สังคมไทยคุ้นเคยกับปูดำนิ่มมาช้านาน หลายเมนูขึ้นชื่อของปูดำนิ่มทำให้ผู้ที่ได้ลิ้มรสต่างประทับใจในรสชาติ แต่เนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับปูดำนิ่มก็เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่งนัก ทั้งการเพาะเลี้ยง การดูแล ล้วนเป็นกระบวนการที่มีระบบ มีการวางแผนการจัดการอย่างเคร่งครัด และอาศัยการวิจัยอย่างจริงจัง
ในการเพาะเลี้ยงปูดำนิ่มของไทยที่มีมากว่า 40 ปีเกษตรกรส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังใช้ระบบการเพาะเลี้ยงแบบเดิม ซึ่งเพาะเลี้ยงในกระชัง ตามแหล่งน้ำธรรมชาติในบ่อดิน หรือบ่อกุ้งร้าง อาจมีโอกาสปนเปื้อนสารพิษที่ยังมีตกค้างอยู่ในบ่อกุ้งร้างได้ ด้วยเหตุนี้ ดร.บรรจง เทียนส่งรัศมี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซีแครบ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจการผลิตปูนิ่มส่งออก (อดีตผู้ประสานงานชุดโครงการปู สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) จึงได้คิดวิจัยโครงการ “ระบบเพาะเลี้ยงปูดำนิ่มระบบปิดแบบคอนโดมีเนียม” ขึ้นที่ฟาร์ม จ.สตูล เพื่อพัฒนาวัตถุดิบให้มีคุณภาพที่จะส่งต่อไปยังผู้บริโภค
ดร.บรรจง ได้เล่าให้ฟังว่า ปูนิ่มคือปูที่ลอกคราบเอากระดองเก่าออกทำให้เหลือแต่กระดองนิ่มๆ ที่หุ้มตัวอยู่ หลังจากปูลอกคราบแล้วจะนำปูเข้าเครื่องทำความเย็นที่ 4 องศาเซลเซียส เพื่อให้ปูสลบก่อนที่จะบรรจุเพื่อจำหน่าย ปูดำนิ่มจะใช้เวลา 6 ชั่วโมง ก่อนที่ปูจะแข็งตัวเหมือนเดิม ซึ่งก่อนการลอกคราบ 2-3 วัน ปูจะไม่กินอาหาร อาหารที่มีอยู่ในกระเพาะระหว่างนั้นจะถูกย่อยไปใช้ในกระบวนการลอกคราบ ดังนั้นหลังจากการลอกคราบกระเพาะจะว่าง ลำไส้จะสะอาดไม่มีกากอาหารหรือสิ่งปฏิกูลหลงเหลืออยู่ กระดองและรยางค์ต่างๆ อาทิ ขาว่ายน้ำ และก้ามจะนิ่มสามารถบริโภคได้ทั้งตัว ปูนิ่มจึงเป็นที่นิยมของตลาด เพราะรับประทานสะดวก และเหมาะสำหรับผู้สูงอายุและสตรีที่ต้องการแคลเซียม
ทั้งนี้ตนเริ่มต้นจากการผลิตปูม้านิ่มในแนวราบที่ใช้ระบบอินทรีย์แบบปิด ทำให้ทราบถึงปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูง และค่อนข้างใช้พลังงานมาก จึงเกิดแนวคิดวิจัย การเพาะเลี้ยงแบบคอนโดมิเนียมขึ้น ซึ่งใช้ปูดำนิ่มเป็นต้นแบบการผลิตได้ผลิตแล้ว 2 รุ่น เริ่มต้นการผลิตในเดือนพ.ย. 2555 โดยจะนำปูใส่กล่องสี่เหลี่ยมพลาสติกสีดำเจาะรู ใน 1 กล่องจะมีปู 1 ตัว และวางกล่องซ้อนกันเป็น 3 ชั้น ใช้ปั๊มสูบน้ำขึ้นชั้นบนไหลลงสู่ชั้นล่าง ใช้ระบบผลิตฟองอากาศขนาดเล็ก (Micro bubble) ในการกำจัดของเสียและควบคุมคุณภาพของน้ำที่หมุนเวียนในระบบ มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 60% ลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์และสารพิษ ซึ่งผลของการวิจัยทำให้ลดอัตราการตายของปู ช่วยลดต้นทุนในการผลิต ใช้พื้นที่น้อย และเป็นระบบผลิตปูดำนิ่มคุณภาพสูง ผ่านมาตรฐาน GAP (Good aquaculture product) สะดวกต่อการบริหารจัดการ สามารถส่งออกต่างประเทศทั้งในแทบยุโรป และญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดในประเทศก็ยังมีความต้องการสูง สามารถสร้างรายได้อย่างไม่น่ากังวล
ในการวิจัยโครงการครั้งนี้ ดร.บรรจง ได้ขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ในโครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สนช. เป็นเงินจำนวน 405,000 บาท ทั้งนี้ ดร.บรรจง ยังมีโครงการปล่อยปูคืนสู่ทะเลเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ และมีแนวคิดส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสู่รากหญ้าเพื่อการผลิตปูนิ่มในระดับวิชาการอย่างมีคุณภาพต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี