต้องเข้าโรงพยาบาล จริงๆ ผมก็ทรุด แต่โชคดีว่าไม่ต้องผ่าตัด
"35 ปีที่ตามเสด็จฯ พระองค์ไม่ทรงปริพระโอษฐ์แม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าสภาพอากาศร้อน ฝน เส้นทางจะทุรกันดารอย่างไร ทรงมีความเพียรอย่างมาก ทำให้ผู้ติดตามมีความเพียรและไม่ปริปากบ่นไปด้วย ทรงมีศิลปะการสอนสูงเลย"
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า 4.รู้รักสามัคคี ทำอะไรจะต้องรู้รักสามัคคี อย่าเก่งคนเดียว เหมือนโรงพยาบาบศิริราชที่ก่อสร้างอาคารใหญ่โตได้ ก็มาจากความร่วมมือร่วมใจที่จะสร้างประโยชน์ถาวรยั่งยืนให้ประเทศ
5.ทำเรื่อยๆ ทำแบบบสังฆทาน คือไม่ต้องมีใครมาบอกมากล่าว แต่ว่าทำเรื่อยๆ ทำทุกสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งพระองค์ทำให้ไม่เลือกหน้า ไม่ว่าคนต่างด้าว หรือใครก็ทำให้หมด ทรงเป็นยิ่งกว่าพระ ที่ให้ด้วยความเต็มพระทัยทุกครั้ง
6.มีความสุขในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ย้อนไปตอนก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เมื่อปี 2524 ผมมีโอกาสได้ถวายงานพระองค์ครั้งแรก ทรงมีรับสั่งว่า "ขอบใจนะที่จะช่วยฉันทำงาน มาช่วยฉันทำงานไม่มีอะไรจะให้ นอกจากความสุขร่วมกันที่จะทำให้กับผู้อื่น" ตอนนั้นผมฟังแล้วก็ตกใจ เพราะเข้าใจว่าความสุขคือของเราเอง ที่ได้จากการซื้อของแบรนด์เนม กระทั่งมาเข้าใจภายหลังว่า ทุกสิ่งที่ทรงทำให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นการทำบนความเหนื่อยขอพระองค์แต่เป็นความสุขของพระองค์
รวมถึงหลักคิด พระองค์ทรงสอนว่าอย่าวู่วามในการลงมือทำ เพราะอาจสร้างความเสียหายได้ จึงนำมาสู่ข้อที่ 7.ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำงานอย่างผู้รู้จริง ซึ่งพระองค์ก่อนทรงงานอะไร ทรงตรองแล้วตรองอีก ดูตั้งแต่สภาพกายภาพธรรมชาติ มนุษย์ เรียกว่าทรงเตรียมข้อมูลเพียบ เมื่อถึงเวลาเสด็จฯ ยังทรงสอบถามข้อมูลกับชาวบ้านว่าข้อมูลของพระองค์จริงไหม ให้ลองวาดแผนที่ให้ดู
8.ระเบิดจากข้างใน ที่จะต้องพัฒนากับคนที่พร้อมจะพัฒนา ยกตัวอย่างการตัดถนนเส้นใหม่ให้ชาวบ้าน กลายเป็นว่าชาวบ้านเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก เห็นบ้านโน่นมีโทรทัศน์ก็ไปซื้อบ้าง สุดท้ายเป็นหนี้สิน ไม่มีใครมีรถยนต์ที่จะใช้ประโยชน์จากถนนที่แท้จริง
9.ทำตามลำดับขั้น ทรงสอนง่ายๆว่าเวลาขึ้นบันได ต้องขึ้นทีละขั้น แม้จะก้าวขึ้นทีละ 2 - 3 ขั้นก็ได้ แต่จะเสี่ยงล้มหรือไม่
10.ภูมิสังคม คือทำอะไรต้องเคารพภูมิประเทศและเคารพคน เพราะสภาพพื้นที่และสภาพคนแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน จะใช้มาตรการเดียวแก้ปัญหาเหมือนกันไม่ได้ ฉะนั้นแต่ละโครงการพระราชดำรินั้น ทรงวางให้สอดคล้องกับภูมิสังคมและคน ซึ่งจะต้องศึกษาหมด
11.องค์รวม เวลาดูเพื่อจะพัฒนาอะไร ทรงพิจารณาครบทุกมิติ เช่น โครงการชลประทาน จะทรงพิจารณาว่าใช้น้ำระดับนี้จะเหมาะกับพืชอย่างไร เป็นต้น
12.ประหยัด เรียบง่าย และได้ประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่างวัดพระรามเก้า ที่เป็นวัดแห่งเดียวที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสร้าง เดิมมีงบก่อสร้าง 130 บาท แต่สุดท้ายทรงตัดเลข 0 ออก เหลือ 13 ล้านบาท โดยทรงมีพระราชประสงค์อยากให้เป็นวัดเล็กๆ ที่เรียบง่าย เน้นเผยแพร่ศาสนาหลักคำสอน
13.ขาดทุนคือกำไร บางครั้งการทำงานก็อย่าไปคิดถึงผลกำไร อย่างทรงช่วยเหลือราษฎรยากจนซึ่งในทางเศรษฐกิจมองว่าไม่คุ้มค่า ทรงมีรับสั่งว่าอย่าไปคิดเรื่องขาดทุนกำไร ทรงช่วยเหลือโดยใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างไรให้ขาดทุนน้อยที่สุด
14.ปลูกป่าในใจคน วันนี้มีคนเผาป่ามากมาย เพราะเราให้รัฐดูแลป่า พอพ้นเวลาราชการก็ไม่มีใครดูแล แต่ไม่ได้ให้คนดูแลป่า ฉะนั้นต้องปลูกฝังในหัวใจคน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าป่าเป็นของเขา อยากลุกขึ้นเฝ้าป่า 24 ชั่วโมง เมื่อนั้นป่าถึงจะอยู่รอด
15.ธรรมชาติ ช่วยธรรมชาติ พระองค์ทรงบรรลุถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติ อย่างปัญหาดินถล่มจนนำมาซึ่งโครงการหญ้าแฝกที่ลักษณะทางธรรมชาติจะปล่อยรากลงทางลึก เรื่องนี้มีมา 1,000 ปีไม่มีใครเจอประโยชน์ แต่พระองค์เจอประโยชน์ ก็มอบให้ผมไปบอกชาวบ้านปลูกหญ้าแฝก ตอนแรกชาวบ้านก็ไม่เชื่อ ก็ทรงให้ทำเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็นก่อน เมื่อชาวบ้านเห็นและเข้าใจ เขาถึงอยากพัฒนา
16.ธรรมปราบอธรรม ที่บึงมักกะสัน หลังซอยศูนย์วิจัย ในอดีตเคยมีผักตบชวาหนาแน่นจนเดินผ่านได้ พระองค์ก็ทรงใช้ไม่ไผ่มาวางกันแบ่งผักตบชวาเป็นล็อคๆ ให้แสงลงไปบ้าง ปรากฏว่าเป็นกระบวนการฟอกโดยธรรมชาติ ที่ผลสุดท้ายได้น้ำสะอาด โดยไม่ต้องเสียค่าไฟอะไรเลย
17.ประโยชน์ส่วนรวม ต้องเอาประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นที่ตั้ง ยุคสมัยนี้ที่ประชากรเพิ่ม หากใครมีใครใช้โดยไม่คำนึงถึงทรัพยากรส่วนรวม ก็คงเหลือไม่ถึงรุ่นลูกหลาน
18.การพึ่งตัวเอง ทรงปรับสภาพพระองค์เองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ทรงไม่เรียกร้องอะไร
19.เศรษฐกิจพอเพียง เดินทางสายกลาง พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ข้อนี้เชื่อว่าคนไทยคงเคยได้ยินและรู้ดีอยู่แล้ว
และหลักปฏิบัติ ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่จะสำเร็จได้ต้องมีหลักธรรม และหลักคิดที่ดีก่อน โดยข้อที่ 20.เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ที่เราต้องเข้าใจเขาและเขาเข้าใจเราก่อน นี่คือสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงดำเนินในการพัฒนา ส่วนการลงไปเยียมชาวบ้านและมีการสื่อสารสองทาง ทำให้ได้เข้าถึงอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาได้
21.แก้ปัญหาที่จุดเล็ก เพราะการแก้ปัญหาในจุดเล็กสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาจุดใหญ่ได้
22.ไม่ติดตำรา ทำให้ง่าย ในการทำงานจะมายึดติดและอ้างตำราอย่างเดียวไม่ได้
23.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตลอดเวลา ซึ่งพระองค์ไม่ว่าทรงทำอะไร จะทรงทำประชาพิจารณ์สอบถามชาวบ้านตลอดว่าคิดทำโครงการมาแล้วเอาไหม หากไม่เอาก็ต้องปรับจนเห็นพ้องต้องกันจึงได้ทำ โครงการพระราชดำริจึงเกิดจากความเต็มใจจริงๆถึงจะทำ จะไม่มีการเวนคืนที่ดิน
24.พออยู่พอกิน ทรงสอนไว้เหมือนตาเห็น จากประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้มนุษย์ก่อสงครามแย่งทรัพยากรกันแล้ว ต่อไปจะแย่งน้ำกัน วันนี้คนมากกว่าของแล้ว ถึงได้ก่อสงครามกันทั่วโลก ไทยเรายังดีเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ยังอุดมสมบูรณ์ แม้จะมีการตัดไม้ทำลายป่ากันทุกวัน
25.บริการรวมที่จุดเดียว เวลาทรงงานช่วยเหลือราษฎร ทรงคิดว่าทำอย่างไรจะให้บริการประชาชนเบ็ดเสร็จในที่เดียวเลย
26.ร่าเริง รื่นเริง คึกคัก และคึกครื้น จะช่วยทำให้งานสำเร็จ ร่าเริงคือร่าเริงกับตัวเอง รื่นเริงคือรื่นเริงในกลุ่ม ยิ้มหัวเราะให้เพื่อนร่วมงาน ทำงานต้องให้ความรื่นเริง ยิ่งหากมีความคักคึกและคึกครื้นก็จะทำให้มีพลังทำงานอย่างเกิดผลด้วย ฉะนั้นจะทรงบอกว่า “ทำงานต้องสนุกนะ ไม่สนุกเดี๋ยวจะเบื่อ งานจะไม่สำเร็จเอา” จึงทรงมีพระอารมร์ขันทุก 1-2 นาทีมาตลอดให้พวกเราได้อารมณ์ขัน
และ 27.ชัยชนะของการพัฒนา ทรงมีพระราชดำริให้ผมไปจดทะเบียนตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา ตอนแรกเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียน ก็สอบถามตำแหน่งนายกมูลนิธิว่าคือใคร อยู่ที่ไหน เบอร์โทรศัพท์อะไร ผมก็ตอบไม่ได้ กระทั่งเจ้าหน้าที่มาเห็นชื่อพระองค์จนแทบทรุดจากโต๊ะและจดผ่านไป ผมก็นำความไปกราบบังคมทูลว่าเกือบจดทะเบียนไม่ได้ เพราะไม่รู้ที่ตั้งและอาชีพของพระองค์ ทรงรับสั่งว่า ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าสวนจิตรลดาเลขที่เท่าไหร่ แต่ในส่วนอาชีพนั้นให้ระบุว่าอาชีพทำราชการ อย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับความยากจน สิ่งแวดล้อม ก็เหมือนการทำสงครามอย่างหนึ่ง แต่เป็นสงครามที่เอาการพัฒนาเข้าไป จึงมีมูลนิธิชัยพัฒนา
"พระองค์เคยรับสั่งว่าการเป็นพระมหากษัตริย์นั้นเป็น 24 ชั่วโมง คือเป็นตำแหน่งที่บริการประชาชน 24 ชั่วโมง ฉะนั้นใครที่บอกว่าพระมหากษัตริย์อยู่บนยอดพีระมิด อยู่ที่สูงใช่ไหม พระองค์บอกว่าใช่ แต่เมืองไทยนั้น็นพีระมิดหัวกลับ พระองค์อยู่ใต้ก้นกรวยใครมีอะไรก็เทใส่ฉัน เทใส่ฉัน นี่คือสิ่งที่พระองค์รับสั่งไว้ ทรงรับสั่งถึงความน้อยใจ ครมีอะไรก็เทใส่ฉัน เทใส่ฉัน ทะเลาะเบาะแว้งมาลงเอยถวายฎีกาให้ฉันเดือดร้อนไปด้วย ฉะนั้นหยุดเถอะครับ แล้วหันกลับมาเอาคำสอนทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มาปฏิบัติ เพื่อตัวเราเองและลูกหลานของเราที่จะรู้รักแผ่นดินนี้ อาศัยกินอยู่ต่อไป" ดร.สุเมธ กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี