เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ใครที่ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณาแนวทางการกระจายอำนาจให้โรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการเป็นนิติบุคคล ที่มี นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบอำนาจจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปชี้แจงปรึกษากับบรรดาผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ถึงเรื่องที่จะให้มีการกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ด้วยการจัดตั้งการบริหารให้เป็นรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งผู้บริหารกระทรวงศึกษาคนปัจจุบันคงมองเห็นว่า จะทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นในเรื่องของคุณภาพการศึกษาแก่เยาวชนของชาติ
เรา (แนวหน้า) ในฐานะสื่อสารมวลชน ที่มีหน้าที่ดูแลข่าวสารทางด้านการศึกษา มองเห็นว่า แนวคิด ดังกล่าว เป็นได้ทั้งเรื่อง “สมควร” และ “ยังไม่สมควร” ด้วยเหตุผล สำคัญประการเดียวคือ “ความพร้อม”
ขอย้อนถึงเรื่องในอดีตของ “ความพร้อม” ที่คนไทยยังไม่พร้อม แต่ดันทุรัง จะทำออกมาให้ได้ จนทำให้กลายเป็น ปัญหาที่ยังพัฒนาไปไหนไม่ได้อย่างสมบูรณ์ คือเรื่องของ การปกครองแบบประชาธิปไตย ในสมัยนั้นมิใช่ว่า พระมหากษัตริย์ไทยจะทรงไม่ยินยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่พระองค์ทรงเห็นว่า วุฒิภาวะของคนไทย ในยุคนั้น คนส่วนใหญ่ยังไม่บรรลุถึงขั้นที่จะออกกมาปกครองกันเอง แต่เพียงคนกลุ่มเดียวที่ ต้องการจะทำตามความคิดของตนเอง สุดท้ายก็ทำจนสำเร็จ ทั้งๆ ที่ความพร้อมในทุกด้านยังไม่สมบูรณ์ สุดท้าย เมื่อได้อำนาจมาอยู่ในมือ ทุกอย่างก็มิได้เป็นไปดังที่คาดหวังเอาไว้ เพราะคุณภาพของคน ทุกอย่างจึงกลายเป็น ความไม่สมบูรณ์ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้กลายเป็น “ประชาธิปไตย” พิการที่แก้ไม่หายสักที
เช่นเดียวกันกับแนวทางที่จะทำให้ โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็น นิติบุคคลสิ่งเดียวที่ต้องมองคือ “ความพร้อม” คำว่า โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตอนนี้ ก็คงเหลือแต่ระดับอาชีวศึกษา และระดับพื้นฐาน ในส่วนของระดับอุดมศึกษาถูกแยกออกไปแล้ว คงไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และหากจะดูถึงในระดับอุดมศึกษา ที่มีบางมหาวิทยาลัยแยกตัวออกไปเป็นนิติบุคคลก็ไม่ได้ว่าจะประสบความสำเร็จ แทนที่จะเป็นไปอย่างที่คิด ราบรื่นไปอย่างที่หวัง ผลกลับกลายเป็นว่า มีเรื่องมากมายแทรกเข้ามาแม้กระทั่งส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คือ จำนวนนักศึกษาน้อยลงจนกิจการของหลายมหาวิทยาลัยถูกมองว่าจะต้องปิดตัวลงในไม่ช้า เหตุผลหนึ่งที่น่าจะอยู่ในกลุ่มปัญหาด้วยคือ ค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยสูงขึ้น จนสร้างความลำบากใจให้กับบรรดาผู้ปกครอง จนเมื่อกระแสการเรียนรู้ ในทัศนคติของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องการใบปริญญาแต่ต้องการความสามารถกลายเป็นตัวเลือกลำดับแรก การจะต้องหาเงินเพื่อเข้าเรียนต่อเพื่อเอาใบปริญญาจึงหมดความหมายไป ปัญหาต่างๆ จึงเกิดขึ้นในการศึกษาระดับอุดมศึกษา
คราวนี้ กระทรวงศึกษาฯจะทำให้โรงเรียนในระดับที่ เรียกว่า เป็นภาคบังคับของคนในประเทศต้องกลายเป็นนิติบุคคล อะไรจะเกิดขึ้นคงไม่มีใครที่มองไม่เห็นภาพ แต่ทำไม ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันจึงมองไม่เห็น กิเลสอะไรมาบังตาอยู่หรือ???
จากแนวคิดที่มีการพูดคุยกันในการประชุมเชิงวิชาการดังกล่าว ได้ การเสนอแนะแนวทางของการจะเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นนิติบุคคล ภารกิจหลักที่เขาเอามากำหนดให้รับทราบมีด้วยกัน4 ประเด็นคือ 1.วิชาการ ที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นหลักในการคิดว่าจะให้โรงเรียนของตนเองไปในทิศทางใด ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ 2.งบประมาณ ที่ผ่านมาโรงเรียนจะต้องของบประมาณตามกรอบการอนุมัติ แต่ในอนาคตอาจจะมีการปรับให้โรงเรียนสามารถเสนอของบประมาณเป็นก้อน และจะต้องมีการวางแผนในการบริหารจัดการตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน 3.การบริหารงานบุคคล ที่โรงเรียนจะต้องเป็นผู้ดูแล คัดเลือก บริหารจัดการด้วยตัวเอง และ 4.การบริหารงานทั่วไป
หัวใจสำคัญของโรงเรียนที่มีความเป็นนิติบุคคลนั้น จะต้องให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจผู้บริหารจะต้องคิดวิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายขององค์กรว่าจะทำอย่างไร และมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ ที่สำคัญก็คือ เมื่อมีการกระจายอำนาจแล้ว ก็จะต้องมีการกระจายความรับผิดชอบตามไปด้วย เพราะหากมีอะไรที่ผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ ...ตรงนี้แหละที่บอกว่า “คนยังไม่พร้อม”
เรา(แนวหน้า) ที่กล่าวมาอย่างนี้มิใช่ดูแคลน หรือสบประมาทบุคลากรครูหรือบุคลากรในแวดวงการศึกษาทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า บุคลากรทางด้านการศึกษา ก้าวหน้ากว่าสมัยก่อนมาก คนส่วนใหญ่อยู่ในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก เพียงแต่พวกเขา ไม่มีโอกาสที่จะเอาความสามารถที่เขามีอยู่มาใช้กับงานอาชีพที่ได้ร่ำเรียนมาเนื่องเพราะ “ถูกกด” เอาไว้ไม่ได้แสดงออก
ใครที่มีแนวคิดในการพัฒนาที่ขัดกับแนวคิดของผู้บริหาร หรือมิใช่คนในกลุ่มเดียวของผู้บริหารจะกลายเป็น“ชนชั้นสอง” ในสังคมโรงเรียน ที่นำเสนออะไรก็ไม่มีใครรับฟัง สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็หมดความอดทนที่จะทำเพื่อชาติและสังคมตามวิชาการที่ร่ำเรียนมา จึงดำรงชีวิต แบบ “เช้าชามเย็นชาม” ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของคำว่า “ข้าราชการ” ที่มีมานานนับเป็นศตวรรษแล้ว
วิธีที่จะทำให้เกิดการนำเอา ทรัพยากรบุคคลของคนเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์คือ กระทรวงศึกษาฯต้องคืนเกียรติยศ และศักดิ์ศรีของ อาชีพครูให้กับพวกเขา โดยไม่เข้าไปก้าวก่าย หรือขีดวงให้เขาต้องอยู่ในกรอบเก่าๆ ของคนรุ่นเก่าที่ “หวงอำนาจ” เอาไว้เพื่อกลุ่มของคนเพียงกลุ่มเดียว
ฉะนั้น สรุปได้อย่าง เด่นชัดว่า หากจะตีกรอบด้วยการกำหนดให้เกิดการศึกษาแบบนิติบุคคลดังที่กระทรวงศึกษา(รุ่นนี้)อยากจะกระทำ จึงมีข้อ
บกพร่องที่เรียกว่า “ความไม่พร้อม”ควรนำไปพิจารณา ดังต่อไปนี้
ข้อที่ 1 วิชาการ ที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นหลักในการคิดว่าจะให้โรงเรียนของตนเองไปในทิศทางใดตามบริบทของแต่ละพื้นที่ แน่นอน ข้อนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ก็คง มองกันไปที่ว่าโรงเรียนของตน อยู่ในพื้นที่คนทำเกษตรกร เพราะฉะนั้นต้องเน้นสอนเรื่องเกษตรกรรม โรงเรียนนี้อยู่ในพื้นที่ประมงต้องสอนเรื่องการจับปลาเป็นหลัก...แน่ใจแล้วหรือว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องไม่ใช่การ ตีกรอบความคิดของคนรุ่นเก่าที่มองแคบๆเพราะยังเห็นโลกไม่กว้างหรือเปล่า??
ข้อ 2 งบประมาณ ที่ผ่านมาโรงเรียนจะต้องของบประมาณตามกรอบการอนุมัติ แต่ในอนาคตอาจจะมีการปรับให้โรงเรียนสามารถเสนอของบประมาณเป็นก้อน และจะต้องมีการวางแผนในการบริหารจัดการตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน เรื่องนี้ ไม่ต้องคิดมาก แค่ดูปัญหาที่เกิดอยู่ในปัจจุบัน ที่ไม่เคยแก้ไขได้สักครั้ง ไม่ว่าจะมีรัฐบาลผ่านมากี่ครั้ง นั่นคือ หนี้สินของครู ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในสังคมครู สิ่งที่ขาดไปจากจิตวิญญาณของบรรดาครูส่วนใหญ่ (ที่มีหนี้สินพอกพูน) คือ เป็นพวก ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งไม่ใช่หมายความว่า จะมีแต่ครูน้อยเท่านั้นในระดับผู้บริหารก็มีไม่น้อยเช่นกัน แล้วหากวันใด เขาเกิดต้องบริหารเงินก้อนโตเพียงก้อนเดียว หากขาดแคลนขึ้นอะไรจะเกิดขึ้น ยุบโรงเรียน ขึ้นค่าเทอม ปลดครูลดเงินค่าสอน ฯลฯ อย่างนั้นหรือ???
ข้อ 3 การบริหารงานบุคคล ที่โรงเรียนจะต้องเป็นผู้ดูแล คัดเลือก บริหารจัดการด้วยตัวเอง ข้อนี้ถามถึงความพร้อมเพียงอย่างเดียวว่า กิเลสในเรื่องของ “พวกพ้อง” ระบบอุปถัมภ์” แน่ใจว่า ทุกอย่างพร้อม หรือ มีอยู่ในตัวบุคคลส่วนใหญ่แล้วหรือ??
ข้อ 4 การบริหารงานทั่วไปข้อนี้เชื่อมโยงกับข้อที่สาม ระบบธรรมาภิบาลอยู่ในสายเลือดของทุกคนแน่แล้วหรือ การละลดกิเลส โลภ โกรธ หลง หลุดพ้นไปจากจิตวิญญาณจนเกือบหมดแล้วหรือ??
สรุปรวมความ หากความปรารถนาดี ที่ผู้บริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการต้องการการพัฒนาด้านการศึกษาให้ก้าวหน้าไปพร้อมกับความ
เปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในทุกวันนี้สิ่งเดียวที่ ต้องกระทำคือ สร้างคุณธรรมและสร้างธรรมาภิบาล ทำตัวอย่างให้พวกเขาได้รู้ถึงคุณค่าแห่งธรรมาภิบาล และคุณธรรมต่างๆ ไม่ทำตัวให้พวกเขาได้เห็นว่า เมื่อมีอำนาจต้องแสวงหาผลประโยชน์ หรือ มองว่า ความเห็นชอบในการอนุมัติอยู่ที่ เงินค่าคอมมิชชั่นของใครจะสูงกว่ากัน ทำจนกระทั่งให้พวกเขาได้เห็นว่า “ผู้นำของเขา” คือคนที่เขาจะฝากชีวิตไว้ได้ วันนั้นแหละ คุณจะหยิบยื่นอะไรให้เขาทำ ผลสำเร็จย่อมเกิดขึ้นอย่างที่ตั้งใจ
วันนี้พวกคุณ (คณะรัฐบาล)สร้างภาพของคุณธรรม และธรรมาภิบาลให้กับคนในประเทศได้เห็นชัดเจนหรือยัง??ต้องตอบตัวเองให้ได้เสียก่อนแล้วค่อยไปสร้างการพัฒนา...คืนเกียรติยศ และศักดิ์ศรีของความเป็นคนดี ให้ทุกคนเขาก่อนเถิด วันนี้จึงจะพูดได้ว่า “เรา(คนไทยทั้งประเทศ)พร้อมแล้วที่จะพัฒนาสังคมและประเทศชาติ”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี